พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อ และสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดราคา
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทโต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ได้ และที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ก็ยังบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยมีเจตนาจะเลิกสัญญา และโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 พฤติการณ์แห่งคดีหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4836/2567 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อ และสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากผู้เช่าซื้อที่ผิดนัดชำระ
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก ต่อมาจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อพิพาทโต้แย้งในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อกัน พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ได้ และที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ถึงเจตนาที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ต้องการที่จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ และสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ยังบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 ที่บัญญัติว่า ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติกำหนดสิทธิและวิธีบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อไว้เป็นการเฉพาะนอกจากการเลิกสัญญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 4 ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์โดยมีเจตนาจะเลิกสัญญา และโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุที่จำเลยที่ 1 ซึ่งผิดนัดเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 พฤติการณ์แห่งคดีหาใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2528/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายเวลาชำระหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ COVID-19 และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 700
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งไปยังสถาบันการเงินตามสำเนาหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งการที่บังคับให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติ หากแต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเท่านั้น และตามสำเนาหนังสือธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 ข้อ 2 (3) ระบุชัดเจนว่าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามมาตรการนี้ สถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญา แต่หากมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาออกไปก็ขอให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวกับหลักประกันและผู้ค้ำประกัน การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งผลการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปยังจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ตามที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนกันยายน 2563 รวม 6 งวด แล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2563 ถึงงวดเดือนมิถุนายน 2568 แทนนั้น แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจำนวนงวดที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1 ยังต้องชำระค่าเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน 72 งวด แต่ก็เป็นผลให้ในระหว่างนี้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อโดยถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ และการจะพักชำระหนี้ตามมาตรการดังกล่าวหรือไม่ยังต้องคำนึงถึงเจตนาของคู่สัญญาเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนท้ายของหนังสือที่โจทก์มีไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 แสดงความไม่ประสงค์ให้โจทก์ทราบภายในกำหนดด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อแต่ละงวดเป็นเพียงชะลอการผิดนัดของลูกหนี้ในระหว่างสัญญาเท่านั้น เมื่อค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายที่เดิมถึงกำหนดชำระเดือนธันวาคม 2567 ถูกขยายระยะเวลาไปอีก 6 เดือน เป็นเดือนมิถุนายน 2568 การพักชำระหนี้ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีลักษณะเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ อันเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระผูกพันตามสัญญายาวนานขึ้นจากที่ระบุในสัญญา หากโจทก์จะให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ ด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้เสร็จสิ้นอันเป็นการผ่อนเวลาออกไปในส่วนของจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันนั้นก็ต้องอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคหนึ่ง คือ ต้องให้จำเลยที่ 2 ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น การที่โจทก์เพียงมีหนังสือแจ้งผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงยินยอมในการขยายระยะเวลาชำระหนี้ด้วย จึงมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไปตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเจ้าหนี้กองมรดกในการยึดทรัพย์มรดก แม้มีการโอนทรัพย์ให้ทายาทแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น" การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์และต่อมาจำเลยถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องและต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลย ดังนี้ แม้ที่ดินพิพาทจะโอนใส่ชื่อ พ. ทายาทจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่ พ. เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตราบใดที่โจทก์เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ให้ถือว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 การที่ พ. รับโอนที่ดินพิพาทมาไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทพ้นจากสภาพการเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยที่จะต้องรับผิดชำระหนี้สินของจำเลยให้แก่เจ้าหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยมาบังคับคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อจำกัดการฟ้องขับไล่: จำเป็นต้องอ้างเหตุผิดสัญญาการชำระเงินควบคู่กับการไม่รับโอนกรรมสิทธิ์
ฟ้องโจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาที่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่า การที่จำเลยไม่มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์เป็นการผิดสัญญา มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์นั้น เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกฟ้อง เมื่อฟ้องอ้างเหตุแต่เพียงว่าจำเลยไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ใช้สิทธิรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขายจากโจทก์ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะการไม่ชำระหนี้ ข้ออ้างตามฟ้องจึงไม่มีมูลว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษและค่าสินไหมทดแทนในคดีทำร้ายร่างกายถึงแก่ความตาย ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การยื่นฎีกาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคสอง และมาตรา 223 บัญญัติให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลชั้นต้น จึงมีอำนาจตรวจฎีกา และเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด ก็มีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปในคำฟ้องฎีกาเสียทีเดียวได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ชอบตามกฎหมาย เป็นโมฆะ และผู้โอน/ผู้รับโอนไม่มีสิทธิในที่ดิน
ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการเข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินชั่วคราว ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ ฉบับที่ 410/2528 ตำบลทุ่งสมอ กิ่งอำเภอเข้าค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่ดินของรัฐ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยความเห็นชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ที่ดิน ได้ออกหนังสือสำคัญให้ไว้เพื่อแสดงว่า บ. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทชั่วคราว และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ด้านหลังหนังสือรับรองทุกประการ ซึ่งรวมทั้งเงื่อนไขห้ามมิให้แบ่งแยกและโอนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่ตกทอดทางมรดก และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 กำหนดหลักการไว้ว่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การพิจารณาจะอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าไปทำประโยชน์หรืออาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ บุคคลที่จะเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น เมื่อ บ. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทชั่วคราว จึงไม่สามารถโอนสิทธิดังกล่าวให้บุคคลอื่นได้ การที่ บ. ขายและโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่ ว. และต่อมา ว. ทำสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิดังกล่าว ให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 1 ดังที่โจทก์และจำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จึงเป็นการทำนิติกรรมเปลี่ยนตัวผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทชั่วคราวตามที่ บ. ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์หรือจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดิน และกิจการรีสอร์ตพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองให้ส่งมอบการครอบครองที่ดินและกิจการรีสอร์ตพิพาทคืนแก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินและกิจการรีสอร์ตพิพาท ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252 จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทชั่วคราวตามโครงการพัฒนากลุ่มน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ ฉบับที่ 410/2528 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงไม่มีสิทธิ์อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทเช่นกัน และเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ทราบ