คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 98 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสหภาพแรงงานแทนสมาชิก: สัญญา, วัตถุประสงค์, มติที่ประชุม, และการมอบอำนาจ
โจทก์ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานฟ้องว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีต่อกัน กรณีดังกล่าวจึงไม่จำต้องให้สมาชิกของโจทก์มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีแทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 36 บทบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานซึ่งตนเป็นสมาชิกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานแทนลูกจ้างผู้นั้นได้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นการตัดสิทธิไม่ให้สหภาพแรงงานฟ้องคดีในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะ โจทก์มีวัตถุที่ประสงค์ตามข้อบังคับ ข้อ 5 (1) ว่า เพื่อการแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (2) กำหนดให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงานและที่ประชุมใหญ่มีมติให้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลย อันเป็นไปตามมาตรา 103 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องแทนสมาชิกของโจทก์ได้
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 เป็นเพียงข้อกำหนดให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นนิติบุคคลดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยทางผู้แทนทั้งหลายที่เรียกว่าคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้มีมาตราอื่นใดของพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินกิจการใด ๆ ได้ต้องอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการทุกคน เมื่อข้อบังคับของโจทก์ได้กำหนดเรื่องการเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกไว้ใน ข้อ 20 ว่า คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุม และเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก... และเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการ ในข้อ 27 วรรคสาม ว่า ... การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก...การที่โจทก์มีกรรมการทั้งหมด 11 คน แม้ขณะฟ้องกรรมการโจทก์จะเหลืออยู่เพียง 8 คน ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากตามข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจโดยชอบที่จะมอบอำนาจให้ ส. หรือ ท. หรือ น. ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สหภาพแรงงานฟ้องคดีต้องมีมติที่ประชุมใหญ่ก่อน หากมีผลกระทบต่อสิทธิสมาชิกเป็นส่วนรวม
แม้โจทก์ซึ่งเป็น สหภาพแรงงานฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา98(2)แต่ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็น นายจ้างให้ต้องปฏิบัติตามอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกเป็นส่วนรวมซึ่งมาตรา103(2)บัญญัติให้กระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งมุ่งหมายให้มีการทบทวนและไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผ่าน มติที่ประชุมใหญ่ก่อนที่จะดำเนินการเมื่อโจทก์ ฟ้องคดีโดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่จึงไม่มี อำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสหภาพแรงงานต้องได้รับมติจากที่ประชุมใหญ่ แม้การฟ้องเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก
โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานโดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่ แม้การฟ้องคดีเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ตามมาตรา 98 (2) แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่การฟ้องคดีนี้ไม่เพียงแต่ศาลพิพากษาโดยการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้เถียงของคู่ความเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อันมีอยู่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพื่อหาข้อยุติเท่านั้น หากแต่การดำเนินคดีย่อมต้องใช้ความจัดเจนในการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและถูกต้อง นอกจากนี้โจทก์จำเลยยังอาจทำการประนีประนอมยอมความกันให้ผิดแผกไปจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำไว้ก็ได้ ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้ต้องปฏิบัติตาม อันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกเป็นส่วนรวม ซึ่งตามมาตรา 103 (2) แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บัญญัติว่า สหภาพแรงงานจะกระทำการได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ในกรณีดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวนี้มุ่งหมายให้มีการทบทวนและไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผ่านมติที่ประชุมใหญ่เสียก่อนที่จะดำเนินการ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่มีมติของที่ประชุมใหญ่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 773/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องในคดีแรงงาน: สัญญาเดิมผูกพันเฉพาะคู่สัญญาเดิม แม้มีการโอนกิจการ
จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโจทก์จะปรับปรุงโบนัสและสวัสดิการ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แยกจากจำเลยที่ 2มาตั้งเป็นบริษัทใหม่ รับโอนกิจการและพนักงานบางส่วนมาจากจำเลยที่ 2 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีเฉพาะจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1จะรับโอนกิจการบางแผนกพร้อมลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มาแต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องผูกพันตามบันทึกข้อตกลงนั้นกับโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างของจำเลยทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าลูกจ้างจำนวนมากมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะจ่ายเงินโบนัสเท่ากับลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับได้ ส่วนลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกของโจทก์ที่จำเลยที่ 1ได้รับโอนมาและทำสัญญารับโอนพนักงานกับลูกจ้างนั้น โจทก์มิได้ตั้งรูปฟ้องโดยอาศัยสัญญานั้นเป็นหลักแห่งข้อหา จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98(2) หรือไม่