คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 226

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 698 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมและการฟ้องคดีเกินกำหนดตามวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้นๆ ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามป.อ. มาตรา 136 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนพยานเด็กเยาว์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ทำให้การฟ้องของโจทก์เป็นโมฆะ หากมีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5253/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานเดี่ยวในคดีจำหน่ายยาเสพติด - น้ำหนักพยานและข้อพิรุธในการสืบสวน
คดีนี้โจทก์มิได้อ้างและนำสายลับซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความทั้ง ๆ ที่สายลับรู้เห็นเหตุการณ์เช่นเดียวกับสิบตำรวจเอก ส. แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้มีประจักษ์พยานในคดีเพียงปากเดียว ย่อมเป็นการนำสืบพยานเดี่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกถามค้านในกรณีที่สามารถนำสืบพยานคู่ได้ คำเบิกความของสิบตำรวจเอก ส. ซึ่งเป็นพยานเดี่ยวจึงมีน้ำหนักน้อยและต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4077/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: ผู้เสียหายต้องแสดงเจตนาการกระทำความผิดของผู้กระทำ การชักจูงให้กระทำความผิดทำให้ขาดอำนาจฟ้อง
พยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาแต่แรกที่จะขายแผ่นซีดีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย กรณีเป็นเรื่องที่ผู้แทนผู้เสียหายชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำผิด จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้เสียหายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย การแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4063/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมที่ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหา ทำให้คำรับสารภาพและพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้มาใช้ไม่ได้ ศาลยกฟ้อง
เมื่อมีการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ดังนั้น บันทึกการจับกุมของจำเลยทั้งสาม จึงไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4417/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สายลับล่อซื้อยาเสพติดชอบด้วยกฎหมาย หากจำเป็นต่อการพิสูจน์ความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว
การใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้วตามอำนาจในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมพยานหลักฐาน การใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย มิใช่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การเด็กที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย: การขาดผู้เชี่ยวชาญและพนักงานอัยการ
แม้จะได้ความว่าเด็กชาย ก. และเด็กชาย ส. เคยให้การชั้นสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนร้ายศีรษะโล้นที่ใช้ไม้ ตีผู้ตายก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมด้วย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ไม่อาจรับฟังคำให้การ ชั้นสอบสวนของเด็กทั้งสองเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 243 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อยาเสพติด การตรวจค้นโดยไม่แจ้ง และการใช้กฎหมายใหม่ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสามในบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้ดำเนินการขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ ก็หาเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ในการตรวจค้นจับกุมไม่ เพราะเป็นกรณีกระทำความผิดซึ่งหน้าที่กำลังกระทำลงในที่รโหฐานจึงตรวจค้นได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ
แม้คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจะใช้อุบายล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม ก็มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเป็นผู้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เพราะจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว การล่อซื้อของพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดสำเร็จ หาใช่ว่าเมื่อมีการใช้อุบายวางแผนล่อซื้อต้องถือว่าขาดเจตนาซื้อขายกันจริง จึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยทั้งสามกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคดีนี้ มีองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง เดิม มาใช้บังคับแก่คดีนี้ และความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง เดิม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่คดีนี้เช่นเดียวกัน ส่วนในมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นบทระวางโทษของความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนสำหรับเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 กรัม แม้จะปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้มีจำนวน 46 เม็ด และมีน้ำหนักสุทธิเกินกว่า 1.5 กรัม ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางอันเป็นองค์ประกอบความผิด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้จำนวนเท่าใดกันแน่ จึงไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ได้ แต่ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดอันต้องด้วยบทระวางโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่อยู่ ซึ่งตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 15 ปี แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวในส่วนที่เป็นคุณมาบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง และเห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาด้วย และเนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นตัวการกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยกัน ถือว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2804/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย และผลกระทบจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ ยกเลิกความในมาตรา 15 และ มาตรา 66 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามกฎหมายเดิม มาตรา 15 วรรคสอง เป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา 15 วรรคสาม (2) จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ได้ความเพียงว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 55 เม็ด น้ำหนัก 4.880 กรัม และอีก 1 ชิ้นไม่ทราบน้ำหนักเท่านั้นไม่เข้าข้อสันนิษฐานตาม มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ที่ว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งพยานโจทก์ชุดจับกุมเบิกความแต่เพียงว่า ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดอยู่ในถุงพลาสติกม้วนอยู่ใต้กางเกงชั้นในวางอยู่ที่พื้นข้างตู้ใส่พระเครื่อง และค้นพบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 50 เม็ดใส่ถุงพลาสติกซ่อนอยู่ใต้ดินในเล้าหมู ส่วนที่กล่าวอ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงมีเพียงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนเท่านั้น โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้โจทก์จะนำสืบว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ แต่คำรับสารภาพดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซ้อม โดยมีบันทึกข้อความซึ่งพยาบาลเทคนิครับรองอาการบาดเจ็บของจำเลย ทั้งจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในเอกสารใดให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น บันทึกการตรวจค้นจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง คงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพที่ได้จากการเข้ามอบตัวโดยสมัครใจ เชื่อถือได้ ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แม้ไม่มีพยานยืนยัน
แม้ในวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนได้เชิญบิดาและญาติพี่น้องจำเลยไปที่สถานีตำรวจ ทำให้จำเลยต้องยอมเข้ามอบตัวและให้การรับสารภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลย ก็เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของจำเลยเอง เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้จับกุมหรือดำเนินคดีแก่บิดาหรือญาติพี่น้องของจำเลย เป็นแต่เพียงการเชิญตัวไปในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมจำเลยซึ่งเป็นคนร้ายเท่านั้น เมื่อจำเลยเข้ามอบตัวความจำเป็นที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมจำเลยย่อมหมดไป จึงไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะหยิบยกเงื่อนไขการปล่อยตัวบิดาและญาติพี่น้องของจำเลยขึ้นมาเสนอเพื่อจูงใจหรือเป็นคำมั่นสัญญาให้จำเลยยอมรับสารภาพ ทั้งตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพมีรายละเอียดของการกระทำความผิดตามลำดับทุกขั้นตอน เชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุของกลาง ร่องรอยวิถีกระสุนสภาพศพและสถานที่เกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจนไม่มีข้อพิรุธคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และมาตรา 226
of 70