พบผลลัพธ์ทั้งหมด 221 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ นำเงินที่ชำระแล้วหักจากต้นเงินได้
แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองรวมแปดโฉนด ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปี และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดสัญญากู้โดยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนอง ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนองแก่ผู้ให้กู้ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อันเป็นการระบุว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและพยานวัตถุฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจำนองตกลงกันว่าจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 204,300 บาท แต่พยานขอลดหย่อนเหลือเดือนละ 200,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยแบ่งชำระเงิน 2 ยอด ยอดแรกชำระ 150,000 บาท อีกยอดชำระ 50,000 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้เฉพาะยอดเงิน 150,000 บาท เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้นเงิน 13,620,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 170,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่าที่รวบรวมใบเสร็จรับเงินได้ 12 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย การรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางการกู้ยืม, สัญญาขายฝาก, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, บุคคลภายนอก, การชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืนเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสัญญาขายฝากเป็นเอกสารสัญญามหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์โอนเงินดอกเบี้ย 2 ครั้ง ให้ ฉ. และ ฉ. โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งโอนหลังจากหักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยรายเดือน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่อาจเปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมินตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอและให้นำไปหักเงินกับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1462/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญากู้ยืมเงินที่มีลักษณะคล้ายการซื้อขายที่ดิน ศาลฎีกาตัดสินให้คิดดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
การที่โจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำไปชำระหนี้และจัดสรรที่ดินพิพาท และจำเลยตกลงจะชำระเงินคืนให้แก่โจทก์พร้อมผลตอบแทน โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยจะขายที่ดินพิพาทหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาท จำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มอบเงินให้แก่จำเลยในลักษณะเป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยโดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรจากการจัดสรรที่ดินพิพาท กรณีนี้จึงไม่ใช่เป็นสัญญาห้างหุ้นส่วนแต่เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีการกำหนดวิธีใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ และแม้สัญญาจะใช้ชื่อว่าสัญญาข้อตกลงเรื่องที่ดินและสัญญาต่างตอบแทน แต่เมื่อเจตนาของคู่สัญญาเป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมเงิน และผลตอบแทนที่จำเลยตกลงให้แก่โจทก์นั้นถือว่าเป็นดอกเบี้ย เมื่อสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หุ้นกู้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาแก้เป็นดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกต้นฉบับใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองเอกสาร ทั้งในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ได้รับเพียงสำเนาใบหุ้นกู้จากจำเลยที่ 1 พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ต้นฉบับใบหุ้นกู้อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยที่ 1 ก่อนวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคสาม (2) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานชอบแล้ว
การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสาร
เมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
การออกหุ้นกู้ต้องอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1229 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 65 กล่าวคือ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดและต้องได้รับโทษตาม มาตรา 268 การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเหตุให้การออกหุ้นกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับในฐานะหุ้นกู้ตามกฎหมายได้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ และมีกำหนดเวลาการชำระคืน ถือได้ว่า สำเนาใบหุ้นกู้มีข้อความครบถ้วนเพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่เป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังสำเนาใบหุ้นกู้เป็นพยานหลักฐานได้ ไม่เป็นการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสาร
เมื่อฟังได้ว่าสำเนาใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 2 ต่อเดือน เป็นการให้ดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 654 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไป ส่วนผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้ชำระแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง จึงเป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้นำเงินที่ชำระไปดังกล่าวมาหักกลบกับต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อปล่อยกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ผู้กู้ชำระหนี้
ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ข้อ 14 วรรคสองกำหนดว่า จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่ง คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว เมื่อจำเลยทราบนัดวันฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบแล้วหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นต้องยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ซ้ำอีก การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาภายในระยะเวลาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ทิ้งฟ้องฎีกา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้วจำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา
จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด
จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมาย: โมฆะทั้งข้อตกลง & ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิรับดอกเบี้ย หักเงินต้นได้
การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย, สัญญาเงินกู้, การชำระหนี้, ดอกเบี้ยผิดนัด, การคิดดอกเบี้ย
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้จำนองกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยทบต้นเกินอัตรากฎหมายกำหนด ยอดหนี้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ แต่สามารถแบ่งแยกต้นเงินได้
เมื่อจำเลยยอมรับว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเกิดจากการนำมูลหนี้ต่าง ๆ ที่มีก่อนหน้านั้น (หนี้กู้ยืมเงิน) มารวมเป็นยอดหนี้จำนอง ต้องถือว่าหนี้ประธานคือ หนี้กู้ยืมเงินซึ่งถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ ดังนั้น หนี้ในส่วนต้นเงินในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ซึ่งมีจำนวน 7,387,884 บาท จึงมิได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย เมื่อรวมกับต้นเงินที่จำเลยขอกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 610,000 บาท แล้วรวมเป็นต้นเงินจำนวน 7,997,884 บาท ที่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับแต่ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนองเป็นต้นไปเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 5,998,413 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 13,996,297 บาท
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16376/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยผิดสัญญา, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, การคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคาร, และการปรับปรุงคำพิพากษา
ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็ม แอล อาร์) ร้อยละ 11.5 ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ร้อยละ 13.25 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์พึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับภายในกำหนด กำหนดระยะเวลาที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือยังไม่อาจเริ่มนับ จึงให้ถือเอาวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นวันที่เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินกู้
ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)