คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 121 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดงานโดยจงใจเลือกปฏิบัติขัดขวางสหภาพแรงงาน มิใช่การปิดงานตามกฎหมาย
แม้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมด นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับคดีนี้การที่โจทก์ปิดงานเฉพาะลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. และผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกจ้างโจทก์คนใดบ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. หรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้น เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน บ. ซึ่งแจ้งข้อเรียกร้อง โดยสหภาพแรงงาน บ. มีสมาชิกประมาณ 125 คน จากลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดประมาณ 200 คน ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ที่ถือว่าเป็นผู้ร่วมแจ้งข้อเรียกร้องด้วยนั้น โจทก์สามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคสาม โจทก์จึงมีหนทางที่จะทราบว่าลูกจ้างคนใดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ แต่โจทก์ก็หาได้ขวนขวายที่จะตรวจสอบไม่ และการที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์ปิดงานเฉพาะผู้แทนการเจรจาของสหภาพแรงงาน บ. เนื่องจากไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการเจรจาสหภาพแรงงาน บ. ส่งผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้างรวม 7 คน แต่โจทก์กลับเลือกปิดงานเฉพาะกับลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานอันถือเป็นการปิดงานตามนิยามคำว่า "การปิดงาน" ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติใช้การปิดงานโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ลูกจ้างทั้ง 5 คน ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่สหภาพแรงงาน บ. ได้ยื่นข้อเรียกร้องและเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1) และ (4) การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมของสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ นายจ้างมีสิทธิควบคุมดูแลได้หากไม่มีข้อตกลง
การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมของสหภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างนั้นหากไม่มีข้อกำหนดในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ก็ควรมีการควบคุมบ้างพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องลักษณะการใช้ถ้อยคำและสถานที่เพราะสถานประกอบกิจการเป็นของนายจ้างซึ่งมีสิทธิขาดบริบูรณ์ในสถานที่นั้นการที่นายจ้างออกคำสั่งห้ามมิให้สหภาพแรงงานเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมภายในสถานที่ของตนโดยกำหนดให้สหภาพแรงงานส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่องลักษณะที่จะดำเนินงานให้นายจ้างพิจารณาอนุญาตก่อนจึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่และไม่เป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานตามความหมายของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา121(4)(5) ตราบใดที่คำสั่งห้ามของนายจ้างดังกล่าวยังมีผลอยู่ตลอดเวลาถือว่าการฝ่าฝืนย่อมมีตลอดมาทุกวันโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อยู่ตราบนั้นการนับเวลา60วันตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา124จึงจะเริ่มนับแต่วันที่มีคำสั่งเป็นวันเริ่มต้นเพียงวันเดียวหาได้ไม่.