คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ม. 153

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10741/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลงข้อความเท็จในงบการเงิน, การช่วยเหลือกระทำผิด, และการปรับรายวันกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์
จำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สจำนวน 42 ฉบับ กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 โดยไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันในทางการค้าอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 22 อ้างสัญญาเช่าถังแก๊สอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อตกแต่งบัญชีโดยสั่งให้บันทึกรายได้ค่าเช่าถังแก๊สลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 แล้วนำรายได้นั้นจัดทำและส่งเป็นงบการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 สูงขึ้น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่า สัญญาเช่าถังแก๊สดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้ว และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยที่ 21 โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง จัดทำหรือยินยอมให้จัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ว่าที่ประชุมอนุมัติให้นิติบุคคลทั้ง 2 ราย กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 22 ส่งบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง และการร่วมกันจัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 แม้ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ด้วย แต่การทำสัญญาเช่าถังแก๊สที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง จำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 312 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 21 จึงมีความผิดตาม มาตรา 315
ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัท โดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมายและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 การที่จำเลยที่ 22 ได้ควบบริษัทกับบริษัท ว. และเกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ด. ความรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 22 จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1983/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทนและผลกระทบการควบกิจการต่ออัตราเงินสมทบ
แม้กองทุนเงินทดแทนจะไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องระบุชื่อสำนักงานประกันสังคมซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาเป็นจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 แม้ในการควบกิจการดังกล่าวทั้ง 10 บริษัทเดิมจะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และโจทก์ซึ่งเกิดจากการควบกันย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 ก็ตาม แต่ 10 บริษัทดังกล่าวต่างมีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการสำหรับการประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่หลากหลายแตกต่างกัน มิได้มีลักษณะการประกอบกิจการและรหัสกิจการที่เหมือนกับโจทก์เสียทีเดียว ทั้งการควบกิจการนี้ยังทำให้ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์อันเกิดจากการควบกิจการระหว่าง 10 บริษัทดังกล่าวระคนปนกันไปจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีจึงไม่อาจนำอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ของ 10 บริษัทดังกล่าวก่อนการควบกิจการมาใช้เป็นส่วนลดอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 45 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2537 ข้อ 15 กับตารางที่ 2 แนบท้ายประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ได้
เมื่ออัตราเงินสมทบ หมวด 1600 ประเภทกิจการอื่นๆ รหัส 1601 สถาบันการเงิน สถาบันการประกันภัย สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย การบริหารเกี่ยวกับกฎหมาย บัญชี หรือบริการด้านธุรกิจ อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างนั้นใช้สำหรับการประเมินเงินสมทบในประเภทกิจการที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้โจทก์จะอ้างว่ากิจการของโจทก์มีลูกจ้างทำงานในสำนักงานด้วย แต่เมื่อโจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิต จำหน่ายอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารและถนอมอาหาร ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการประเภทดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจปรับเข้ารหัส 1601 ได้