คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 193 ทวิ วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฟ้องขับไล่: จำเป็นต้องอ้างเหตุผิดสัญญาการชำระเงินควบคู่กับการไม่รับโอนกรรมสิทธิ์
ฟ้องโจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาที่เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยว่า การที่จำเลยไม่มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์เป็นการผิดสัญญา มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะไม่ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด แม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแต่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์นั้น เป็นการนำสืบข้อเท็จจริงนอกฟ้อง เมื่อฟ้องอ้างเหตุแต่เพียงว่าจำเลยไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด โดยมิได้อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ชำระเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่ใช้สิทธิรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขายจากโจทก์ มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะการไม่ชำระหนี้ ข้ออ้างตามฟ้องจึงไม่มีมูลว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 อันเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13049/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนคดีและการขาดนัดพิจารณา: เหตุผลความจำเป็นและผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม
ศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว การที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอเลื่อนการนั่งพิจารณาหรือขอเลื่อนคดี คู่ความฝ่ายนั้นจะต้องยื่นคำขอเข้ามาก่อนหรือในวันนัดและแสดงเหตุผลให้ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้และหากศาลไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ในวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานนัดแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คู่ความแถลงว่า คดีพอมีทางตกลงกันได้ ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสามติดว่าความที่ศาลอื่นและขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดไกล่เกลี่ยที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยในวันที่ 18 มีนาคม 2557 เวลา 9 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัด จำเลยทั้งสามไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย ศาลชั้นต้นจึงออกนั่งพิจารณาและนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสองในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 นัดสืบพยานจำเลยทั้งสามในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสอง ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นอ้างว่า ทนายจำเลยทั้งสามเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นคู่สัญญากับธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ธนาคาร อ. มีหนังสือเชิญประชุมเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามจำต้องเข้าร่วมประชุมและลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกสักครั้ง นั้น ทนายจำเลยทั้งสามทราบนัดล่วงหน้าแล้วเกือบ 2 เดือน ที่ทนายจำเลยทั้งสามอ้างเหตุที่จะต้องไปเข้าร่วมประชุมกับลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจ้างฉบับใหม่กับธนาคาร อ. คงเป็นไปเพื่อกิจการในเรื่องส่วนตัวของทนายจำเลยทั้งสามโดยแท้และทนายจำเลยทั้งสามได้ทราบเหตุก่อนถึงวันนัดหลายวันเพียงพอที่ทนายจำเลยทั้งสามจะแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและจัดทนายความคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนเพื่อมิให้กระบวนพิจารณาในศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าต้องเสียหายแต่มิได้กระทำ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ในอันที่จำเลยทั้งสามจะนำมาอ้างเป็นเหตุเพื่อขอเลื่อนคดี
ในวันสืบพยานโจทก์วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้ ส. เสมียนทนายนำคำร้องมายื่นขอเลื่อนคดี ฟังคำสั่งศาลและกำหนดวันนัดแทน ส. ย่อมอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ มิใช่คู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสามไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล อันจะให้ถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาในคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193 ทวิ วรรคสอง การไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามเลื่อนคดี คงมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสามเสียสิทธิในการซักค้านพยานโจทก์ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เท่านั้น จำเลยทั้งสามยังคงมีสิทธินำพยานเข้าสืบในนัดวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ตามที่นัดไว้แล้ว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาและให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระบวนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ: การขาดการจดบันทึกการนั่งพิจารณาและการพิจารณาพยานหลักฐานโดยไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่ กำหนดนัดพิจารณาให้โจทก์จำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การและสืบพยาน ก่อนถึงกำหนดนัด ศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง เมื่อถึงวันนัดโจทก์อ้างส่งเอกสารต่อศาล 14 ฉบับ แล้ววันเดียวกันนั้น ศาลได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นมิได้จดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาว่ามีคู่ความฝ่ายใดมาศาลบ้าง รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มาศาลหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลโดยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ตามมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันนัดดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย อันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ตามมาตรา 204 กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลจึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ตามมาตรา 206 วรรคสอง ประกอบมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่นำมาบังคับใช้โดยอนุโลม การพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมาจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะสามารถอ้างส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายที่ยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (1) (2), 246 และ 247