คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 77/1 (18)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนน้ำมันระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขา ไม่ถือเป็นการขาย ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการต่างสถานะ
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการคำนวณภาษีซื้อและภาษีขายตามมาตรา 82/3 ต้องมีสถานะเป็นบุคคลตามมาตรา 77/1 (1) ซึ่งภาษีซื้อและภาษีขายย่อมต้องเกิดขึ้นจากการขายระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1 (17) และ (18) เมื่อสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาต่างเป็นสถานประกอบกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันอยู่ในฐานะเป็นบุคคลเดียวกัน การโอนน้ำมันจากสำนักงานใหญ่ไปยังสำนักงานสาขาจึงเป็นเพียงการจัดการกิจการภายในของโจทก์เอง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำนักงานใหญ่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้แก่สำนักงานสาขา และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6341/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม: การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนจดทะเบียน และสิทธิในการนำมาหักเป็นภาษีซื้อ
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3, 82/4 และ 83 เฉพาะผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีถ้ามีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อผู้ประกอบการนั้นต้องชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายให้เป็นเครดิตภาษีและผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษีหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ส่วนผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ จึงไม่มีภาษีขาย ขณะเดียวกันภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไปหรือที่มีหน้าที่นำส่งก็ไม่ถือเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการนั้นเช่นกัน ผู้ประกอบการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่อาจใช้วิธีคำนวณภาษีโดยการนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อดังเช่นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงนำมาเป็นภาษีซื้อเพื่อคำนวณหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีในภายหลังเมื่อผู้ประกอบการได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่ได้
โจทก์จ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการในต่างประเทศและมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 โจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายค่าบริการ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีหน้าที่นำส่งนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ 17 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้โจทก์จะนำส่งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546 หลังจากวันที่โจทก์ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วก็ไม่ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นภาษีซื้อซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะมีสิทธินำมาหักจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีได้ ฉะนั้น โจทก์จึงนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์นำส่งในวันที่ 7 มีนาคม 2546 มาเป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีมีนาคม 2546 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิคำนวณภาษีซื้อย้อนหลังได้หรือไม่ ฎีกาวินิจฉัยว่าไม่มีสิทธิ
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของโจทก์ย่อมมีผลนับแต่วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำภาษีซื้อมาเครดิต ยืนตามกฎหมายที่กำหนดวันจดทะเบียนเป็นสำคัญ
ป.รัษฎากรฯ หมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนที่ 9 การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกผู้ประกอบการไว้เป็น 2 ประเภท บ่งชี้ว่ากฎหมายต้องการให้ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งสองประเภทมีผลนับแต่วันที่ระบุไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกัน โจทก์เป็นผู้ประกอบการประเภทที่ 2 ความเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนของโจทก์ไม่อาจมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่เกณฑ์รายได้ของโจทก์สูงถึงขนาดที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการ เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมโดยอัตโนมัติ การที่กฎหมายกำหนดให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม เป็นแต่เพียงกำหนดวันเวลาในการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีและการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ยื่นคำขอจดทะเบียน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตลอดจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตลอดจนยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ให้ถูกต้องต่อไปเท่านั้น เมื่อโจทก์เพิ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 14 กันยายน 2541 ภาษีซื้อค่ากระแสไฟฟ้าระหว่างเดือนภาษีมกราคม 2540 ถึงเดือนภาษีสิงหาคม 2541 จึงมิใช่ภาษีซื้อที่โจทก์ซึ่งยังมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 ประกอบมาตรา 77/1 (18) และมาตรา 82/4 วรรคสี่ แม้ว่าโจทก์จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากซื้อสินค้าหรือรับบริการมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของโจทก์แล้วก็ตาม โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมาคำนวณในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เงินเพิ่มที่จำเลยประเมินเรียกเก็บจากโจทก์เกิดจากการที่โจทก์ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 89/1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมิได้ประเมินภาษีคลาดเคลื่อน ผิดวิธีการ หลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ ของ ป.รัษฎากรฯ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่งดหรือลดเงินเพิ่มจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9772/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำใบกำกับภาษีระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขามาใช้ผิดประเภท และการงดเบี้ยปรับเมื่อผู้เสียภาษีเข้าใจผิด
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสี่,87 และ 86วรรคหนึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้แยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการทั้งยังต้องการที่จะควบคุมและตรวจสอบได้โดยสะดวก จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานภาษีขายรายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้า เป็นรายสถานประกอบการ โดยต้องลงรายการในรายงานภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้มาหรือจำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าเมื่อสถานประกอบการอยู่ต่างกัน ใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าจึงต้องแยกออกเป็นรายสถานประกอบการ ฉะนั้น ใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าย่อมจะต้องแยกเป็นของแต่ละสถานประกอบการเช่นเดียวกันจะนำมาปะปนกันเพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหาได้ไม่ เพราะจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อของแต่ละสถานประกอบการในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่63,66,70,73,76,80,84,86 ประกอบบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 64,67,71,74,77,81,83,87โดยใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพาสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มระบุที่อยู่ของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ไว้โดยชัดแจ้ง ดังนั้นใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/10(1) ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 62,65,69,72,75,79,82 และ 85เนื่องจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเป็นกำกับภาษี อันเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งใหญ่ของโจทก์ ตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 86/14 และมาตรา 77/1(18)(ก) บัญญัติไว้แม้สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่และสถานประกอบการของโจทก์จะเป็นสถานประกอบการของนิติบุคคลเดียวกัน แต่เมื่อมีการจดทะเบียนเป็นหลายสถานประกอบการแล้ว ย่อมแยกการซื้อขายการนำเข้า การส่งออกการให้บริการ ออกเป็นของแต่ละสถานประกอบการได้ โจทก์จึงต้องนำไปคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์ตั้งอยู่ กับต้องนำไปลงรายการในรายงานภาษีซื้อของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม บัญญัติไว้ฉะนั้นโจทก์จึงนำใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่62,65,69,72,75,79,82 และ 85 ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีอันเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาของโจทก์ไม่ได้ เพราะเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบจึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีของสถานประกอบการสาขาโดยแสดงจำนวนภาษีไม่ถูกต้องมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อของสถานประกอบการสาขาในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88(2) มาตรา 89(3) และมาตรา 89/1 การที่โจทก์นำใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานประกอบการสำนักงานแห่งใหญ่ของโจทก์มาใช้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานประกอบการสาขาของโจทก์นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายผิดไปว่าสามารถนำใบกำกับภาษีอันเป็นภาษีซื้อของโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียวกันไปใช้ในการคำนวณภาษีด้วยการหักจากภาษีขายได้ จึงได้ปฏิบัติการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีมีข้อผิดพลาดดังกล่าว โจทก์หาได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือทำให้จำเลยได้รับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์น้อยไปจากวิธีการที่โจทก์จะปฏิบัติโดยถูกต้องทั้งสองสถานประกอบการแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงมีเหตุสมควรงดเบี้ยปรับแก่โจทก์ การที่โจทก์จะต้องชำระเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89/1 นั้น เนื่องจากโจทก์ไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วน 7มาตรา 83 วรรคสอง จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับโดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีจนถึงวันชำระภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระ เงินเพิ่มนี้แม้จะเป็นภาษีอากรประเมินแต่ประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 ก็มิได้บัญญัติให้งดหรือลดลงได้ดังเช่นที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 89 วรรคท้าย บัญญัติให้อำนาจในการงดหรือลดเบี้ยปรับลงได้ไว้ ศาลจึงไม่มีอำนาจงดหรือลดเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1 ได้..LONG