คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 680

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 723 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11229/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: การฟ้องเรียกชำระหนี้ตามเช็ค แม้คำพิพากษาเดิมยกฟ้องเรื่องอำนาจฟ้อง แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นหนี้จริง
คดีก่อนมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อประเภทขายลดเช็คกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดตามสัญญา กับจำเลยที่ 1 นำเช็คมาขายลดให้แก่บริษัทเงินทุนทรัพย์ศรีนคร จำกัด โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ อันเป็นประเด็นเดียวกับที่พิพาทกันในคดีนี้ ส่วนการที่โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ดังกล่าวมาโดยชอบหรือไม่นั้น เป็นข้อที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่า ม. ไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้บุคคลผู้มีชื่อลงนามในสัญญาขายทรัพย์สิน จึงเป็นการยกฟ้องเกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้โจทก์ได้นำพยานหลักฐานที่แสดงว่า ม. ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นเลขาธิการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมาแสดงต่อศาลอันแสดงว่า ม. มีอำนาจมอบอำนาจ และสัญญาขายทรัพย์สินเป็นสัญญาที่ชอบ ที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาขายทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสาม จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: จำเลยไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตแต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน ทั้งศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา ถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคสอง แล้ว
จำเลยทั้งสองยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่า มูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามูลคดีในการทำสัญญาเช่าซื้อเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานครและสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดกระบี่ อีกทั้งในสัญญาไม่ได้ระบุว่าทำขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต คดีจึงอยู่นอกเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและพิพากษายกฟ้อง คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงสมประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับรองเอกสาร หลักฐานการกู้ยืม และการประนีประนอมยอมความ การมิคัดค้านเอกสารสิทธิประโยชน์แก่โจทก์
ก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 เดือนเศษ โจทก์แถลงขอส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ต่อศาลและให้ฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาแล้ว ต่อมาโจทก์สืบพยานและอ้างส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวต่อศาล แล้วแถลงหมดพยานถือว่าโจทก์สืบพยานเอกสารเสร็จแล้ว แต่จำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานยันตน มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอม ก่อนที่โจทก์จะสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างเอกสารดังกล่าวก่อนศาลชั้นตั้นพิพากษา ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารฉบับนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสองจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านความแท้จริงหรือความถูกต้องของเอกสารนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคสาม
ตามรายการประจำนวนเกี่ยวกับคดีระบุข้อความว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวน 260,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 50,000 บาท เป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 10,000 บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ 225,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานได้เมื่อทุกฝ่ายตกลง และไม่จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์
โจทก์นำส่งภาพถ่ายสำเนาหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานเอกสารต่อศาล จำเลยที่ 2 ไม่ได้คัดค้านหรือนำสืบโต้แย้งว่าโจทท์มิได้ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและนำสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาสืบแต่อย่างใด จึงเท่ากับว่าคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) สำเนาหนังสือมอบอำนาจจึงรับฟังเป็นพยานเอกสารได้ เมื่อเป็นการรับฟังสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานแทนต้นฉบับเอกสาร จึงหาใช่เป็นการรับฟังต้นฉบับเอกสารเป็นพยานหลักฐานอันจะต้องปิดอากรแสตมป์ไม่ และสำเนาหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็มิใช่คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างเหมา, ค่าปรับ, การหักค่าเสียหายจากค่าจ้าง, และการชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน มิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่างานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระแก่กันตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ บัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ และในสัญญาจ้าง ข้อ 20 กำหนดให้จำเลยสามารถเรียกค่าปรับในกรณีที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าในอัตราวันละ 31,880 บาท แม้จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วก็ตาม ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับกรณีส่งมอบงานล่าช้าแก่จำเลย และต้องนำมาหักจากค่าของงานที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ แต่การที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควรก็ดี ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383
หนังสือค้ำประกันในวงเงินจำนวน 900,000 บาท เป็นหนังสือค้ำประกันที่โจทก์นำมอบให้แก่จำเลย เพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงการประกันความชำรุดเสียหายของงานจ้างที่อาจจะเกิดขึ้นภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบงาน หากไม่มีความเสียหายหรือโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงจะคืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ ทั้งจำเลยยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารใช้เงินแก่จำเลยตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยริบเงิน 900,000 บาท มาเป็นการชำระค่าเสียหายแก่จำเลยแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันและความรับผิดร่วม: ศาลฎีกาชี้ว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในสัญญาซื้อขาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วนนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขได้ตามมาตรา 142 (5)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไปเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุกกรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ประกอบกับหนังสือค้ำประกันระบุว่า ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น และให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งมีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองแยกต่างหากจากค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่อาจยึดทรัพย์สินจำนองเพื่อหนี้ค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิซึ่งจำเลยเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ผู้ค้ำประกันเมื่อ ป. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของโจทก์ผู้ค้ำประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น แตกต่างไปจากสิทธิตามสัญญาจำนองที่ทำขึ้นเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ได้ทำขึ้นในภายหลังและไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องให้โจทก์รับผิดรวมไปถึงความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย ประกอบกับโจทก์กู้เงินจำเลยเพื่อนำไปซื้อห้องชุดพิพาทแล้วนำมาจำนองไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจดทะเบียนจำนองห้องชุดพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่มีแก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงแยกต่างหากจากสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง นอกจากนี้ขณะที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยครบถ้วน จำเลยยังไม่ได้ฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ความรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาค้ำประกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อหนี้เงินกู้ของโจทก์อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปและโจทก์ผู้จำนองแสดงความจำนงไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยจะไม่ยอมให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าโจทก์ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่อีกหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296-297/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเหมาค่าก่อสร้าง, ความรับผิดของผู้รับเหมาและผู้ค้ำประกัน, ค่าเสียหาย, การแก้ไขคำพิพากษา
ว. กรรมการผู้มีอำนาจอีกคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ระงับการชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนโดยระบุว่าคดีได้ขึ้นสู่ศาลแล้วซึ่งเป็นหนังสือลงวันที่ 2 เมษายน 2546 ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 จึงรับฟังไม่ได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าถูกโจทก์ฟ้อง อย่างช้าที่สุดก็ในวันที่ 2 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่ ว. ทำหนังสือไปถึงจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมีเวลาอีกหลายวันพอแก่การจัดทำคำให้การเพื่อยื่นต่อศาลได้ เนื่องจากวันที่ 12 เมษายน 2546 ซึ่งครบกำหนดยื่นคำให้การเป็นวันเสาร์ ต่อจากนั้นเป็นวันหยุดตรุษสงกรานต์ซึ่งศาลหยุดทำการ แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้จัดทำคำให้การมายื่นต่อศาลในวันแรกที่ศาลเปิดทำการไม่ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2546 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดยื่นคำให้การไปแล้วหลายวัน จำเลยที่ 1 จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุซึ่งไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยที่ 1 มิได้สนใจเกี่ยวกับการที่ถูกโจทก์ฟ้องและไม่เอาใจใส่ที่จะดำเนินการต่อสู้คดี ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่จงใจหรือมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้
สัญญาค้ำประกันข้อ 2 ระบุว่า จำเลยที่ 2 รับรองว่าขณะใดที่ได้รับหนังสือแจ้งความจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวแต่โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้น ข้อความดังกล่าวเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ข้อความตอนท้ายระบุให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด 15 วัน ก็เป็นเพียงกำหนดเวลาที่จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ตัวว่าจะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่เพราะข้อความในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าวมิได้ระบุไว้เช่นนั้นโดยชัดแจ้ง การที่โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน & เลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย: การบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821
สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7913/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันและจำนองประกันหนี้เดียวกัน เมื่อชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมระงับ
จำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำกัดวงเงิน แม้การค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิส่วนการจำนองเป็นทรัพยสิทธิ แต่เมื่อเป็นการประกันหนี้จำนวนเดียวกันและจำเลยที่ 5 ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองครบถ้วนจนมีการไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 5 แล้ว อันมีผลให้ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันระงับไปด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญาค้ำประกันอีก
of 73