คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 176 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟังว่าจำเลยมีส่วนร่วมปล้นทรัพย์และซ่อนเร้นศพ แม้จะรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพ ตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีอำนาจฟังพยานโจทก์ จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริง หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพผู้ตายไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน และพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอพิสูจน์การกระทำผิดร่วมกันปล้นทรัพย์และซ่อนเร้นศพ ศาลยกฟ้อง
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและการพิพากษาในคดีอาญา: ศาลไม่ต้องสืบพยานเพิ่มเติมหากจำเลยให้การรับสารภาพ
ข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมิใช่เป็นข้อหาความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจะโต้เถียงเป็นอย่างอื่นให้ขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องหาได้ไม่ ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9888/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาอาญา: การรับคำสารภาพ, การนับโทษต่อ, และการไม่รับฎีกาในข้อเท็จจริง
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ต่อมาวันที่ 16 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่าขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยข้อ 2.4 ชอบแล้ว และเมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว ประกอบกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
จำเลยฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาพิเศษใช้ยานพาหนะ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขนย้ายทรัพย์หรือบรรทุกทรัพย์ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยให้นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะบรรทุกทรัพย์ที่ลัก เพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์ไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยใช้ยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิด อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
แม้คำให้การจำเลย มีข้อความว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทั้งสิ้น โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์หรือข้อหารับของโจรก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยดังกล่าวแล้ว โดยศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ด้านบนซ้ายของคำให้การจำเลยดังกล่าวว่า สอบสวนจำเลยแล้วยืนยันให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ว่าศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ แต่ให้การปฏิเสธข้อหารับของโจร โดยจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อข้อหาลักทรัพย์มิใช่เป็นข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบให้ศาลฟังจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
จำเลยรับมาในฎีกาแล้วว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ในวันเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์ย่อมไม่อาจแถลงต่อศาลชั้นต้นได้ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยอย่างไร ถือได้ว่าความปรากฏต่อศาลและคู่ความชัดแจ้งแล้วว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วโดยไม่จำต้องให้โจทก์แถลงต่อศาลซ้ำอีก จึงนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 306/2557 ซึ่งเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1104/2557 ของศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขัดกับการรับสารภาพ และคำขอส่วนแพ่งที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 336 ทวิ และมีคำขอให้จำเลยคืนโครงหลังคาเหล็กของโรงงานและอุปกรณ์ส่วนควบของอาคารโรงงานหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและราคาทรัพย์ใช้แทนย่อมรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้รับว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตและโรงเรือนมีสภาพเก่ามีราคาเพียง 50,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอส่วนแพ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ – จำเป็นต้องลงโทษตามมาตราที่หนักกว่า
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยบรรยายฟ้องว่า ในการร่วมกันลักทรัพย์มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จึงไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพและข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 335 โดยมิได้ปรับบทลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419-4420/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการรับอุทธรณ์คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการวินิจฉัยประเด็นความรับผิดทางแพ่งร่วมกับคดีอาญา
แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2062/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงไม่จำกัดว่าผู้ถูกหลอกต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ ผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกก็ผิด
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่ถูกหลอกลวงจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ แม้ทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้หลอกลวง ถ้าหากผู้หลอกลวงโดยทุจริตหลอกลวงผู้ถูกหลอกลวงและโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาทุจริตใช้อุบายหลอกลวงให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 30277 และ 30301 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่จำเลยอ้างว่าจะนำโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงไปดำเนินการยื่นคำร้องขอแบ่งแยกและโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยกลับนำที่ดินทั้งสองแปลงไปโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ ค. ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติทางการสมรสกับจำเลย ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำงานของคนต่างด้าวเกินขอบเขตใบอนุญาต แม้เป็นงานต่อเนื่องการบริหารก็ผิด พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการ ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม อันเป็นการทำงานที่นอกเหนือไปจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องแล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม ศาลย่อมไม่อาจแปลความตามคำฟ้องให้แตกต่างออกไปได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสถานบริการที่ประกอบกิจการจำหน่ายสุรา จึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานทั้งหมดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เมื่อบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้า การที่จำเลยผสมเหล้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทดื่มถือเป็นลักษณะงานต่อเนื่องจากการบริหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทซึ่งจำเลยเป็นลูกจ้างโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยจะมาทำงานในตำแหน่งเป็นพนักงานผสมเหล้าอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นเพิ่มขึ้นจากตำแหน่งเดิม การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 วรรคแรกแล้ว เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ศาลเป็นผู้สอบถามจำเลยซึ่งจำเลยพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจดี แสดงว่าศาลได้สอบคำให้การจำเลยต่อหน้าศาลและจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ จึงให้การรับสารภาพ เช่นนี้ จึงมีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลยแล้ว หาใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทยไม่ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตได้ โดยศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า กระสุนปืน ขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงร่วมกับอาวุธปืนที่มีกลไกบรรจุกระสุนปืนเองและสามารถยิงซ้ำได้ และยิงเป็นชุดหรือยิงกล และมีขนาดความยาวของลำกล้องเกิน 160 มม. ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองแล้ว โดยไม่จำต้องบรรยายให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดฐานดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ได้
of 7