พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9449/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับรถยนต์ให้เช่า: ค่าเสื่อมราคา vs. มูลค่าต้นทุนที่เหลือ
โจทก์ซื้อรถยนต์มาประกอบธุรกิจให้เช่า มูลค่าต้นทุนจากการซื้อรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540 เมื่อรถยนต์เป็นสินทรัพย์ โจทก์คงมีสิทธิเพียงหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4 (5) ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่อาจนำมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคามาถือเป็นรายจ่ายควบคู่ไปกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ อย่างไรก็ตาม มูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าว โจทก์ย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ โดยถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้จากการขายรถยนต์นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9449/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหักค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับธุรกิจให้เช่ารถยนต์: มูลค่าต้นทุนรถยนต์หลังหักค่าเสื่อมราคา
มาตรา 65 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ... (20) รายจ่ายที่มีลักษณะทำนองเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (19) ตามที่จะได้กำหนดโดย พ.ร.ฎ. ซึ่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ.2540 มาตรา 4 บัญญัติว่า รายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (1) มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท และมาตรา 5 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 4 (1) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากซื้อหรือการเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่... (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร
โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์และซื้อรถยนต์มาเพื่อการให้เช่า มูลค่าต้นทุนจากการซื้อรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้ เมื่อรถยนต์เป็นสินทรัพย์ โจทก์คงมีสิทธิเพียงหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4 (5) ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่อาจนำมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคามาถือเป็นรายจ่ายควบคู่ไปกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ การที่โจทก์นำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนและมีไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะส่วนที่เกินกว่าหนึ่งล้านบาท มาทยอยหักเป็นรายจ่ายควบคู่ไปกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เมื่อโจทก์ขายรถยนต์โดยถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้จากการขายรถยนต์นั้น
โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์และซื้อรถยนต์มาเพื่อการให้เช่า มูลค่าต้นทุนจากการซื้อรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้ เมื่อรถยนต์เป็นสินทรัพย์ โจทก์คงมีสิทธิเพียงหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่ง ป.รัษฎากร ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 มาตรา 4 (5) ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่อาจนำมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคามาถือเป็นรายจ่ายควบคู่ไปกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ การที่โจทก์นำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนและมีไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะส่วนที่เกินกว่าหนึ่งล้านบาท มาทยอยหักเป็นรายจ่ายควบคู่ไปกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับมูลค่าต้นทุนของรถยนต์ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เมื่อโจทก์ขายรถยนต์โดยถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้จากการขายรถยนต์นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินเพื่อปล่อยเช่าเป็นค่าใช้จ่ายลงทุน หักไม่ได้ตามมาตรา 65 ตรี (5) ประมวลรัษฎากร
ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาด้วยเงินกู้เป็นทรัพย์สินที่เป็นทุนรอนของโจทก์ เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินย่อมเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรเพราะเป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง ดอกเบี้ยของเงินกู้ที่โจทก์กู้มาซื้อที่ดิน แม้จะไม่เป็นรายจ่ายที่ทำให้โจทก์ได้ที่ดินมาโดยตรง แต่ก็เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินถือว่าเป็นรายจ่ายต่อเนื่องที่เป็นผลให้โจทก์ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดิน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าซื้อที่ดินซึ่งเป็นต้นทุน หาใช่ค่าใช้จ่ายธรรมดาในการดำเนินธุรกิจการค้าหากำไรของโจทก์ไม่ ดอกเบี้ยอันเกิดจากการที่โจทก์กู้ยืมเงินมาซื้อที่ดินนำไปให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับเงินค่าซื้อที่ดิน แม้ที่ดินกับอาคารจะเป็นอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน แต่สภาพและหลักเกณฑ์ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินสองประเภทนี้หาเหมือนกันไม่ กล่าวคือ สภาพของอาคารย่อมสึกหรอและเสื่อมราคาไปตามกาลเวลาและพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)พ.ศ. 2527 มาตรา 4(1) ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของอาคารหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของอาคารได้เป็นปี ๆ ไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ส่วนสภาพของที่ดินนั้นไม่อาจสึกหรอหรือเสื่อมราคาได้และพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมาตรา 4(5) ไม่ยอมให้นำมูลค่าต้นทุนของที่ดินมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา จึงนำดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้อที่ดินมาเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของเงินกู้เพื่อซื้ออาคารไม่ได้