คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชาตรี หาญไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4011/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำท้าทางคดีต้องชัดเจน ผลจากคำท้าต้องเป็นที่ยอมรับโดยไม่ต้องตีความเพิ่มเติม
การแพ้หรือชนะคดีกันตามคำท้านั้น ผลที่ได้จากเงื่อนไขที่ท้ากันจะต้องชัดเจนตรงกับประเด็นตามคำท้าโดยที่ศาลไม่ต้องตีความผลดังกล่าวให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใดอีก เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการถือเอาคำวินิจฉัยของศาลเป็นผลแพ้หรือชนะคดีแทนผลที่ได้จากคำท้า คดีนี้ประเด็นตามคำท้าคือ ลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้เงินและตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยเอกสารหมาย จ.2 ล.1 ถึง ล.4 เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แล้วเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ โจทก์และจำเลยไม่ได้ท้ากันว่า ลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เกิดจากการพิมพ์หรือการลงชื่อ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงไม่ได้เป็นไปตามคำท้า หากจะให้รับฟังว่าลายมือชื่อที่เกิดจากการพิมพ์ย่อมไม่ใช่การลงชื่ออันแสดงว่าลายมือชื่อดังกล่าวไม่ใช่ของบุคคลคนเดียวกัน เท่ากับว่าศาลจะต้องตีความต่อความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอีกชั้นหนึ่ง การตีความเช่นนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยของศาล หาใช่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่ตกลงท้ากันไม่ ซึ่งในชั้นท้ากันคู่ความก็ไม่ได้ตกลงยอมให้ศาลตีความต่อความเห็นของผู้เชี่ยวชาญไว้ด้วย ศาลจึงไม่อาจวินิจฉัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในชั้นนี้ได้ เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานอันได้จากการสืบพยานของคู่ความซึ่งย่อมประกอบด้วยพยานหลักฐานอื่นเพิ่มเติมจากรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน และการบังคับคดีตามคำพิพากษา
คำร้องของโจทก์ที่ 1 มีคำขอให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งกำหนดว่าจะให้ถือตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกันคดีใด เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ประธานศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ขัดกัน ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ส่งคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยกคำร้องเสียได้ กรณีนี้เป็นเรื่องของอำนาจร้องจึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจและพิจารณาสั่งคำร้องไปตามลำดับชั้นศาล ศาลชั้นต้นหาได้มีคำสั่งยกคำร้องโดยก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดว่าให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการรับมรดก: การคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน หนี้สิน และการงด/ลดเบี้ยปรับ
กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 26 วรรคห้า เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า มรดก ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600 ซึ่งบัญญัติว่า กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ โดยมาตรา 1599 บัญญัติให้มรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจึงหมายถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพราะหากถือวันที่ผู้รับมรดกได้รับเอามรดกตามจริง นอกจากไม่เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ยังจะเป็นผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการจัดเก็บภาษีที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้รับมรดกว่าจะรับเอามรดกเมื่อใด ซึ่งยากต่อการบังคับใช้กฎหมายของทุกฝ่าย ดังนี้ การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามบัญชีเงินฝากธนาคารพิพาทที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือมีสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงิน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 5 ให้ถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันรวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดกนั้นจึงต้องถือเอาตามมูลค่าของเงินฝากรวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินดังกล่าวที่พึงมีในวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น รายการฝาก รายการดอกเบี้ย และรายการเงินปันผลที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งไม่อาจฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เจ้ามรดกมีสิทธิได้รับในขณะถึงแก่ความตาย ตลอดจนรายการหนี้สินต่าง ๆ ที่มีขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายซึ่งฟังไม่ได้ว่าเป็นหนี้ของกองมรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณและหักมูลค่าเพื่อเสียภาษีการรับมรดก
การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ เป็นการเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้ามรดกที่มีหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ แต่การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 เป็นการเก็บภาษีจากทายาทผู้รับมรดกซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษีกัน โดย พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 บัญญัติถึงกรณีการเสียภาษีการรับมรดกของทายาทไว้โดยเฉพาะ ไม่จำต้องถือตาม ป.รัษฎากร มาตรา 57 ทวิ
เจ้ามรดกเป็นเจ้าของหุ้นกู้ของบริษัท ซ. ซึ่งในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ทรัพย์มรดกที่โจทก์ได้รับขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายคือหุ้นกู้และสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ไม่ใช่เงินฝากจากเงินค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ที่เข้ามาในบัญชีเงินฝากธนาคารหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การคำนวณมูลค่าของหุ้นกู้ที่เป็นทรัพย์มรดกจึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 (3) และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 3 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดกใหม่หลังผู้จัดการมรดกเดิมเสียชีวิต และการไม่เป็นฟ้องซ้อน
คำฟ้องหรือคำร้องขอใดจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้นคู่ความในคดีแรกและคดีหลังต้องมีฐานะเป็นโจทก์ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะเคยยื่นคำคัดค้านโดยขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 2 จึงยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ อันถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ในฐานะโจทก์ดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างในฎีกาก็ตาม แต่คดีหมายเลขดำที่ พ 6364/2563 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ถูกผู้คัดค้านที่ 1 ฟ้อง ผู้คัดค้านที่ 2 จึงอยู่ในฐานะจำเลย ไม่ต้องด้วยกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการร่วมกันโดยถือเอาเสียงข้างมากตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลนั้นย่อมสิ้นสุดลงโดยสภาพ แต่ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังคงฐานะผู้จัดการมรดกอยู่ตามคำสั่งศาล เพียงแต่ไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้เท่านั้นเพราะจะฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1726 กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมเข้ามาในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาเพื่อลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยระบุไว้ในประกาศกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 12 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน กรมศุลกากรจะออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อขยายหรือเพิ่มเติมหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพื่อพิจารณาให้สิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรให้แตกต่างไปจากประกาศกระทรวงการคลังไม่ได้
เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษี คือ ราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษีและจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากรเป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิการลดอัตราอากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดย่อมลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และการรับรองเอกสารโดยเจ้าพนักงานตามระเบียบกรมที่ดิน ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย รวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้าน จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม
ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83