คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 ม. 53

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8107/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน กรณีบาดเจ็บร้ายแรงและนายจ้างทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 กำหนดในข้อ 5 ว่าในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 4 สำหรับลูกจ้างรายใดไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินสามแสนบาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยขอให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เป็นเงิน 474,219 บาท และสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 มีคำสั่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์เกินกว่า 45,000 บาท แต่ไม่เกิน 110,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ ไม่เกิน 110,000 บาท จึงถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยโดยคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาและไม่ให้ความเห็นชอบในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) และข้อ 5 หรือไม่ เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การประสบอันตรายของ ฉ. ลูกจ้างเป็นการประสบอันตรายตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 4 (3) โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 5
เมื่อโจทก์ชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ฉ. แทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ตามขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทน: ต้องเป็นผู้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน
แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ อ. เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8568/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินทดแทนกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน: การอุทธรณ์ต้องห้าม & การพิจารณาพยานหลักฐานทางการแพทย์
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 และมีหนังสือยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภาซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นผู้รับเงินทดแทนแทนโจทก์ การที่จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 มีหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาปฏิเสธการจ่ายเงิน ส. ผู้ทำการแทนนายจ้างอุทธรณ์คำสั่ง ดังนี้ แม้จำเลยจะได้แจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนไปยังผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 และในวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 แต่เมื่อหนังสือยินยอมที่โจทก์มีถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์เพียงแต่ยินยอมให้องค์การค้าของคุรุสภารับเงินทดแทนได้โดยตรงจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 เท่านั้น โดยไม่มีข้อความใด ๆ ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภามีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน การแจ้งของจำเลยทั้งสองครั้งจึงไม่มีผลต่อโจทก์ การนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53
โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โจทก์อ้างว่าปวดบริเวณเอวเป็นอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ โดยมีเหตุเนื่องมาจากโจทก์ทำหน้าที่ตรวจสอบและวัดขนาดคุรุภัณฑ์ ซึ่งจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายคุรุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากให้แก่นายจ้าง ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นเรื่องขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตราย มิใช่ขอรับเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเจ็บป่วย จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 14 ที่การเจ็บป่วยของลูกจ้างที่สามารถรับเงินทดแทนได้จะต้องเกิดจากโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
การที่ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักระหว่างคำเบิกความของ ป. ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อผู้ตรวจรักษาโจทก์กับคำเบิกความของ ธ. ซึ่งเป็นอนุกรรมการการแพทย์คนหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งแล้ววินิจฉัยว่า คำเบิกความของ ป. น่าจะรับฟังมากกว่าและเชื่อตามคำเบิกความดังกล่าวว่าโจทก์ประสบอันตรายจากการทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยจึงมุ่งประสงค์ให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ประสบอันตรายจากการทำงานนั่นเอง อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการอุทธรณ์คดีเงินทดแทน: โจทก์มีสิทธิวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น
สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของ ศ. ลูกจ้างและก่อนถึงแก่ความตาย ศ. ไม่ได้เลี้ยงดูโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจำเลยเพียงปัญหาเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตของ ศ. เนื่องจากโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. ซึ่งจำเลยก็วินิจฉัยเฉพาะในปัญหานี้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในชั้นพิจารณาของจำเลยจึงไม่มีปัญหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ศ. มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. หรือไม่อันเป็นปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยมาด้วยว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ศ. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จะรื้อฟื้นเรื่องโจทก์เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับเงินทดแทนของลูกจ้างที่ประสบอันตรายและการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 25 ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแล้วขอรับเงินทดแทนคือจากสำนักงานประกันสังคมได้ มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานประกันสังคมจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการแพทย์ให้โจทก์และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 52 เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53 เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างผู้ประสบอันตรายในการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทน แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ มาตรา 25 บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ได้ทดรองจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนคืนจากสำนักงานประกันสังคมได้ หาใช่บทบัญญัติที่จะตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายตามมาตรา 49 แต่ประการใด เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้ประสบอันตรายได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลยตามมาตรา 49 และนายจ้างได้แจ้งการประสบอันตรายของโจทก์ต่อจำเลยตามมาตรา 48 แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งมติของคณะอนุกรรมการการแพทย์ให้โจทก์ และนายจ้างของโจทก์ทราบแล้ว แม้นายจ้างของโจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 52 แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วอันเป็นการใช้สิทธิตามาตรา 52 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามมาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9195/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลจ่ายเงินทดแทนเมื่อถอนฟ้อง: ศาลไม่มีอำนาจจ่ายเงินให้ลูกจ้าง ต้องคืนให้ผู้วางเงิน
ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 53 วรรคสามศาลจะมีอำนาจจ่ายเงินที่ผู้นำคดีไปสู่ศาลวางไว้ต่อศาลให้แก่สำนักงานเพื่อให้สำนักงานจ่ายเงินทดแทนดังกล่าวแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ต่อไปได้ก็เฉพาะแต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ผู้นำคดีไปสู่ศาลจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจจ่ายเงินที่โจทก์วางไว้ต่อศาลแก่สำนักงานเพื่อให้สำนักงานจ่ายให้แก่ ช. ลูกจ้างต่อไปได้ ชอบที่จะคืนให้โจทก์