คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 144

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ค้ำประกันในสัญญาจ้างแรงงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน พ.ศ.2551
ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 (ประกาศฉบับปัจจุบัน) ที่ออกโดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 10 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 กำหนดว่า ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศฉบับเดิมปี 2541 ที่ถูกยกเลิก ไม่ได้จำกัดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ ขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันนี้ ข้อ 10 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่นนี้ เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับ ข้อ 12 กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับปัจจุบันด้วย นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรับผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและประกาศดังกล่าวกำหนด
เมื่อประกาศฉบับปัจจุบันลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว โดยในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะต้องพิจารณาว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อนายจ้างเกิดมีขึ้นในวันใด หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดมีขึ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551อันเป็นวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนกรณีหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นตั้งแต่หรือหลังจากวันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะถูกจำกัดไว้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของลูกจ้างที่ได้รับ อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นการแน่นอน กรณีนี้จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษนี้ โดยให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น
แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดในการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ แต่เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขายทำให้สินค้าแต่ละรายการสูญหายไปเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลให้ไม่ทราบว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เกิดมีขึ้นในช่วงขณะประกาศฉบับใดมีผลบังคับใช้ การตีความใช้กฎหมายจำต้องกระทำไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน โดยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นประกาศฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามช่วงเวลาที่กระทำผิด
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นนายจ้างของลูกจ้างผู้มีชื่อจำนวน 55 คน ได้กระทำผิดด้วยการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างดังกล่าว จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์บรรยาย มาในคำฟ้อง จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงให้ผิดไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพแล้วไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็เป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับจึงต้องปรับบทให้ถูกต้องตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะกระทำความผิด