คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ม. 7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5453/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีสรรพสามิต: สถานบริการที่ไม่มีฟลอร์เต้นรำ แต่มีลักษณะคล้ายไนท์คลับ ต้องเสียภาษี
โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีสรรพสามิตสำหรับปี 2546 ถึงปี 2551 คดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทกันตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตเท่านั้น การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นสถานบริการตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ไว้เป็นที่ชัดเจนแล้ว โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกันและมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
แม้สถานประกอบการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะการประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาใช้เป็นสถานที่ให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ โดยการให้บริการของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นสถานที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ ซึ่งเปิดในเวลากลางคืน มีดนตรี มีการแสดง และขายอาหารกับเครื่องดื่มด้วย อันมีลักษณะแตกต่างจากร้านอาหารหรือภัตตาคารโดยทั่วไป อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้โจทก์ยังมีวัตถุที่ประสงค์ว่า ประกอบกิจการภัตตาคาร ห้องอาหาร บาร์ ไนท์คลับ ดังนั้น สถานประกอบการของโจทก์จึงจัดอยู่ในพิกัดลักษณะบริการประเภท 09.01 ไนต์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเข้าข่ายเป็น 'การผลิต' และต้องเสียภาษีสรรพสามิต
การจะวินิจฉัยถึงความหมายของเครื่องปรับอากาศนั้น ต้องวินิจฉัยตามคำนิยามในกฎหมาย เมื่อไม่มีบัญญัติในกฎหมายจึงจะถือเอาความหมายตามพจนานุกรม
พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ได้กำหนดสินค้าเครื่องปรับอากาศไว้ในตอนที่ 3 เครื่องไฟฟ้า ประเภทที่ 03.01 ว่า เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กำหนดให้อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตามหลักเกณฑ์ในประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งอธิบดีกรมสรรพสามิตได้ตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิตเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศไว้ โดยกำหนดให้แผนคอยล์ยูนิต (ส่วนที่อยู่ในอาคาร) ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอนเดนซิ่งยูนิต (ส่วนที่อยู่นอกอาคาร) ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอมเพรสเซอร์ เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภท 03.01 แฟนคอยล์ยูนิตและคอนเดนซิ่งยูนิตแต่ละส่วนจึงเป็นเครื่องปรับอากาศโดยมิต้องประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อโจทก์จำหน่ายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศซึ่งประกอบด้วยโครงแฟนคอยล์ มอเตอร์โบลว์ โครงคอนเดนซิ่ง และคอมเพรสเซอร์จึงเป็นการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ
โจทก์มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับจ้างติดตั้ง และรับประกอบเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นทุกชนิด การที่โจทก์แยกขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศครบชุดซึ่งสามารถประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศที่ครบชุดบริบูรณ์ได้ให้แก่ลูกค้ารายเดียวกันภายในเดือนเดียวกัน แสดงถึงความมุ่งหมายของโจทก์ที่จะขายเครื่องปรับอากาศครบชุดบริบูรณ์ ทั้งโจทก์ก็มีเครื่องปรับอากาศที่ประกอบครบชุดบริบูรณ์แล้วอยู่ในสถานประกอบการของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าเครื่องปรับอากาศ อันเป็นการผลิตสินค้าและสถานประกอบการของโจทก์ก็เป็นสถานที่ผลิตสินค้า ถือเป็นโรงอุตสาหกรรม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม เมื่อโจทก์จำหน่ายเครื่องปรับอากาศหรือนำสินค้าเครื่องปรับอากาศออกจากโรงอุตสาหกรรม ย่อมมีความรับผิดต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4 , 7 , 10 (1) (ก) และ 10 (1) วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 , 4 และ 5 ตามลำดับ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
โจทก์ขายสินค้าเครื่องปรับอากาศไปโดยเสียภาษีสรรพสามิตยังไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตมีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียภาษีสรรพสามิตให้ถูกต้องได้ การประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ได้คัดค้านการประเมินของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ขอทุเลาการชำระภาษี การคัดค้านและการอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการชำระภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 97 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจอายัดทรัพย์สินของโจทก์เพื่อชำระภาษีสรรพสามิตที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีสรรพสามิตกรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักร และฐานภาษีตามราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม
ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดเมื่ออ่านรวมกันแล้วก็คือโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีสรรพสามิต ของเจ้าพนักงานสรรพสามิตไม่ชอบนั่นเอง ประเด็นในชั้นอุทธรณ์จึงมีว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ในการพิจารณาปัญหานี้จำเป็นที่ศาลจะต้องพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายในเรื่องการเสียภาษีสรรพสามิตว่ามีอยู่อย่างไร คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรที่พิจารณาพิพากษาถึงภาษีสรรพสามิตจึงเป็นเรื่องอยู่ในประเด็น หาใช่เป็นการพิจารณาพิพากษานอกประเด็นไม่ คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 เป็นคำสั่งที่อธิบดีกรมสรรพสามิตออกเพื่อตีความว่า สิ่งใดบ้างเป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 03.01 ในกรณีที่มีผู้นำของเข้ามา ซึ่งจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตในขณะนำเข้าโดยกฎหมายถือว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตนั้นเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ส่วนฐาน ในการคำนวณภาษีคือ มูลค่าที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7 มาตรา 8 บัญญัติไว้ กล่าวโดยสรุปมาตรา 7 เป็นการวางหลักว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการนั้นตามอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ใช้อยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้นส่วนมาตรา 8 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณภาษี หรือวิธีการ หาฐานภาษีนั่นเอง โดยแยกออกเป็นกรณี ๆ ไป ได้แก่กรณีสินค้า ที่ผลิตในราชอาณาจักร กรณีสินค้านำเข้า และกรณีบริการ กรณีของโจทก์โจทก์สั่งชิ้นส่วนของเครื่องปรับอากาศเข้ามา แล้วโจทก์จึงมาสั่งคอมเพรสเซอร์มาประกอบเข้ากับชิ้นส่วน ที่นำเข้า ขายเป็นเครื่องปรับอากาศรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอก อีกต่อหนึ่ง ถือเป็นกรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักรตามความหมายของคำว่าผลิต ที่ระบุไว้ ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 การคำนวณค่าภาษีต้องเป็นไปตามมาตรา 8(1) คือ ถือตามราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ซึ่งโจทก์รับอยู่แล้วว่า ต้องมีชิ้นส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากที่สั่งเข้ามา จึงจะประกอบ เป็นเครื่องปรับอากาศได้ เพราะฉะนั้นราคาของเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่องที่โจทก์ขายจึงต้องมีราคาทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมราคาขายจึงต้องสูงขึ้น เมื่อโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานตรวจสอบพบก็มีอำนาจประเมินใหม่ให้ถูกต้องได้โจทก์จะอ้างว่าได้เสียภาษีสรรพสามิตไปแล้วตอนนำเข้าตามคำสั่งที่ 41/2535 จึงไม่ต้องเสียอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีสรรพสามิตสินค้าผลิตในราชอาณาจักร: คำนวณจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม
ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดเมื่ออ่านรวมกันแล้วก็คือ โจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีสรรพสามิตของเจ้าพนักงานสรรพสามิตไม่ชอบนั่นเอง ประเด็นในชั้นอุทธรณ์จึงมีว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบหรือไม่ในการพิจารณาปัญหานี้จำเป็นอยู่ที่ศาลจะต้องพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายในเรื่องการเสียภาษีสรรพสามิตว่ามีอยู่อย่างไร คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางที่พิจารณาพิพากษาถึงภาษีสรรพสามิตจึงเป็นเรื่องอยู่ในประเด็น หาใช่เป็นการพิจารณาพิพากษานอกประเด็นดังโจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่
คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 เป็นคำสั่งที่อธิบดีกรมสรรพสามิตออกเพื่อตีความว่า สิ่งใดบ้างเป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ 03.01 ในกรณีที่มีผู้นำของเข้ามา ซึ่งจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตในขณะนำเข้าโดยกฎหมายถือว่าความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตนั้นเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ส่วนฐานในการคำนวณภาษีคือ มูลค่าที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องเสียภาษีนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2527มาตรา 7 มาตรา 8 บัญญัติไว้ กล่าวโดยสรุป มาตรา 7 เป็นการวางหลักว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่เสียภาษีตามมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการนั้นตามอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ใช้อยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียภาษีเกิดขึ้น ส่วนมาตรา 8 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณภาษี หรือวิธีการหาฐานภาษีนั่นเอง โดยแยกออกเป็นกรณี ๆ ไป ได้แก่กรณีสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร กรณีสินค้านำเข้าและกรณีบริการ
โจทก์สั่งชิ้นส่วนของเครื่องปรับอากาศเข้ามา แล้วโจทก์จึงมาสั่งคอมเพรสเซอร์มาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนที่นำเข้า ขายเป็นเครื่องปรับอากาศรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอกอีกต่อหนึ่ง ถือเป็นกรณีสินค้าผลิตในราชอาณาจักรตามความหมายของคำว่า ผลิต ที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตพ.ศ.2527 การคำนวณค่าภาษีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 (1) คือ ถือตามราคาขายณ โรงอุตสาหกรรม ซึ่งโจทก์รับอยู่แล้วว่าต้องมีชิ้นส่วนต่าง ๆ นอกเหนือจากที่สั่งเข้ามา จึงจะประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศได้ เพราะฉะนั้นราคาของเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่องที่โจทก์ขายจึงต้องมีราคาทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม ราคาขายจึงต้องสูงขึ้น เมื่อโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานตรวจสอบพบก็มีอำนาจประเมินใหม่ให้ถูกต้องได้ โจทก์จะอ้างว่าได้เสียภาษีสรรพสามิตไปแล้วตอนนำเข้าตามคำสั่งที่ 41/2535 จึงไม่ต้องเสียอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นั่งหรือไม่: การตีความลักษณะรถยนต์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
รถยนต์ที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรยี่ห้อโฟล์คสวาเกนรุ่นกอล์ฟ แบบ 3 ประตูห้องโดยสารด้านหลังปิดทึบหมดไม่มีกระจก โดยนำแผ่นเหล็กมาเชื่อมติดกับตัวถึงแล้วนำยางมาติดไว้ตรงรอยเชื่อม หากตัดแผ่นเหล็กที่เชื่อมในลักษณะเป็นรูปหน้าต่างออกและนำเบาะหลังไปใส่ไว้ ก็จะมีสภาพเช่นเดียวกับรถโฟล์คสวาเกนรุ่นกอล์ฟ แบบ 3 ประตูจึงเป็นรถยนต์นั่งตามคำจำกัดความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้ายพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 มิใช่รถยนต์บรรทุกชนิดแวน จึงต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 05.01

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถยนต์โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ แบบ 3 ประตู เข้าข่ายเป็นรถยนต์นั่งเสียภาษีสรรพสามิต ไม่ใช่รถกระบะ
การพิจารณาว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นั่งที่ต้องเสียภาษี-สรรพสามิตหรือเป็นรถยนต์กระบะ (รถบรรทุกชนิดแวน) ที่ไม่ต้องเสียภาษี-สรรพสามิตนั้นจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2534มาตรา 4 และตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534 ตอนที่ 5 รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกนตรงท้ายรถด้านหลังมีอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า GOLF CL ลักษณะที่นั่งตอนหน้าเป็นเบาะคู่ มีที่นั่งคนขับ 1 ที่นั่งและที่นั่งผู้โดยสารอยู่ติดกับที่นั่งคนขับ บริเวณตัวถังด้านข้างทั้งสองด้านของรถมีแผ่นเหล็กเชื่อมติดตายเป็นแผ่นทึบ ส่วนของหลังคาเป็นเหล็กชิ้นเดียวกันตลอดทั้งคัน ส่วนท้ายของรถเป็นประตูชิ้นเดียวเปิดยกขึ้น โดยส่วนบนของประตูเป็นกระจก ส่วนล่างเป็นแผ่นเหล็ก ภายในตัวรถแบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนหน้าเป็นที่นั่งคนขับ ด้านหลังไม่มีที่นั่งผู้โดยสาร แต่เป็นพื้นไม้อัดแผ่นเรียบระหว่างที่นั่งตอนหน้าและส่วนพื้นด้านหลังมีแผ่นเหล็กกั้น ภายในรถตอนท้ายมีวัตถุทำด้วยไฟเบอร์บุตัวถังเหมือนรถยนต์นั่งทั่วไป โดยสามารถใช้เป็นที่วางแขนผู้นั่งตอนหลังได้และส่วนที่เป็นพื้นไม้ หากถอดออกไปสามารถนำเบาะที่นั่งมาติดตั้งได้ทันทีเนื่องจากตัวถังทำขึ้นเพื่อใช้รองรับเบาะที่นั่งและมีพนักพิงสำหรับผู้โดยสารที่นั่งตอนหลังอยู่แล้ว สำหรับแผ่นเหล็กที่กั้นอยู่ด้านหลังคนขับไม่มีลักษณะถาวร เพราะยึดติดด้วยนอตข้างละ 1 ตัว สามารถถอดออกได้ง่าย ตำแหน่งของห้องโดยสารตอนหลัง ด้านข้างมีรูเจาะไว้เพื่อยึดติดเข็มขัดนิรภัยสำหรับที่นั่งตอนหลัง ภายในรถทั้งตอนหน้าและตอนหลังกรุด้วยไฟเบอร์ที่ผนังมีลักษณะเหมือนรถยนต์นั่งทั่วไป บริเวณผนังรถตอนท้ายซึ่งเชื่อมด้วยแผ่นเหล็กตรงตำแหน่งซึ่งควรจะเป็นหน้าต่างของรถยนต์นั่งทั่วไปยังมีขอบยางติดอยู่ หากตัดแผ่นเหล็กออกสามารถนำกระจกติดตั้งแทนแผ่นเหล็กได้ จากลักษณะรถยนต์พิพาทดังกล่าวมาเป็นที่เห็นได้ว่า รถยนต์พิพาทมิใช่รถยนต์กระบะตามความหมายที่ระบุไว้ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเนื่องจากรถยนต์พิพาทมีหลังคาปิดตลอดทั้งคัน และรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน รุ่นกอล์ฟ ที่มีการผลิตจำหน่ายเป็นรถยนต์นั่งมีทั้งแบบรุ่น 3 ประตู และ 5 ประตู รถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน รุ่นกอล์ฟ แบบ 3 ประตู คงมีข้อแตกต่างจากรถยนต์รุ่นเดียวกันโดยห้องโดยสารด้านหลังของรถยนต์พิพาทปิดทึบหมด ไม่มีกระจก แต่ตัวถังด้านท้ายรถยนต์พิพาทบริเวณที่มีลักษณะคล้ายหน้าต่างเป็นการนำแผ่นเหล็กมาเชื่อมติดกับตัวถังแล้วนำยางมาติดไว้ตรงรอยเชื่อม หากนำรถยนต์พิพาทมาตัดแผ่นเหล็กที่เชื่อมในลักษณะเป็นรูปหน้าต่างออก และนำเบาะหลังไปใส่ไว้ รถยนต์พิพาทก็จะมีสภาพเช่นเดียวกับรถโฟล์คสวาเกน รุ่นกอล์ฟ แบบ 3 ประตู แสดงว่าโครงสร้างของรถทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกับรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน รุ่นกอล์ฟ แบบ 3 ประตูรถยนต์พิพาททั้งสองคันจึงเป็นรถยนต์นั่งตามคำจำกัดความที่หมายความว่ารถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกันตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น รถยนต์พิพาทจึงมิใช่รถยนต์กระบะ (รถบรรทุกชนิดแวน) แต่เป็นรถยนต์นั่งตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตประเภทที่ 05.01 ท้าย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2534