คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ม. 45

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10742/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต จัดซื้อที่ดินเกินราคา และทำเอกสารเท็จทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า "ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่" ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์นำ ช. เข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของ ช. ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของ ช. จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีและเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจาก ท. ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83