คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
กีรติ วรพุทธพงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินบางส่วนที่เป็นมรดก และเรียกค่าเสียหายจากการให้เช่าโดยไม่ได้รับความยินยอม
ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 ให้อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ การสละมรดกของผู้เยาว์เป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น การที่โจทก์ทั้งสามสละมรดกที่ดินพิพาทโดย ส. มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกตกลงสละมรดกของผู้ตายไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์ ส. จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำบันทึกข้อตกลง ตามมาตรา 1574 (2) (4) ไม่ปรากฏว่า ส. ได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำบันทึกข้อตกลงแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลงที่ ส. ทำไว้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามไม่เป็นการสละมรดกที่ดินพิพาท
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตาย เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้สละมรดก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคาร ก. แล้วนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 3 จัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตามความต้องการ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการถือที่ดินพิพาทไว้แทน ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายจึงยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย
การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับ ป. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. หรือแก่บุคคลที่ ป. กำหนด โดยทายาทคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย และทำไปเพื่อต้องการให้ ป. ไปถอนฟ้องคดีอาญาจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอก เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะกระทำให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกได้ คงมีผลผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โดยปลอดจากภาระจำนองที่ดินทั้งแปลง เพราะการจำนองที่ดินพิพาทต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง
โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยยึดโยงจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านเลขที่ 262/1 อยู่บนที่ดินพิพาท ขณะฟ้องไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 1 นำบ้านดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่า เป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทเป็นก่อให้เกิดภาระติดพันบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาท ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามแสดงออกชัดว่า ไม่ยินยอม การให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทจึงขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายชอบที่จะใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดในส่วนของผู้ตายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายนั้นให้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดระยะเวลาให้ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายที่ดินอันเกิดจากการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มีที่มาจากบันทึกข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ทำกับทายาทของ ก. เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. ให้แก่ทายาท โดยตกลงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 8235 (เลขที่ 96870) ให้แก่โจทก์ จึงเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก อันมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคสอง โจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการมรดกโดยทั่วไปและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนภายใต้ขอบอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง และ 1745 การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกรู้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่กับโจทก์ แต่กลับมอบอำนาจให้ผู้มีชื่อไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทวันที่ 22 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เป็นเวลาหลังจากได้รับใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทเพียง 18 วัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของจำเลยที่ 1 ที่จะเอาที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและนอกขอบอำนาจของผู้จัดการมรดก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้ผู้มีชื่อไปขอใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินไม่ได้สูญหาย ใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 จึงออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้โฉนดที่ดินถูกยกเลิกไป และถือไม่ได้ว่าใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่คู่กรณีจะนำไปใช้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 63 วรรคแรกและวรรคสอง, 72 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336