คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อัจฉรา วริวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2451/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญาจำนองเป็นเอกสารมหาชน โจทก์มีสิทธิได้ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานความถูกต้อง และจำเลยมีภาระพิสูจน์ความไม่บริบูรณ์
หนังสือสัญญาจำนองที่ดินมีข้อความว่า ถือสัญญาจำนองนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วยและผู้จำนองได้รับเงินเป็นการเสร็จแล้ว แม้การกู้ยืมเงินเข้าลักษณะเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองที่ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 650 วรรคสอง แต่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ถึงความไม่บริบูรณ์ของการกู้ยืมเงินตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารขึ้นต่อสู้โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงความไม่บริบูรณ์ของการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนคำให้การของตน ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของฝ่ายโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 การที่โจทก์ไม่นำสืบหลักฐานการจ่ายเงินกู้ยืมให้แก่จำเลย จึงหาเป็นเหตุผลเพียงพอถึงกับจะทำให้ฟังว่าการกู้ยืมเงินไม่บริบูรณ์ไม่
โจทก์มีคำขอในส่วนของการบังคับจำนองว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์จำนอง รวมตลอดทั้งยึดและอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน โดยสัญญาจำนองที่ดินไม่มีข้อตกลงว่า หากมีการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ผู้จำนองยังจะต้องรับผิดชำระเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่จนครบถ้วน กรณีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 733 ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่ โจทก์จึงไม่อาจมีคำขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกที่เป็นทายาท ทำนิติกรรมโอนมรดกไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น
บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1722 ที่ว่าผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะอนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล เป็นกรณีที่ใช้บังคับเฉพาะผู้จัดการมรดกที่มิได้เป็นทายาท แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลแล้วยังเป็นหนึ่งในทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ส. การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. ให้แก่ตนเองเป็นส่วนตัวในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทด้วย จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทหรือได้รับอนุญาตจากศาล จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันเป็นการปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 อันจะมีผลทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1589/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยต้องพิสูจน์การครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ต่อเนื่อง 10 ปี
ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่า เดิมที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 2 คัดค้านเป็นของ พ. ที่ขายให้จำเลยที่ 1 และ อ. โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วบุคคลทั้งสองยกให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยที่ 2 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่มาของการที่จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทในโฉนดที่ดินของ พ. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี ก็อาจได้กรรมสิทธิ์จากการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 มาแต่ต้น อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เองได้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกจำเลยร่วมเพื่อไล่เบี้ยจากผู้ขนส่งหลายทอด และอายุความของสิทธิเรียกร้อง
คำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากตนเองต้องแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) นั้น ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยและให้เข้าร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ด้วยเท่านั้น จำเลยไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่จำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดี ไม่เป็นฟ้องซ้อนนั้นชอบแล้ว
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายของสินค้าที่ส่งต่อโจทก์ซี่งเป็นผู้ส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมที่ 1 ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 คำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดีเป็นการใช้สิทธิของจำเลยเพื่อไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มิใช่เป็นคำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
การใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเป็นผู้ขนส่งหลายทอดด้วยกันนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกฟ้องแม้คดีมีมูลเดิม หากพิจารณาแล้วไม่เป็นความผิด
แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้มีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดแล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ได้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหารับของโจร เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์โจทก์ในส่วนความผิดข้อหาลักทรัพย์กับข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ตายและจำเลยร่วมกันลักโฉนดที่ดินทั้งสี่แปลง และรับฟังไมได้ว่ามีการลักสมุดเช็คตามฟ้องเกิดขึ้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมหรือสนับสนุนผู้ตายลักทรัพย์ในวัตถุแห่งการกระทำเดียวกัน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในส่วนความผิดข้อหารับของโจรว่าที่จำเลยครอบครองโฉนดที่ดินและสมุดเช็คดังกล่าวต่อมาย่อมไม่เป็นความผิด เพราะความผิดฐานข้อหาของโจรตามฟ้องต้องเกิดขึ้นภายหลังการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์ชอบที่ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 170 และไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีขับไล่: ศาลอุทธรณ์พิพากษาผิดฐานตัดสินเกินคำฟ้อง ต้องกลับคำพิพากษาเดิม
คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 เนื้อที่ 138 ตารางวา ที่พิพาท และบ้านเลขที่ 5 ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ซึ่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 เป็นของโจทก์ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในคดีนี้อีก แต่คดีนี้มิได้เสร็จไปเพียงประเด็นข้างต้น หากยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 กับเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพียงใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์พิพาท