คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 83

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,763 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการกระทำผิดยาเสพติด: จำหน่ายให้ผู้อื่นนำไปจำหน่ายต่อ แม้ไม่ร่วมครอบครอง ศาลลงโทษฐานสนับสนุน
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเกิดในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัยไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
ก่อนเกิดเหตุ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยเพื่อนำมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง มิใช่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. นำไปจำหน่ายก่อน แล้ว ส. จึงโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยโดย ส. ได้กำไรผลต่างที่นำไปจำหน่ายเกินกว่าราคาต้นทุน เมื่อ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยแล้ว เมทแอมเฟตามีนของกลางย่อมตกเป็นของ ส. เพียงลำพัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ ส. แม้ก่อนที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. เมทแอมเฟตามีนอยู่ในความครอบครองของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 เวลากลางวัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดวันดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะเกินกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องเกี่ยวกับเวลาซึ่งมิถือว่าต่างกันในข้อสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8710/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดฐานทำร้ายร่างกาย: แยกผลจากการถูกแทง และรอการลงโทษ
จำเลยเพียงเข้าไปชกต่อยและถีบผู้เสียหาย พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้มีดแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่า อ. พาอาวุธมีดมา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) เท่านั้น แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีส่วนแพ่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเฉพาะในผลอันเกิดจากการที่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดในผลที่ผู้เสียหายถูกแทงจนได้รับอันตรายแก่กายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า: พยานหลักฐานหนักแน่น ศาลยืนตามอุทธรณ์และแก้ไขโทษจำคุก ส่วนค่าสินไหมทดแทนให้ร่วมรับผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7758-7759/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามฆ่าและการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 จำคุก 16 ปี 8 เดือน และลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ตามมาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 11 ปี 1 เดือน 10 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี 6 เดือน ขั้นสูง 5 ปี หากอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังฝึกอบรมไม่ครบตามกำหนดเวลาให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดตามระยะเวลาขั้นต่ำที่เหลืออยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัสและมีผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 75 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 คนละหนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกคนละ 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี คุมความประพฤติตลอดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 ไม่เกินกำหนดที่ว่า ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10 มีเจตนาร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้มาโดยไม่มีความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาทำความเห็นแย้งหรือรับรองให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาโทษคดีอาญาตามมาตรา 335 และการใช้กฎหมายในขณะกระทำผิดเมื่อมีการแก้ไขโทษ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท เมื่อความผิดในมาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ตามฟ้องได้ โดยไม่ต้องนำสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 15 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 335 วรรคสอง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่า กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การซ่อนของกลางแสดงเจตนาครอบครอง
การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 เห็นพันตำรวจโท ป. กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที ถือว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมเจรจาซื้อขายยาเสพติด แม้ไม่ได้ร่วมส่งมอบ ก็มีผิดฐานเดียวกัน
แม้ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ดาบตำรวจ ส. กับสายลับ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวก็สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งวันซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันเจรจากับดาบตำรวจ ส. และสายลับในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โดยนัดหมายกันส่งมอบในวันเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 4 ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน รวมทั้งไม่ได้อยู่ด้วยในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีน ก็ถือได้ว่าเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้เอกสารปลอม (ใบเสร็จรับเงิน) เพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์รถ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลย
ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วมพิมพ์เป็นเล่มมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของกระดาษขนาด เอ 4 แต่บางกว่า บนหัวกระดาษมีรูปเต่าพร้อมชื่อที่อยู่ของบริษัทพิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำเงินเข้ม มุมขวาบนระบุเลขที่ของใบเสร็จรับเงิน ซึ่ง 1 ฉบับมี 1 เลขที่ใบเสร็จ ประกอบด้วยกระดาษ 4 แผ่น ใบแรกเป็นสีขาว มีคำที่มุมขวาบนว่า ต้นฉบับ ซึ่งส่งมอบให้ลูกค้าที่ชำระเงิน ใบที่ 2 เป็นสีฟ้า มีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนาส่วนนี้ส่งให้สำนักงานบัญชีตอนปลายเดือนเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบที่ 3 เป็นสีเหลืองที่มุมขวาบนมีคำว่า สำเนา ส่วนนี้เก็บไว้ในแฟ้มของลูกค้าแต่ละราย ใบสุดท้ายเป็นสีชมพูมีคำที่มุมขวาบนว่า สำเนา ส่วนนี้ติดเล่มใบเสร็จรับเงินไว้กับต้นขั้ว เมื่อใช้ใบเสร็จรับเงินหมดทั้งเล่มแล้วฝ่ายบัญชีจะคืนเล่มใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำไปคืนกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ใบเสร็จรับเงินที่ยังใช้ไม่หมดเล่มจะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ในการนำเอกสารไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่งจะใช้ใบเสร็จรับเงินสีขาวเป็นต้นฉบับที่กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว โดยนำไปถ่ายเอกสารมาให้กรรมการลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนำไปประกอบเอกสารชุดโอน แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกให้แก่ผู้เช่าซื้อราย ร. พ. จ. ส. ส. ก. ส. ม. ส. และ อ. ตามลำดับ รวม 10 รายนี้ โจทก์ร่วมได้ออกให้แก่ ศ. ส. ธ. พ. ส. และ อ. ไปแล้วตามใบเสร็จรับเงินสีชมพูซึ่งติดต้นขั้วในเล่มใบเสร็จรับเงินที่ ก. กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้ และตามสำเนาใบเสร็จรับเงินสีฟ้าที่ส่งให้สำนักงานบัญชีซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงฉบับที่ออกให้ ส. เลขที่ 4351 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ พ. ส. และ ส. ฉบับที่ออกให้ ธ. เลขที่ 4451 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ จ. และ ม. กับฉบับที่ออกให้ พ. เลขที่ 4501 ถูกนำไปใช้ออกใบเสร็จรับเงินแก่ ก. และ ส. จึงเชื่อว่าใบเสร็จรับเงินที่ออกผู้เช่าซื้อทั้ง 10 ราย ซึ่งพบและถ่ายสำเนามาจากเอกสารชุดโอนรถที่คัดสำเนามาจากสำนักงานขนส่งเป็นเอกสารปลอมมาจากใบเสร็จรับเงินฉบับที่แท้จริงสีชมพูที่ติดอยู่ต้นขั้วในเล่มที่กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเก็บไว้โดยวิธีการถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับใบเสร็จรับเงินสีขาวที่แท้จริงขณะยังไม่กรอกข้อความแล้วนำมากรอกข้อความแสดงการรับเงินจากลูกค้า โดยฉบับที่ออกให้ จ. ส. และ ก. ระบุจำนวนเงินน้อยกว่าที่คนเหล่านี้จ่ายให้ จากนั้นนำไปถ่ายสำเนาอีกครั้งเพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่สำนักงานขนส่ง เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทมีหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้เงินค่าเช่าซื้อ จัดทำเอกสารชุดโอนปิดบัญชี และนำเอกสารชุดโอนปิดบัญชีไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่ผู้เช่าซื้อที่สำนักงานขนส่ง และตามคำเบิกความของผู้เช่าซื้อในจำนวน 10 รายนั้น บางคนไปที่บริษัทโจทก์ร่วม ที่เต็นท์ขายรถ ที่ศาลแขวงชลบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา พบจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าซื้อเพื่อปิดบัญชีแก่จำเลยที่ 1 หรือพบจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกให้ชำระเงินแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 บอกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์รถให้หรือจะได้รับสมุดคู่มือจดทะเบียนภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้ง จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการปลอมใบเสร็จรับเงินและใช้ใบเสร็จรับเงินปลอมเหล่านี้ประกอบเอกสารชุดโอนรถ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชีของโจทก์ร่วม มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อออกใบเสร็จรับเงินรวมทั้งดูแลเล่มใบเสร็จรับเงินของโจทก์ร่วม ในใบเสร็จรับเงินเอกสารปลอมเหล่านี้ล้วนมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในช่องเจ้าหน้าที่ผู้รับมอบอำนาจและช่องฝ่ายบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของตนจริง โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนส่งใบเสร็จรับเงินเหล่านี้มาให้ตนเขียนกรอกข้อความบอกว่าจะเอาไปแนบประกอบเอกสารชุดโอนปิดบัญชีเพื่อดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถให้ลูกค้า จำเลยที่ 2 รู้ว่าใบเสร็จรับเงินในเล่มที่ตนเก็บรักษาดูแลไว้เป็นของที่แท้จริงของโจทก์ร่วมมีเลขที่ใบเสร็จรับเงินในแต่ละเลขที่ 1 เลขที่ซึ่งมีจำนวน 4 แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นฉบับอีก 3 แผ่นเป็นสำเนา การออกใบเสร็จรับเงินต้องออกเรียงตามลำดับเลขที่พร้อมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ยอมกรอกข้อความลงในแบบใบเสร็จรับเงินที่ถ่ายสำเนามาทั้งที่รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงของโจทก์ร่วมเป็นอย่างไร ใบเสร็จรับเงินที่ตนจะออกต้องเป็นใบเสร็จรับเงินที่ตนดูแลเก็บรักษาและใช้งานอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ออกใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นเอกสารถ่ายสำเนาไม่ใช่ของบริษัททั้งที่จำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่ว่าใบเสร็จรับเงินที่แท้จริงเลขที่เดียวกันนั้นตนได้ออกให้ลูกค้าคนอื่นไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงมีเจตนาร่วมปลอมใบเสร็จรับเงินเหล่านั้นด้วย อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนำเอกสารชุดโอนไปจดทะเบียนแม้จะยอมรับว่าจำเลยที่ 1 บอกว่าจะใช้ในการโอนรถ แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากการนำสืบพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยที่ 2 มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือจากนั้นในการใช้ใบเสร็จรับเงินปลอม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมใช้เอกสารปลอมด้วย
แม้จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานฝ่ายบัญชี มีหน้าที่รับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้าผู้เช่าซื้อรถของโจทก์ร่วม และลงลายมือชื่อรับเงินในช่องฝ่ายบัญชีของใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นเอกสารปลอมในการปิดบัญชีเพื่อใช้ประกอบเอกสารชุดโอนรถที่จำเลยที่ 1 ใช้ทั้ง 10 รายดังกล่าว และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมมี ส. จ. ส. ส. และ อ. เบิกความว่า นำเงินค่าเช่าซื้อไปชำระเพื่อปิดบัญชีที่บริษัทโจทก์ร่วมพบพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีหรือเจ้าหน้าที่การเงินจึงส่งมอบเงินนั้นให้ไปแล้วพนักงานหญิงนั้นออกใบเสร็จรับเงินให้พยาน แต่ในทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงได้ความจากกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 ต้องนำเงินนั้นมาส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ในตอนเย็นทุกวันเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปส่งให้กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทุกวัน ซึ่งทางปฏิบัติการทำงานเป็นเช่นนี้โจทก์และโจทก์ร่วมจะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่กระทำการตามหน้าที่ดังกล่าวโดยมิได้ส่งมอบเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือส่งมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเป็นของตนโดยมิได้นำส่งกรรมการตามหน้าที่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงตามที่วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกค้าทั้ง 10 ราย นำมาปิดบัญชี แต่จะรับฟังโดยสันนิษฐานข้อเท็จจริงให้เป็นโทษแก่จำเลยที่ 2 ถึงขนาดว่าเป็นการแบ่งงานกันทำกับจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และไม่เป็นพยานแวดล้อมกรณีอย่างหนึ่งที่จะนำมารับฟังประกอบกันเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 เพราะการรับเงินจากลูกค้าผู้เช่าซื้อเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5270/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วม vs ผู้สนับสนุน: การกระทำที่ช่วยลำเลียงยาเสพติดโดยรู้เห็น
จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์นำหน้าคอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า แม้เมทแอมเฟตามีนไม่ได้อยู่กับจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน เมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งแล้วร่วมมือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าให้สำเร็จและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสอบสวนคดีอาญาที่กระทำนอกราชอาณาจักรไทย และการมีอำนาจฟ้องของโจทก์
จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83
การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 177