คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 224

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,570 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3488/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วสัญญาใช้เงินหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ & ดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์มีตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ในครอบครองเนื่องจาก บริษัท อ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นกลับมาให้โจทก์เพราะโจทก์ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทนั้นแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและใช้เงินให้แก่บริษัท อ. หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ แต่ก็ได้ความจาก พ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่งตั้ง ช. เป็นประธานกรรมการของโจทก์ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และหลังจากนั้นองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเคยมีหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการโจทก์ให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของโจทก์ การดำเนินกิจการของโจทก์หลังจากกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการจึงเป็นการเข้าดำเนินการโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การดำเนินกิจการของโจทก์ดังกล่าวจึงหาเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกระทรวงการคลังไม่
คำสั่งกระทรวงการคลังให้โจทก์ระงับการดำเนินกิจการ เป็นคำสั่งที่ใช้บังคับแก่โจทก์โดยเฉพาะมิได้ใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป การดำเนินการของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. และกระทรวงการคลังที่จะต้องว่ากล่าวกัน หาได้กระทบกระเทือนต่อฐานะความเป็นคู่สัญญาผู้ขายลดตั๋วเงินของจำเลยที่ 1 และฐานะความเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หาทำให้สัญญาขายลดตั๋วเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกตั๋วระงับหรือสิ้นสุดไปด้วยไม่ ทั้งไม่ได้ความว่าการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับบริษัท อ. มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล เท่ากับการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต ดังนั้น เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้เงินตามตั๋ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินได้
สัญญาขายลดตั๋วเงิน มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่โจทก์ประกาศกำหนด โดยโจทก์อ้างส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดสูงสุด และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดีของโจทก์ และหนังสือขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แสดงให้เห็นว่า ขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาขายลดตั๋วเงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ แต่ ป.พ.พ. มาตรา 968 (2) ประกอบมาตรา 985 บัญญัติให้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้อัตราร้อยละ 5 ต่อปี แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา แต่เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19385/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากความผิดสัญญาซื้อขายรถยนต์ และการคาดหมายความเสียหายจากการถูกปรับทางธุรกิจ
โจทก์ทำใบสั่งซื้อรถรวม 26 คัน จากจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถ 26 คัน แก่สำนักงานศาลยุติธรรม กำหนดส่งมอบรถภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้โจทก์ 2 งวด งวดแรก 16 คัน งวดที่ 2 อีก 5 คัน และโจทก์ได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว จากนั้นจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 แต่การเรียกเอาค่าเสียหายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 222 แบ่งความเสียหายออกเป็น 2 กรณี กรณีแรกตามวรรคหนึ่ง เป็นความเสียหายเช่นที่ปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ กรณีที่สองตามวรรคสองเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปขายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 2 ได้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 16 คัน โดยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่ามีการระบุวันเวลาส่งมอบรถที่แน่นอนวันใด คงปรากฏตามใบสั่งซื้อว่า "เครดิตการชำระเงิน 30 วัน นับแต่วันส่งมอบรถยนต์" จึงเป็นกรณีที่เวลาอันจะพึงส่งมอบรถไม่ได้กำหนดกันไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลัน และจำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะส่งมอบรถที่เหลือได้โดยพลันเช่นกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่ค้าง 10 คัน โดยมีใจความสำคัญว่า โจทก์ได้แจ้งด้วยวาจาผ่าน ม. ขอรับรถภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2549 แต่โจทก์ได้รับแจ้งกลับว่าจำเลยที่ 2 หารถส่งมอบให้ได้เพียง 5 คัน ที่เหลือต้องไปรับเดือนหน้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหากไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันเวลาภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 จึงขอให้ดำเนินการช่วยเหลือโจทก์โดยด่วน เท่ากับโจทก์กำหนดเวลาแน่นอนให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าโจทก์ซื้อรถจากจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม จำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจความหมายตามหนังสือฉบับดังกล่าวได้ว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่ส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรมตามสัญญา แม้ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 จะมีหนังสือถึงโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบรถอีก 5 คัน ให้โจทก์ได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประมาณการสั่งซื้อผิดพลาด ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการส่งมอบรถให้โจทก์ได้ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และการที่โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ถึงจำเลยที่ 2 อีกครั้งโดยสำทับว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากค่าปรับของสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถที่เหลืออีก 5 คัน แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 และกำชับว่าให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการส่งมอบรถโดยด่วนเพื่อมิให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังในความผิดพลาดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 คงเพิกเฉย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบรถครั้งสุดท้าย มิใช่ผิดสัญญาตั้งแต่ครั้งที่จำเลยที่ 2 แจ้งเหตุขัดข้องว่าไม่สามารถส่งมอบรถได้ ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ว่าโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระโดยส่งมอบรถให้แก่สำนักงานศาลยุติธรรม และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 2 ย่อมคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นก่อนที่จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาว่า โจทก์จะได้รับความเสียหายจากการถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับตามสัญญาอันเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ส่งมอบรถให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่ถูกสำนักงานศาลยุติธรรมปรับจำนวน 1,800,000 บาท เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10111/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางภาษีอากรจากการแสดงรายได้และรายจ่ายที่ไม่ถูกต้อง และการตัดสินใจไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้แสดงถึงมูลหนี้จากสิทธิเรียกร้องตามข้อตกลงโอนหุ้น และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาการโอนหุ้นประกอบกับรายละเอียดแห่งหนี้ค่าภาษีอากรค้างที่จำเลยทั้งยี่สิบหกต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวแต่ไม่ชำระ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์เพียงพอที่ฝ่ายจำเลยจะให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดที่อาจนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาได้ ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างซึ่งใช้เป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับโดยชัดเจนพอเข้าใจได้ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
คู่สัญญามีเจตนาให้ฝ่ายผู้โอนชำระแทนบริษัทโจทก์หรือชำระให้บริษัทโจทก์ เพื่อการชำระหนี้ของบริษัทโจทก์ที่มีนอกเหนือบัญชีท้ายนั่นเอง ดังนี้ แม้โจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญา แต่โจทก์ก็เป็นผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยตรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการวินิจฉัยตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงไม่มีเหตุใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ.
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องที่กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อยู่ในตัวด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยการปิดหมายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ซึ่งมีผลเป็นการส่งได้ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรับผิดโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเกี่ยวกับการโอนหุ้นและกิจการของบริษัทโจทก์ อันเป็นคดีที่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดตามสัญญาเป็นสำคัญ เพียงแต่ที่มาแห่งคดีหรือมูลคดีตามสัญญานี้มาจากหนี้ภาษีอากรเท่านั้น การที่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะมีผลให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหานี้แม้หากจะถือว่าเป็นดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็เป็นเพียงปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางหรือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งฝ่ายจำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 แม้ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจผิดและทำให้ถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนมากตามคำฟ้องก็ตาม แต่ก็จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์โดยสิ้นเชิงหาได้ไม่ เพราะต้นเหตุแห่งการที่เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนจนถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มดังกล่าวนั้นล้วนเกิดจากการกระทำของกรรมการบริษัทชุดเดิม ทั้งยังไม่เปิดเผยความจริงเพื่อให้โจทก์ตัดสินใจใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกำหนดดังกล่าวอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และกรรมการบริษัทชุดเดิมมีส่วนผิดในการทำให้เกิดหนี้ภาษีอากรตามที่โจทก์ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้องด้วย กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าเป็นความผิดของกรรมการบริษัทชุดเดิมเต็มที่ก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากโจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ก็ตัดสินใจผิดพลาดในการไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้ต้องเสียภาษีน้อยกว่าจำนวนที่ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้อง ซึ่งควรเป็นเรื่องที่โจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ถูกเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดของฝ่ายกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเดิมเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งและกรรมการชุดใหม่ก็มีส่วนผิดพลาดในการตัดสินใจที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน โดยยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดมีส่วนผิดพลาดมากกว่ากัน จึงเห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิดพลาดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่นนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องนั้นฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ก่อหนี้หรือเกิดจากความรับผิดของฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อันจะต้องรับผิดชดใช้แทนโจทก์เต็มจำนวนทั้งหมด และคงฟังได้เพียงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีส่วนผิดพลาดอันมีผลให้เป็นหนี้จำนวนนี้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้: ศาลแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้โดยอาศัยสิทธิใด แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินและจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลชั้นต้นกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองรับผิดในอัตราสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย อันเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9473/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าไฟฟ้าค้างชำระ: โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ แม้ความผิดพลาดเกิดจากพนักงานโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บริษัท ว. เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ/ร - 6362 ขนาด 150 แอมแปร์ 380 โวลต์ 3 ยก 4 สาย ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 440/45 - 51 ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้คำนวณกระแสไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิการใช้ไฟฟ้าดังกล่าวโดยสัญญาว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนังสือบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 เข้ามาครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวต่อจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาดไป ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินจากจำเลยทั้งสองน้อยกว่าความจริง เหตุเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้เปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เป็นยี่ห้อแลนดิส (LANDIS) โจทก์ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องได้เป็นเงิน 340,879.50 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างชำระค่าไฟฟ้าที่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2545 จำนวน 86,767 บาท โจทก์ได้นำเงินที่จำเลยทั้งสองชำระให้มาแล้วและเงินที่ชำระให้ตามสัญญาค้ำประกันมาหักออกจากจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว คงเหลือหนี้ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระ 312,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319,915.73 บาท คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งรายละเอียด และคำขอบังคับโดยแจ้งชัดพอที่จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว โจทก์หาต้องบรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ใช้ไฟที่แท้จริงในแต่ละเดือนเป็นจำนวนเท่าใดเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
พยานโจทก์สามปากซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 โจทก์ตรวจสอบพบว่าพนักงานของโจทก์ได้จดเลขอ่านหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ายี่ห้อแลนดิส (LANDIS) ที่โจทก์นำมาเปลี่ยนให้กับจำเลยที่ 1 ใหม่ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ผิดพลาด ทำให้โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์คำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 427,646.50 บาท จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณใหม่และเรียกเก็บเพิ่มจากจำเลยทั้งสองนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าไฟฟ้าที่ขาดไปเป็นเงิน 312,342.50 บาท แม้การจดบันทึกหน่วยการใช้ไฟฟ้าผิดพลาดดังกล่าวเกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้มีส่วนร่วมด้วย โจทก์ก็สามารถเรียกค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองใช้ไปตามความจริงได้ตามข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ.2535
ค่าไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัด ก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 312,342.50 บาท แก่โจทก์ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ครบกำหนดจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9405/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเช็คไม่เคลือบคลุม แม้ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเช็ค ผู้ทรงเช็คไม่ต้องบรรยายรายละเอียด
โจทก์บรรยายฟ้องโดยมีสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องคือ จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยฐานมีเช็คชนิดสั่งจ่ายเงินให้ผู้ถือไว้ในครอบครอง ทั้งคำฟ้องมีคำขอบังคับไว้แล้ว นับว่าโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจคำฟ้องได้แล้วว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 904 ฟ้องจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คให้รับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 และรับผิดค่าดอกเบี้ยตามมาตรา 224 คำฟ้องของโจทก์จึงครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาด้วยมูลหนี้ใดและรับจากผู้ใดตามข้ออ้างของจำเลยก็ไม่เป็นเหตุให้คำฟ้องของโจทก์ที่ชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยแล้วกลับกลายเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมไปได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างนั้น มิใช่สภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์จำเป็นจะต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทนายความ ค่าจ้างเมื่อคดีถึงที่สุด ทายาทรับผิดชอบหนี้
ด. ตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีที่ ด. ถูกฟ้องเป็นจำเลย โดยตกลงค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 1,000,000 บาท จะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เมื่อคดีถึงที่สุดอันถือเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อคดีดังกล่าวศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 คดีจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว ด. จะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ในวันดังกล่าว การที่ ด. เพิกเฉยไม่ชำระถือว่าเป็นฝ่ายผิดนัดตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไป โดยมิพักต้องทวงถามอีกตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ ด. ผิดนัดโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ จึงต้องให้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้ สินค้าสูญหาย ผู้รับผิดชำระราคาพร้อมดอกเบี้ย
สินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทที่บรรทุกในระวางเรือหมายเลข 5 มีเพียงสินค้าของบริษัท บ. กับของจำเลย โดยมีแผ่นพลาสติกทอปูกั้นสินค้าของแต่ละฝ่ายไว้ สินค้าของบริษัท บ. อยู่ด้านบน ส่วนสินค้าของจำเลยอยู่ด้านล่าง ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนัก 4,400 เมตริกตัน เท่ากัน และการฉีกขาดของแผ่นพลาสติกเกิดขึ้นในขณะที่ยังขนถ่ายสินค้าของบริษัท บ. ออกจากระวางเรือไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือในระวางเรือไปทั้งหมด และจำเลยได้รับสินค้าเกินกว่าที่ระบุในใบตราส่งไป 60.24 เมตริกตัน เชื่อว่าสินค้าของบริษัท บ. ได้ปะปนไปกับสินค้าที่จำเลยได้รับไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้มาซึ่งสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน ของบริษัท บ. โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บริษัท บ. เสียเปรียบ บริษัท บ. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ในฐานะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการสูญหายของสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์
แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท บ. ไปเป็นเงิน 470,315.31 บาท ก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ได้คิดคำนวณราคาจากสินค้าที่สูญหายไป 65.03 เมตริกตัน เมื่อจำเลยได้รับสินค้าของบริษัท บ. ไว้เพียง 60.24 เมตริกตัน หากจำเลยไม่สามารถคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ราคาแทนโดยคำนวณราคาจากสินค้า 60.24 เมตริกตัน เท่านั้น ขณะที่จำเลยรับสินค้ามีการขนถ่ายขึ้นจากเรือ ซ. ลงเรือลำเลียง ยังไม่มีการตรวจสอบปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า อันถือได้ว่าจำเลยได้รับสินค้าพิพาทไว้โดยสุจริต และการครอบครองสินค้าพิพาทของจำเลยก่อนมีการทวงถามให้คืนเป็นไปโดยสุจริตตลอดมา แต่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าโดยอ้างสิทธิเหนือสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนด 7 วัน ที่จำเลยต้องคืนสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้วจำเลยยังเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินคืนจากผู้รับเงินผิดพลาด: เจ้าของเงินมีสิทธิติดตามเรียกคืนได้ แม้มีปัญหาการรับฝาก
สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด เป็นสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯ มีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯ เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ จะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ เป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯ ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์ สหกรณ์ฯ จึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ เป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 229
เมื่อจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้
คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์เก็บบรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 วรรคหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2055/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการคิดดอกเบี้ยจากหนี้ค่าใช้น้ำบาดาลที่ค้างชำระ และการพิพากษาชำระหนี้ตามจริง
กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ.2547) ออกตามความใน พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลชำระค่าใช้น้ำบาดาลในแต่ละงวดให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มงวดถัดไป ถือว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก นับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวด มิใช่นับแต่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถาม
of 257