คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 224

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,570 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน กรณีบาดเจ็บร้ายแรงและนายจ้างทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสนบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของ ฉ. ลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5
เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3083/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากการรักษาพยาบาล: การเริ่มนับดอกเบี้ยเมื่อใด และอัตราที่ใช้
ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น" เมื่อเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยเป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ต่อมาจำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ วันที่ 9 มกราคม 2551 คณะกรรมการอุทธรณ์มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค, อายุความ, และข้อตกลงการกู้ยืมเงิน: ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจลงวันที่ในเช็คพิพาททั้งสิบสามฉบับ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในหนึ่งปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ อ. เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14792/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย: การผ่อนปรนเงื่อนเวลา, การชำระหนี้ตอบแทน, และสิทธิในการบอกเลิกสัญญา
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตอบแทนจำเลย หาใช่ว่าจำเลยจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในเวลาใดตามอำเภอใจของจำเลยก็ได้ไม่ ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ว่า โจทก์ต้องชำระเงินในวันทำสัญญา 261,000 บาท ผ่อนชำระค่างวดรวม 15 งวด งวดละ 67,800 บาท ภายในทุกวันที่ 9 ของเดือน และชำระเงินงวดสุดท้าย 3,053,000 บาท ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว แสดงว่าโจทก์กับจำเลยตกลงชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและภายในกำหนดเวลาแน่นอน คือภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 โดยโจทก์จะต้องผ่อนชำระเงินค่าที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินที่ตกลงกัน และจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ส่วนจำเลยก็มีหน้าที่สร้างบ้านและดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้แล้วเสร็จชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เช่นกัน
เมื่อโจทก์ชำระค่างวดไม่ตรงตามสัญญา จำเลยก็ยอมรับชำระค่างวดแต่โดยดี แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนปรนไม่ถือเอาประโยชน์ของเงื่อนเวลาเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยแม้จะมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านและแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่ตามสำเนาใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ซึ่งล่วงเลยจากกำหนดเวลาจดทะเบียนโอนที่ดินเช่นเดียวกัน แสดงว่าก่อนหน้านั้นจำเลยก็ยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ทั้งยังปรากฏว่า ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 บ้านก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างผ่อนปรนให้แก่กันและกัน โดยต่างมิได้ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นสำคัญ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง มีข้อตกลงว่าเงินงวดสุดท้ายชำระภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 หรือเมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว และวรรคสาม มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายครบถ้วน และบ้านได้สร้างแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันโดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แน่นอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และกรณีนี้โจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน หากโจทก์หรือจำเลยจะให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้อีกฝ่ายชำระหนี้ ตามมาตรา 387
จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวด งวดที่ 13 ถึง 15 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2540 และมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามไปยังโจทก์นั้น จำเลยได้ก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้วเสร็จพร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ได้แล้ว การที่จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนแก่โจทก์นั้นหาได้ไม่ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านให้บุคคลภายนอกไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงิน 1,106,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บุคคลภายนอก จึงให้ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4304/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดในความเสียหายจากการตอกเสาเข็ม แม้จะจ้างผู้รับเหมาช่วง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตอกเสาเข็มในโครงการบ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับอาคารพิพาทของโจทก์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องระบุเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อสร้าง ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 คือผู้ว่าจ้าง ส่วนจำเลยที่ 2 คือผู้รับจ้าง และแม้ความจริงจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เพียงรับจ้างก่อสร้างอาคาร มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มด้วย อันทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ว่าจะจ้างใครเข้าไปตอกเสาเข็มในที่ดินพิพาท ก็ยังคงสถานะความเป็นผู้ว่าจ้างอยู่เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงไม่พ้นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างทำของ ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 428 ฉะนั้น การพ้นความรับผิดของจำเลยที่ 2 เนื่องเพราะมิได้เป็นผู้รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ในการตอกเสาเข็มจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัว คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นเรื่องของการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
โจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างบ้านโดยใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในวันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการชำระหนี้แทน และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกันให้แก่ผู้เป็นเจ้าหนี้เป็นต้นเงินจำนวน 754,333.57 บาท และดอกเบี้ยอีกจำนวน 63,898.62 บาท รวม 818,232.19 บาท เงินจำนวนนี้จึงรวมเป็นต้นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไป โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ชำระเงินจำนวน 818,232.19 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่ง หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2549 แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนดชำระแล้วจำเลยทั้งสี่เพิกเฉย จึงตกเป็นผู้ผิดนัดมาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2549 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 818,232.19 บาท จากจำเลยทั้งสี่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2549 เป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16512/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลฉ้อฉลซื้อขายที่ดิน: ผู้ขายต้องคืนเงิน หากปกปิดสภาพที่ดินจริง
จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ทำการซื้อขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานเขตมีนบุรีโดยทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษีบำรุงท้องที่ อีกทั้งมีหลักฐานสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทย่อมสามารถตรวจสอบสภาพที่ดินได้ตลอดเวลาว่าที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นบ่อดิน ป่ารก มีน้ำท่วมขังซึ่งความนี้จำเลยที่ 1 เองก็ทราบจากผู้รับมอบอำนาจของตนที่ไปขอรังวัดสอบเขตที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 3 พาจำเลยที่ 4 ไปดูที่ดินของ ส. แต่กลับอ้างว่าเป็นที่ดินพิพาท จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 ไม่แจ้งความจริงให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายโจทก์ทราบ ครั้นจำเลยที่ 4 พาโจทก์ที่ 1 ไปดูที่ดินตามที่จำเลยที่ 3 เคยนำชี้ไว้ ทำให้ฝ่ายโจทก์หลงเข้าใจผิดว่าที่ดินที่ต้องการซื้อเป็นที่ดินนา มิใช่ที่ดินมีสภาพน้ำท่วมขังอันเป็นสภาพแท้จริง นอกจากนี้แล้วในวันเจรจาจะซื้อจะขายครั้งแรก โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 สอบถามสภาพที่ดิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็บอกเป็นที่ดินนา เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีคนทำนาอยู่ จำเลยที่ 2 ก็รับว่าจะจัดการให้ออกไปเสียจากที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวสนับสนุนได้ว่า ฝ่ายโจทก์ประสงค์ซื้อที่ดินนามิใช่ที่ดินที่มีสภาพน้ำท่วมขัง จำเลยที่ 1 เอง ขายที่ดินต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาในปี 2535 เกือบ 3,000,000 บาท แล้วยังยอมออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีที่ดิน ค่านายหน้าแทนฝ่ายโจทก์อันทำให้ขาดทุนจำนวนมาก และจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงให้ฝ่ายโจทก์ทราบ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายหน้าของจำเลยที่ 1 เป็นคนนำชี้ที่ดิน อีกทั้งตามสภาพที่ดิน แม้โจทก์ที่ 1 จะมีสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทก็ไม่อาจตรวจสอบได้โดยง่ายยังไม่ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกลฉ้อฉล อันเป็นทางให้โจทก์ทั้งหกเสียเปรียบ เมื่อโจทก์ทั้งหกส่งมอบที่ดินนาคืนแก่ ส. และมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินโดยชอบแล้ว ถือว่าโจทก์ทั้งหกซึ่งถูกกลฉ้อฉลได้บอกล้างสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะกรรม แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย โจทก์ทั้งหกมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินเพื่อให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินค่าซื้อขายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันครบกำหนดทวงถามเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13658/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากสัญญาซื้อขายและการลดจำนวนเบี้ยปรับเมื่อผู้ขายผิดสัญญา
โจทก์ให้หลักประกันเพื่อให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญา หากโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วยเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกัน อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5043/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งแยกมูลหนี้สัญญาซื้อขายสองฉบับ ทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทอุทธรณ์ไม่ได้
แม้โจทก์จะฟ้องเป็นคดีเดียวกันและมีคู่สัญญาและสัญญาอย่างเดียวกัน แต่คำฟ้องของโจทก์แยกเป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาสองสัญญาซึ่งมีมูลหนี้และที่มาคนละครั้งคนละคราว โดยสัญญาทั้งสองทำขึ้นห่างกันถึงห้าปี มูลหนี้ตามสัญญาฉบับที่สองเป็นการชดเชยราคาบ้านของโจทก์ที่ อ. รื้อออกไปขายแตกต่างกับครั้งแรกที่อ้างว่าเป็นการจะซื้อจะขายกันอย่างแท้จริง แม้จะมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน แต่โดยเนื้อหาแล้วสัญญาทั้งสองหาได้มีลักษณะเป็นการทำสัญญาที่ต่อเนื่องและเกี่ยวพันกันไม่ รวมทั้งพยานหลักฐานก็แยกออกได้เป็นคนละชุดกันจึงถือได้ว่ามีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันได้ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง และเป็นการฟ้องเพื่อให้ปฏิบัติกาชำระหนี้ตามสัญญาคือให้โอนที่ดินสองแปลงตามคำฟ้องแก่โจทก์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์เป็นคำขอหลัก ส่วนคำขอให้จดทะเบียนทางภาระจำยอมเป็นคำขอต่อเนื่อง การคำนวณทุนทรัพย์ต้องแยกจากกันและต้องคำนวณตามราคาที่ดินในขณะที่ยื่นคำฟ้อง ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้มีคำขอว่า ถ้าจำเลยโอนที่ดินตามคำฟ้องแก่โจทก์ไม่ได้ก็ให้ชำระเงินคืนหรือชดใช้ค่าเสียหายอีกด้วย จึงไม่มีจำนวนเงินที่เรียกร้องที่จะนำมาใช้คำนวณเป็นทุนทรัพย์ขณะยื่นฟ้องคดีนี้อีก เมื่อมูลหนี้ตามสัญญาฉบับที่หนึ่งมีราคาที่ดินในขณะยื่นคำฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาท ย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่มูลหนี้ตามสัญญาฉบับที่สองมีราคาที่ดินในขณะยื่นคำฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์เกินห้าหมื่นบาท ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4563/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และการหักชำระหนี้
จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาอายุความขึ้นแล้ววินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกินห้าปีจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ปัญหานี้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในฎีกาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้คงเหลือก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536 จากนั้นไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่าธนาคารยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอีก คงมีแต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ธนาคารได้นำเงินฝากประจำของจำเลยที่ 1 มาหักชำระหนี้เท่านั้น โดยมีการหักทอนบัญชีกันตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2536 แสดงให้เห็นเจตนาของธนาคารและจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป สัญญาจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2536
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด แม้สัญญาจะระบุให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยก็หมายความถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกได้จากลูกค้าที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจะระบุให้คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็เป็นการให้สิทธิแก่ธนาคารพาณิชย์ที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นกว่าที่คิดตามปกติเท่านั้น ส่วนจะปรับได้หรือไม่ ต้องพิจารณาจากสัญญานั้นว่ามีข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้จึงต้องตีความข้อตกลงในสัญญาอย่างเคร่งครัด เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ได้ระบุข้อตกลงไว้ชัดแจ้งว่าหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญายอมเสียดอกเบี้ยอัตราผิดนัด โจทก์ไม่อาจคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้สูงสุดในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้าประเภทกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ผิดนัดเท่านั้น
of 257