คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 83

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,763 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงในคดีอาญา: การพิจารณาบทหนัก-เบา และเจตนาโจทก์ในการขอลงโทษ
แม้ฟ้องโจทก์บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว อันเป็นบทหนักที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษสูงขึ้น และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ยังคงบัญญัติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ โดยมาตรา 14 (1) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเกินอำนาจศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว และระบุขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 และมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเบามีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมิได้มีคำขอให้ลงโทษตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นบทหนัก ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในข้อหาฉ้อโกง และความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 เท่านั้น ไม่อาจถือว่าโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษบทหนักตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 8 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เป็นศาลแขวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4149/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา, การปรับบทกฎหมาย, และการลดโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายแยกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่กระทำความผิด จำนวนและราคาทรัพย์ที่ถูกลักในแต่ละครั้งตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดหลายกระทง ซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 มีใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองโดยใช้รถบรรทุกเป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 แต่เป็นการบรรยายฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเมื่ออ่านคําฟ้องโดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่า ฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 ถึง 1.8 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พรากผู้เยาว์จากมารดาเพื่อค้าประเวณี จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์
บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งอำนาจปกครองเป็นอำนาจที่ผูกติดกับสถานะความเป็นบิดามารดาในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบิดามารดาและบุตร การที่บุคคลอื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนอำนาจปกครองของบิดามารดาจะต้องรับผิดฐานละเมิดในทางแพ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ในทางอาญาด้วย ถึงแม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีออกจากบ้านก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 มารดาสิ้นสุดไป และในระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่อยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ก็พยายามโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 แต่ติดต่อไม่ได้ แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 ยังคงห่วงใยผู้เสียหายที่ 1 การที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูก พ. ชักชวนไปค้าประเวณี และจำเลยซื้อบริการทางเพศ น. ส่วนพวกของจำเลยซื้อบริการทางเพศผู้เสียหายที่ 1 โดยจำเลยมอบเงินค่าซื้อบริการทางเพศ น. และผู้เสียหายที่ 1 แก่ พ. และจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ด้วย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 มารดา การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตรับตัวผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งถูกพรากจากมารดาเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83
ส่วนสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นสิทธิของผู้ร้องที่ได้รับความเสียหายในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดอาญา กฎหมายกำหนดให้สามารถขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์เรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ถือว่าผู้ร้องพอใจในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแล้ว โจทก์ไม่อาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีส่วนแพ่งแทนผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วม vs ผู้สนับสนุน – การปรับบทความผิดตามกฎหมายยาเสพติดใหม่ และการเพิ่มโทษซ้ำ
พยานหลักฐานของโจทก์เมื่อรับฟังประกอบกันทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจและร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องกับ น. ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทำหน้าที่ขับรถในการขนลำเลียงเมทแอมเฟตามีนให้กับ น. ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุน น. ในการกระทำความผิดตามฟ้อง แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เองและปรับบทความผิดให้ถูกต้องได้โดยลงโทษจำเลยไม่เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเท็จเกี่ยวกับการตรวจสอบมาตรฐานข้าวสาร ผู้ประกอบการมีส่วนรับผิด
ผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลและต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเท่านั้น ซึ่งในการประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องว่าจ้างผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมากระทำการแทน ทั้งผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจึงเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามมาตรา 269 แห่ง ป.อ. หากผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จหรือจงใจกระทำการใด ๆ ให้การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าผิดไปจากความเป็นจริง ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องรับผิดในการกระทำของผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าดังกล่าวเสมือนหนึ่งได้กระทำด้วยตนเอง เพราะบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นบัญญัติให้ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์ให้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าซึ่งเป็นพนักงานของตน และต้องรับผิดเมื่อมีการรับรองมาตรฐานสินค้าอันเป็นเท็จหรือผิดไปจากความเป็นจริงโดยเฉพาะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ด. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ให้ตรวจสอบข้าวสารที่จะนำเข้าเก็บในคลังสินค้าให้ได้ข้าวสารที่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 หากข้าวสารที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วเป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าวก็อนุญาตให้นำข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้าของบริษัท ด. จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้นาย ช. ผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตรวจสอบข้าวสารที่โรงสีข้าวนำมาส่งให้ได้ข้าวสารที่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เพื่อนำเข้าเก็บในคลังสินค้า แต่ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าวของสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ปรากฏว่า ข้าวสารไม่ถูกต้องตามมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังนั้น การที่นาย ช. ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากระทำการแทนในนามจำเลยที่ 1 ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวโดยทำคำรับรองอันเป็นเท็จและตรวจสอบข้าวให้ผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและเป็นผู้มอบหมายให้นาย ช. ทำการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวดังกล่าวแทนเป็นผู้ทำคำรับรองการตรวจสอบข้าวเป็นเอกสารอันเป็นเท็จและทำให้ผิดจากความเป็นจริงแล้ว โดยการที่นาย ช. ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าในผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพข้าวเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพิ่งเห็นผลการวิเคราะห์คุณภาพข้าวของนาย ช. หรือจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า หรือจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นาย ช. เป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าโดยจำเลยที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องกับการทำคำรับรองเป็นเอกสารดังกล่าวหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 โดยนาย ช. ใช้หรืออ้างคำรับรองไปตามหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับมอบข้าวสารที่นาย ช. ตรวจสอบจึงเป็นการใช้หรืออ้างคำรับรองอันเป็นเท็จโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 มาตรา 57 เพราะการตรวจสอบมาตรฐานของข้าวสารในคดีนี้เป็นการตรวจสอบเพื่อนำข้าวสารเข้าเก็บในคลังสินค้า ไม่ใช่กรณีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อขอออกใบรับรองมาตรฐานสินค้านำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรก่อนส่งสินค้าออกนอกประเทศตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 มาตรา 17
แม้จำเลยที่ 1 มีความผิดเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 และขอให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงกรรมเดียว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ประสงค์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการกระทำความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานตัวการในความผิดฐานดังกล่าวได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 คงลงโทษในฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 269 วรรคสอง จึงต้องลงโทษตามมาตรา 269 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามที่โจทก์ฎีกา
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพยานให้ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการทำคำรับรองมาตรฐานสินค้าอันเป็นเท็จหรือผิดไปจากความเป็นจริงที่โจทก์นำมาฟ้องอย่างไร และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มิได้มีหน้าที่ในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าตามกฎหมายที่ต้องรับผิดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานพนันออนไลน์: การลงโทษฐานกรรมเดียว และการพิจารณารอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสิบหกร่วมกันประกาศโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นให้เข้าเล่นการพนันบาการา สล๊อทแมชีน สลากกินรวบ และทายผลฟุตบอลออนไลน์ บนเว็บไซต์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์และเฟซบุ๊ก พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาตรวมกันมาในข้อเดียวกัน ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฎชัดเจนว่าจำเลยทั้งสิบหกร่วมกันประกาศโฆษณาหรือชักชวนให้เล่นการพนันแต่ละประเภทแยกต่างหากออกจากกันเป็นแต่ละกรรมต่างกัน ทั้งคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบหกฐานร่วมกันประกาศโฆษณาหรือชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นการพนันหลายประเภทตามที่กล่าวในฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวกัน และต้องถือตามคำฟ้องของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสิบหกมีเจตนาเดียวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และการรับรองเอกสารโดยเจ้าพนักงานตามระเบียบกรมที่ดิน ศาลยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน แล้วนำมาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายแล้ว แม้ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย รวมทั้งบทมาตราที่ยกขึ้นปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะเป็นอย่างเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำเบิกความของโจทก์ในคดีแพ่งอื่น มิได้เบิกความต่อหน้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสถามค้าน จึงมีน้ำหนักน้อย ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอม
ศ. และ อ. เจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้บอกให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อ และข้อความตามหนังสือมอบอำนาจและสัญญาขายฝากเป็นไปตามระเบียบของกรมที่ดินที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่ดินให้รับผิดในภายหลังเท่านั้น เมื่อบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกรมที่ดินเพื่อป้องกันมิให้กรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินถูกฟ้องร้องให้รับผิดทางแพ่ง จึงมิใช่บันทึกถ้อยคำตามนัยแห่งกฎหมายหรือตามหน้าที่ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งเนื้อความแห่งบันทึกถ้อยคำยังมีข้อความว่าถ้าเกิดความผิดพลาดเพราะผิดตัวเจ้าของ จำเลยที่ 3 ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น เมื่อโจทก์ได้ลงลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ความจริงโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: การพิจารณาจากระยะเวลาและโอกาสในการตัดสินใจหลังเหตุการณ์
เหตุการณ์ตอนแรกที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยกับพวกร่วมกันขับรถกระบะพาผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านที่เกิดเหตุไปยังคลองชลประทาน 2 ขวา ซึ่งอยู่คนละจังหวัด จำเลยกับพวกย่อมมีโอกาสคิดไตร่ตรองทบทวนและตัดสินใจอยู่เป็นเวลานานว่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ให้ถึงแก่ความตายหรือไม่ การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ให้ถึงแก่ความตายอันเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน กรณีแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยเจตนา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221" วรรคสอง บัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" มิได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าหากมิได้ดำเนินการตามมาตรา 1119 แล้ว จะทำให้การเป็นผู้ถือหุ้นเป็นโมฆะ หรือกลับกลายเป็นไม่เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมีผลแต่เพียงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวยังมิได้ใช้เงินเป็นค่าหุ้นแก่บริษัทเท่านั้น กรรมการจึงสามารถที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทเสียเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1124 ทั้งตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในขณะที่ ส. ยังมีชีวิตอยู่ ส. ก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้วหรือไม่ และโดยวิธีใด เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเรียกเงินค่าหุ้น จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่เคยได้รับมอบใบหุ้น ไม่เคยเข้ามีส่วนได้เสียในบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้ส่วนได้เสียของบริษัท เช่น กำไร ขาดทุน นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ไปรับหรือไม่ จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือเชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจะว่าโจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เข้ามามีส่วนได้เสียของบริษัทหาได้ไม่ จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และ ป.อ. มาตรา 137
แม้คำฟ้องของโจทก์ ข้อ 2.1 ที่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น โจทก์จะมิได้บรรยายเจตนาพิเศษมาในคำฟ้องก็ตาม แต่ต่อมาในข้อ 2.3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 และฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการหรือยินยอมให้มีการปลอมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามฟ้อง ข้อ 2.1 เพื่อลวงโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) แล้ว ดังนี้ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว
of 177