คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 35

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างกรรมการกิจการสัมพันธ์และกรรมการสหภาพแรงงานต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และการฟ้องเรียกค่าเสียหายต้องมีหลักฐานความเสียหายที่แท้จริง
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า "นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้างหรือตัดค่าจ้างกรรมการกิจการสัมพันธ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เว้นแต่..." มาตรา 34 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง... ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง... ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ หรืออนุกรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่..." และมาตรา 35 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้าง (1) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้ดำเนินการขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือเข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน..." มีความหมายเพียงว่า นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างหรือลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์หากไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน และไม่อาจเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน บทบัญญัตินี้ไม่ได้คุ้มครองถึงกระบวนการก่อนการเลิกจ้างหรือก่อนการลงโทษลูกจ้างเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะขอให้ศาลแรงงานลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์ หรือลงโทษลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างแล้วแต่กรณีไป มิฉะนั้นนายจ้างย่อมไม่อาจริเริ่มกระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวน เปิดโอกาสให้โจทก์ชี้แจงแล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในการทุจริตต่อหน้าที่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน จึงมิใช่เป็นการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะโจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดังที่โจทก์อุทธรณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้