คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 224

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,570 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดเป็นโมฆะ หากเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด สิทธิการเรียกร้องหนี้และการหักชำระหนี้
แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้าง และร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ดังนั้นเงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5179/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง: การจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐวิสาหกิจ" หมายความว่า (1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทรวง ทบวง กรม หรือทบวงการเมืองที่มีฐานะเทียบเท่าหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ผู้ถือหุ้นจำเลย ได้เปลี่ยนสภาพมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ และ พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงว่า เพื่อให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจของรัฐที่มีความคล่องตัวในการบริหารและในเหตุผลการจัดตั้ง กับมาตรา 26 ได้กำหนดให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน ดังนั้น บริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจดังกล่าว จึงมีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อบริษัทท่าอากาศยานไทยฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจถือหุ้นในบริษัทจำเลยจำนวน 214,999,994 หุ้น ในหุ้นทั้งหมดจำนวน 215,000,000 หุ้น จึงมีทุนที่รัฐวิสาหกิจถืออยู่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ จำเลยจึงเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ซึ่งไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 แต่ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มาตรา 6 (2) ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ หมวด 6 ข้อ 45 (3) โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถูกเลิกจ้างเป็นเวลา 7 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบดังกล่าว แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดแก่โจทก์
ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มิได้มีบทบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยในกรณีมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานไว้ แต่ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคิดดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญา และการใช้สิทธิโดยสุจริตของเจ้าหนี้
สัญญากู้เงินที่โจทก์และจำเลยทำไว้ต่อกันมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 และข้อ 2 วรรคแรกระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ต่อปี (ปัจจุบันร้อยละ 13.75 ต่อปี) วรรคสอง ระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญาตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนสัญญาข้อ 2 ระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่า ผู้กู้ตกลงว่าหากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ โดยให้คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ที่คงค้างทั้งจำนวน ดังนี้ จึงเห็นได้ว่า สัญญาข้อ 1 เป็นข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยก่อนผิดนัดโดยใช้อัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. และให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้แต่แรกได้ ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นเรื่องที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นในกรณีที่จำเลยผิดนัดซึ่งโจทก์ได้กล่าวมาในคำฟ้องแล้วว่าโจทก์ใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยกรณีผิดนัดในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี โดยถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นับแต่จำเลยผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.แอล.อาร์. ตามอัตราที่โจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเท่านั้น จึงไม่ชอบ
ตามสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยข้อ 2.1 กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องผ่านชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,300 บาท โดยต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดไว้ในข้อ 4 ว่าหากจำเลยผิดนัดในข้อใดข้อหนึ่งหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัญญาให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยยอมให้โจทก์เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีก็ตามก็หาใช่เป็นการบังคับว่าเมื่อจำเลยผิดนัดแล้วโจทก์จะต้องฟ้องเรียกหนี้คืนจากจำเลยทันทีไม่ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผ่อนผันให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระหนี้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัด เพราะเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ดังนั้น เมื่อปรากฏตามสำเนาประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและสำเนาประกาศของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ที่โจทก์คิดจากจำเลยกรณีผิดนัดนับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 เป็นต้นมานั้นไม่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์ประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรา ดังกล่าว นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 ได้ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าเบี้ยประกันรวม 7 จำนวน คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปแต่ละครั้ง โดยมิได้ระบุว่าดอกเบี้ยในส่วนนี้เมื่อคำนวณถึงวันฟ้องแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินตามคำขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดไว้ด้วยว่าต้องไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ ผู้รับซื้อหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้
แม้ตามสัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่ธนาคาร ก. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และยอมให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรแต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ และตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจะระบุว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไว้เช่นกันก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศเรียกเก็บได้ เมื่อประกาศธนาคาร ก. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองระหว่างธนาคารกับจำเลย กำหนดให้ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปทุกประเภทและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี การที่ธนาคารกำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยในสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีลูกค้าผิดเงื่อนในการผ่อนชำระ โดยจำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกเก็บจากลูกค้านับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของธนาคาร ก. ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ
แม้ความเป็นจริงธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังทำสัญญาในบางช่วงไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อโจทก์รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิจากธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระมาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด เห็นว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนตุลาคม 2541 หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนพฤศจิกายน 2541 ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนพฤศจิกายน 2541 ไปแล้ว คือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกกล่าวล่วงหน้าเลิกจ้างมีผลเมื่อลูกจ้างได้รับทราบ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยจากสินจ้างแทนการบอกกล่าว
การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง เพียงแต่ให้คู่สัญญาฝ่ายที่จะเลิกสัญญาบอกกล่าวล่วงหน้าแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญา โดยต้องบอกกล่าวในเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง หรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งอันจะก่อให้เกิดผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าภายในเวลางานตามปกติแต่อย่างใด การบอกกล่าวเลิกสัญญาจึงมีผลนับแต่ที่คู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับการบอกกล่าวได้รับทราบการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์รับทราบการบอกกล่าวเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 และจำเลยที่ 1 กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันที่ 25 ของเดือน การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลให้เลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 เป็นเวลา 53 วัน
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่เมื่อทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐตามระเบียบความรับผิดทางละเมิด การคุ้มครองสิทธิ และดอกเบี้ยผิดนัด
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต้องให้โอกาสเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ความเห็นของคณะกรรมการต้องมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แจ้งชัดและต้องมีพยานหลักฐานที่สนับสนุนประกอบ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัยจึงเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ จำเลยเพียงแต่ให้โจทก์ชี้แจงในเรื่องที่บุคคลอื่นกระทำผิดวินัย ในทำนองเป็นการให้ข้อเท็จจริงแก่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่เป็นกิจจะลักษณะว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบหรือเข้าใจข้อเท็จจริงในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และมีโอกาสแสดงพยานหลักฐานเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ก็ไม่ปรากฏว่าในคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีการกระทำความผิดของโจทก์ว่าให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพิจารณาแต่อย่างใด เพียงแต่กล่าวถึงกรณีที่ ม. สั่งการให้ ป. และ พ. พนักงานขับรถยนต์ทำความเสียหายให้จำเลย และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดก็ได้รายงานผลการสอบสวนเพียงกรณีการกระทำของ ม. ป. และ พ. เท่านั้นโดยไม่ได้กล่าวถึงการกระทำใดของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการพิจารณารายงานผลการสอบสวนและความรับผิดทางละเมิดได้ประชุมและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หมวด 1 อันเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
การที่โจทก์ลดราคาค่าบริการของจำเลยเป็นการกระทำไปภายใต้ธรรมเนียมปฏิบัติงานที่เคยดำเนินการกันมาโดยจำเลยยอมรับให้โจทก์ปฏิบัติมาโดยตลอด การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมิได้เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับกรณีพนักงานฟ้องเรียกเงินเดือนที่นายจ้างหักไว้โดยมิชอบ จึงให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดสัญญาเงินกู้: ข้อตกลงดอกเบี้ยเดิมเป็นโมฆะ ใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมายและเริ่มนับผิดนัดจากวันที่ถูกต้อง
สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับธนาคารมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป และยอมให้ธนาคารมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวผู้กู้ก่อน ทั้งสัญญาข้อ 3 ด้วยว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงตามข้อ 2 และค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ผู้กู้ตกลงให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับเงินต้น และให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาในข้อ 2 สัญญากู้เงินดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดในอัตราที่สูงขึ้นหรือแยกต่างหากจากอัตราตามสัญญาข้อ 2 กรณีจึงไม่ต้องด้วยความในตอนท้ายของมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะนำมาปรับแก่คดีเพื่อให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ธนาคารประกาศกำหนด
ตามสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้งวดเดือนธันวาคม 2540 แล้ว การชำระหนี้งวดต่อไปต้องชำระภายในวันสิ้นเดือนของเดือนมกราคม 2541 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโดยไม่เคยโต้แย้งว่าธนาคารคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การคิดดอกเบี้ยและการประกาศหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ธนาคารกระทำไปฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ เมื่อธนาคารไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเนื่องจากข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่ธนาคารไปแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้, บังคับจำนอง, ดอกเบี้ยผิดนัด, ทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินจำนองและจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาทรัสต์รีซีท: อัตราดอกเบี้ย, การชำระหนี้, และการบังคับคดี
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี
จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้าไว้ 4 อัตรา ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคาร ม. และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคาร ม. เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383
ธนาคาร ม. มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับกับจำเลยที่ 1 เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญา กู้ยืมเงิน – กรณีไม่ระบุชัดเจน ศาลใช้ ป.พ.พ. ม.7 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเบี้ยปรับ
ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า ผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชี เป็นเพียงตกลงกันว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน แต่มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้งในสัญญา เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาน่าน กำหนดให้ในวงเงินเบิกเกินบัญชีไม่แน่นอนย่อมขึ้นลงได้ตามประกาศธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จึงต้องใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี ที่จะตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด และโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ได้อีก
of 257