คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาขัดกัน, เช็คต่างฉบับ, การล้มละลายไม่กระทบความผิดอาญา, การไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้
ปัญหาว่าคำพิพากษาขัดกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.475/2552 ของศาลชั้นต้น เอกสารท้ายอุทธรณ์และฎีกา เช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเช็คของธนาคาร ก. สาขาพหลโยธิน 20 ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 และลงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 แต่เช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายในคดีนี้เป็นเช็คของธนาคาร ก. สาขาพหลโยธิน 20 ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 และวันที่ 20 มีนาคม 2550 เช็คพิพาททั้งสองคดีจึงเป็นเช็คต่างฉบับกัน แม้มูลหนี้ในการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองคดีจะเป็นมูลหนี้อย่างเดียวกันและศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยต่างกันก็ตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีนี้กับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.475/2552 ก็มิใช่คำพิพากษาที่ขัดกัน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า "คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่ (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้" เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายที่ถูกปลดจากการล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไป โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 ถูกปลดจากการล้มละลายไม่ทำให้หนี้สินที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์สิ้นผลผูกพันไปแต่อย่างใด คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 อันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4