คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยยุทธ ศรีจำนงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกจากประวัติเคยต้องโทษคดีเสพยาเสพติด และการใช้มาตรการคุมความประพฤติแทนการจำคุก
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนของการขอเพิ่มโทษว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 16 เดือน 15 วัน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1325/2558 ของศาลจังหวัดเดชอุดม จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามกฎหมาย โดยแนบข้อมูลทะเบียนราษฎร และรายละเอียดข้อมูลผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ ซึ่งระบุชัดเจนทั้งชื่อและชื่อสกุลจำเลย เลขประจำตัวประชาชนจำเลย ซึ่งมีข้อมูลว่าจำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาและพ้นโทษโดยปล่อยตัวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 กับมีรูปถ่ายจำเลยในเอกสารดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา ถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องรวมถึงรับว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษดังกล่าวด้วยแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลจะลงโทษถึงจำคุก จึงอยู่ในเงื่อนไขที่จะเพิ่มโทษแก่จำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 92 และเมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเกิน 6 เดือน จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลยและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยและคดีที่จำเลยเคยต้องโทษมาก่อนเป็นการกระทำความผิดเมื่อปี 2558 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว อีกทั้งการลงโทษจำคุกในระยะสั้นไม่น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวโดยนำเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติตามมาตรา 56 แห่ง ป.อ. มาใช้แทนการลงโทษจำคุกตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 166

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 92/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการรักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือ หากไม่ครบถ้วนเป็นโมฆะ แม้มีข้อตกลงก่อนหน้า
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้..." อันมีความหมายว่า ในการให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจะถือว่ามีการทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า "ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ" ฉะนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายคำฟ้องมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ได้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ แต่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เมื่อบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า สัญญารักษาความปลอดภัยต้องทำเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยต้องคืนทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ และเมื่อการรักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สิ่งใดที่สามารถคืนกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ด้วย โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้สามารถทำได้โดยกำหนดให้จำเลยใช้เงินเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์ และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดต้องรับผิดในส่วนต่างราคาที่ดินเมื่อไม่ชำระเงินตามสัญญา แม้เจ้าหนี้ต้องผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ละเลยไม่ใช้ราคาค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง เมื่อได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 เงินในส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้ ถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น ต้องตกอยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับยึดหรืออายัดหรือยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง (เดิม) แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ก็ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวหากมีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหากมีเงินเหลืออยู่ในภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องเอาเป็นส่วนของตนได้โดยลำพังไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยหรือบังคับคดีจากจำเลยแล้ว ให้หักเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี (ถ้ามี) แก่โจทก์ แล้วส่งคืนเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวต่อไป เป็นการพิพากษาไปตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย หาได้พิพากษานอกคำฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1961-1962/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลต้องให้โอกาสแก้ไขก่อนยกฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง" และมาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง" แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสองผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ด่วนพิจารณาไม่รับวินิจฉัยและยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรให้ศาลชั้นต้นจัดการให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์ในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้อง แล้วให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของเจ้าของรถเช่าซื้อและผู้เช่าในการกระทำละเมิดจากอุบัติเหตุ
จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่ มีรถแท็กซี่ให้เช่ามากถึง 60 คัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่ารถแท็กซี่รายใหญ่ จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่คันเกิดเหตุจากโจทก์ซึ่งจดทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน อันเป็นรถยนต์สาธารณะตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งอยู่ในความควบคุมของนายทะเบียนและผู้ตรวจการขนส่งทางบก โดยมีชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ติดอยู่ที่ประตูรถด้านหน้าทั้งสองข้าง แล้วจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่ไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับส่งคนโดยสารในนามของโจทก์เพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งคนโดยสารต้องอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18871/2557 ที่วินิจฉัยว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารรถแท็กซี่คันเกิดเหตุ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะไม่นำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปให้เช่า จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดีว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำรถที่ตนเช่าซื้อจากโจทก์ให้ผู้อื่นหรือจำเลยที่ 1 เช่าได้ การที่จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถแท็กซี่ของโจทก์เพื่อนำออกให้เช่าโดยที่โจทก์ได้จดทะเบียนรถแท็กซี่เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารตามกฎหมายแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของโจทก์ที่ติดอยู่ด้านข้างรถแท็กซี่นำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรถส่งคนโดยสารเพื่อประโยชน์แก่กิจการของตน ส่วนโจทก์ก็ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารด้วย เพราะโจทก์สามารถให้เช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบกิจการขนส่งคนโดยสาร โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้ผูกนิติสัมพันธ์กันแต่เฉพาะนิติกรรมการเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถแท็กซี่คันเกิดเหตุไปให้จำเลยที่ 1 เช่าขับรับคนโดยสาร จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับโจทก์เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนในการประกอบกิจการรับขนคนโดยสารด้วย จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงต้องร่วมกันรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีผู้ค้ำประกัน: ผลกระทบจากการล้มละลายของลูกหนี้ และการสะดุดหยุดของอายุความเฉพาะราย
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด: ความรับผิดเมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริหารจัดการอาคารชุดแต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดตามข้อบังคับหรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้เจ้าของร่วมทุกคนต้องชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแก่นิติบุคคลอาคารชุดในวันโอนกรรมสิทธิ์เพื่อไว้เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหาร พัฒนาปรับปรุงซ่อมแซม หรือจัดซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง และเป็นเงินสำรองใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนำฝากธนาคารในนามของจำเลย แต่โจทก์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวตามข้อบังคับในวันโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลย โจทก์กลับออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้แก่เจ้าของร่วมไปใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์รวม 6 ห้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ประเด็นพิพาทจึงอยู่ที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของร่วมเรียบร้อยแล้วจึงออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้เจ้าของร่วมเพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามฟ้อง แต่หากเป็นไปดังที่จำเลยให้การโจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยปฏิเสธการชำระค่าจ้างได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปด้วยกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์: การแจ้งคู่กรณีสำคัญต่อการคุ้มครองความเสียหาย
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หน้า 10 ข้อ 1 ระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า "บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้" ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัยของบริษัทประกันภัยรวมถึงจำเลยด้วย ซึ่งตามคู่มือตีความหน้าที่ 3 อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่า จะคุ้มครองเฉพาะ 1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ 2. ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ โดยการแจ้งให้ทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ความหมายรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็น ต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระหนี้ค่าส่วนกลางตกแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามประกาศเงื่อนไข
เมื่อปรากฏว่าตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุด การที่ธนาคาร อ. เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์เท่ากับธนาคาร อ. ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว เมื่อจำเลยมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค้างชำระแก่โจทก์ ธนาคาร อ. ผู้ประมูลซื้อห้องชุดดังกล่าวย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเดิม ธนาคาร อ. จึงมีหน้าที่ที่จะต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับหนี้ค่าส่วนกลางที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดเล็กน้อยในจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระตามคำฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ณ วันที่ 20 มีนาคม 2552 จำเลยมีหนี้ค้างชำระการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์จำนวน 200,042.17 บาท ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 9 เมษายน 2552 โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,042.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 184,386.18 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 6,592.44 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 206,634.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 206,634.61 บาท และโจทก์ระบุเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีนี้ อันเป็นการบรรยายหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าว หาใช่ต้องการให้จำเลยชำระหนี้เพียง 6,592.44 บาท ไม่ น่าเชื่อว่าตามคำขอบังคับของโจทก์ เกิดจากความพลั้งเผลอพิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาที่แท้จริง เป็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ผิดพลาดไปด้วย กรณีถือได้ว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้ จึงมีเหตุสมควรแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 6,592.44 บาท เป็น 206,634.61 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
of 25