คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 224

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,570 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยตั๋วแลกเงิน, ดอกเบี้ยผิดนัด, การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย, การชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ย
ธนาคารโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ความคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นการรับรองต่อผู้ขายสินค้าว่าผู้ขายสินค้าจะได้รับการชำระเงินอย่างแน่นอน ถ้าผู้ขายสินค้าได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1รับเอาไม้ไปขายก่อนก็เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ ไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตระงับ จำเลยที่ 2 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ดังกล่าว
หากก่อนผิดนัดลูกหนี้ตกลงให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ย่อมถือว่ามีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ตามอัตราที่ตกลงกันก่อนผิดนัดนั้น ข้อตกลงต่อท้ายคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ชัดเจนเพียงพอให้เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราใดอย่างแน่ชัด และแม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าได้เอง แต่ก็เป็นเพียงกรอบอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์จะต้องนำไปตกลงกับลูกค้าแต่ละรายต่อไป โดยต้องไม่เกินอัตราตามที่ประกาศไว้เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์นั้นมาใช้บังคับผูกพันจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ขายสินค้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว และโจทก์ได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวนตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับรองตั๋วไว้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด ย่อมมีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี ต่อไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยตามอัตราดังกล่าวเช่นเดียวกัน
โจทก์คิดดอกเบี้ยของต้นเงินแล้วนำต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวมาเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยต่อไป มีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการรุกล้ำที่ดินและดอกเบี้ย: การคำนวณค่าเสียหายและการจ่ายดอกเบี้ยที่ถูกต้อง
เมื่อกำหนดค่าเสียหายรายเดือนหลังจากวันฟ้อง อันเป็นค่าเสียหายในอนาคตให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามจำนวนที่ควรจะได้รับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายรายเดือนนับแต่วันฟ้องอีก เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดตามสัญญาเป็นโมฆะ ศาลใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่ง
จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งในกรณีที่ไม่ผิดนัดและผิดนัดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินไม่ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ และแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ที่ออกมาใช้บังคับในช่วงของการทำสัญญากู้ยืมเงินนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขมิใช่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไป การที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้ และความชอบด้วยกฎหมายของการบังคับคดี
แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่า ในกรณีจำเลยทั้งสี่ผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากจำนวนที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยทั้งสี่ผิดนัด แต่เมื่อถึงวันนัดพร้อมโจทก์แถลงต่อศาลว่า จะให้โอกาสจำเลยทั้งสี่อีกครั้งโดยให้ชำระเงินส่วนค้างทั้งหมดแก่โจทก์ส่วนที่เหลือให้ชำระตามวันเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมิได้แถลงขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระด้วย แสดงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยจากยอดเงินที่จำเลยทั้งสี่ผิดนัด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยแสดงเจตนาแก่จำเลยทั้งสี่ว่าติดใจจะเรียกร้องดอกเบี้ยส่วนนี้แต่อย่างใด จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ทั้งหมดครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่สมบูรณ์ จำเลยต้องคืนเงินที่รับไว้ให้โจทก์
โจทก์ทำสัญญาจองซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากบริษัทจำเลย โดยชำระเงิน274,600 บาท แต่เมื่อถึงวันทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์เห็นว่ามีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมลักษณะเอาเปรียบโจทก์หลายข้อ จึงแสดงเจตนาขอแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องและเป็นธรรมเสียก่อนว่าจำเลยจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จเมื่อใด จะแบ่งแยกโฉนดพร้อมโอนกรรมสิทธิ์รวมถึงการชำระเงินเมื่อใด ซึ่งล้วนแต่เป็นปกติประเพณีของการซื้อขายที่อยู่ในวิสัยของจำเลยต้องกระทำและกระทำได้ ข้อสัญญาดังกล่าวถือว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน เมื่อจำเลยยอมรับว่ายังไม่ได้แก้ไขสัญญาตามที่โจทก์ขอทุกข้อ โจทก์กับจำเลยจึงยังมิได้มีสัญญาต่อกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366วรรคหนึ่ง สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่เกิดขึ้นเงินที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ต้องคืนให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของทายาทต่อหนี้ของเจ้ามรดก และการคิดดอกเบี้ยจากวันที่ผิดนัดชำระหนี้
พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองโจทก์มีหนังสือแจ้งให้ ผ. ชำระค่าปรับตามสัญญารับรองการขออนุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวแก่โจทก์ภายในวันที่ 30 มีนาคม 2537 ผ. เพิกเฉยไม่ชำระถือว่า ผ. เป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันที่ 31มีนาคม 2537 เป็นต้นไป โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ ผ. ผิดนัดโดยเป็นผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิไว้ในหนังสือแจ้งให้ ผ. ชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรของ ผ. จึงเป็นผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ ผ. มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ ผ. ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินของ ผ. ทุกชนิด ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่ความรับผิดต่าง ๆ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกันกับ ผ. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกในฐานะทายาทโดยธรรม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ ผ. ต้องรับผิดใช้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ ผ. ผิดนัดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่โจทก์แจ้งจึงไม่ชอบ เพราะมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมหนี้ทั้งหมด, การหักทอนหนี้, และการอุทธรณ์นอกเหนือคำให้การ
แม้มีข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์มีสิทธินำเงินตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หักใช้หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ถึงกำหนดได้แต่บัญชีกระแสรายวันดังกล่าวไม่มีเงินในบัญชีที่จะหักมาชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมิได้หักหนี้ จึงไม่ถือว่าโจทก์กระทำผิดข้อตกลงอันจะมีผลให้จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่ผิดนัด โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทได้
ผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1/8 ต่อระยะเวลา 90 วัน นั้นคำนวณแล้วเท่ากับอัตราร้อยละ 0.125 ต่อระยะเวลา 90 วัน หรือร้อยละ 0.5 ต่อระยะเวลา 360 วัน จึงไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี และผลประโยชน์ที่โจทก์เรียกเก็บดังกล่าวก็ระบุว่าเป็นค่าธรรมเนียมมิใช่เรื่องดอกเบี้ย ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
สัญญาค้ำประกันระบุว่า เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ได้ตกลงยินยอมให้ลูกหนี้(จำเลยที่ 1) ทำนิติกรรมอันเป็นมูลหนี้กับโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นมูลหนี้ในนิติกรรมใด ๆ ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญานี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้า ผู้ค้ำประกัน (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6)ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันและเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค้ำประกันหนี้ทุกอย่างที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แก่โจทก์ จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีทร่วมกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท แต่เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทโดยไม่นำไปหักทอนเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ นอกจากนี้ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งหกก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่อ้างไว้ในคำให้การ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 38ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะพนักงานรัฐวิสาหกิจ & สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามระเบียบ คดีนี้ศาลแก้ดอกเบี้ยเป็น 7.5%
ขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้อง และเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงเป็นการอ้างบทกฎหมายคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ตาม โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างจากจำเลย ซึ่งเมื่อปรับบทกฎหมายแล้ว พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534
จำเลยจ้างโจทก์โดยทำสัญญาว่าจ้างมีกำหนด 1 ปี ให้เงินตอบแทนรวม 3,600,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นรายเดือน เมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจ้างทำนองเดียวกันปีต่อปี โดยให้โจทก์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดพัฒนาระบบการจัดแผนดำเนินงานของทุกฝ่ายงาน และเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายพัฒนาบริการและการตลาด โจทก์มีอำนาจสั่งจ่ายเงินสดและการอนุมัติค่าใช้จ่ายเฉพาะฝ่ายพัฒนาบริการและการตลาดเทียบเท่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทางปฏิบัติโจทก์มาทำงานที่ธนาคารจำเลยทุกวัน ทั้งในการทำงานจำเลยสั่งการถึงโจทก์และโจทก์สั่งการต่อไปยังพนักงานอื่นของจำเลยได้ด้วย โจทก์จึงมีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย แม้ตามสัญญาว่าจ้างกำหนดสถานะไว้ว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง โจทก์เป็นผู้รับจ้างโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ดังเช่นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะได้รับ โจทก์ไม่ต้องมีบัตรพนักงาน โจทก์ไม่เคยถูกประเมินผลงานหรือได้รับการปรับเงินเดือนรายปี ทั้งโจทก์ไม่มีรายชื่อในฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยด้วยนั้น เป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์แตกต่างจากพนักงานอื่น ยังไม่พอที่จะถือว่าโจทก์มิใช่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชย ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มจากจำเลยโดยอ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่เนื่องจากจำเลยมิได้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ ทั้งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ก็มิได้มีข้อใดกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่ม กรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3176/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินภาษีที่ชำระเกิน และดอกเบี้ย กรณีคดีไม่ถึงที่สุด ศาลกำหนดระยะเวลาคืนเงินและดอกเบี้ยถูกต้องตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 39 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือนโดยไม่คิดค่าอย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้เสียภาษีฟ้องขอคืนภาษีที่ต้องชำระเกินไปและศาลพิพากษาให้คืนจำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายใน 3 เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยมิต้องเสียดอกเบี้ย หากจำเลยไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแต่การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับจากวันฟังคำพิพากษานี้ ซึ่งก็คือวันอ่านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางนั้นไม่ชอบด้วยความในมาตรา 39 วรรคสอง เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง กรณีต้องนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยตามสัญญา แม้ผิดนัดชำระ ก็เป็นดอกผลนิตินัย โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญา
หนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีและในกรณีมีเหตุจำเป็นยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ แสดงว่าตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ในช่วงแรกโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไปโดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้ หาใช่เป็นเรื่องลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง อันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่ โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินได้
ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองตามหนังสือสัญญากู้เงินไม่ใช่การแสดงเจตนาเพื่อลวงบุคคลอื่น และไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำสัญญาฉบับนี้อำพรางสัญญาฉบับอื่นแต่อย่างใด จึงไม่เข้าลักษณะนิติกรรมอำพรางที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองลดลงเหลืออัตราร้อยละ 16 ต่อปีได้
of 257