คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยยุทธ ศรีจำนงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินวางประกันคดีล้มละลายเมื่อศาลไม่แจ้งหนี้ค้างชำระ ผู้มีสิทธิยังไม่ขาดสิทธิ
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินวางประกันค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืนจากศาลนั้น เป็นกรณีของการขอเงินค้างจ่ายคืนจากศาลซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงจะต้องนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าศาลมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีเงินวางประกันค่าใช้จ่ายคงเหลืออยู่ที่ศาลและโจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินค้างจ่ายซึ่งจะตกเป็นของแผ่นดินตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์เพิ่งทราบว่ามีเงินคงเหลือและมีสิทธิรับเงินดังกล่าวแล้วโจทก์จึงได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล กรณีจึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนได้ เงินดังกล่าวนั้นย่อมไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7082-7083/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ต้องขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แม้มีข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ การสอบสวนหนี้สินไม่ทำให้เสียเปรียบ
เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ต้องการได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 กล่าวคือจะต้องขอรับชำระหนี้ตามวิธีการที่กล่าวไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติให้ผู้คัดค้านมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้ แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินต่อศาล ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและในการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้นั้น บทบาทของผู้คัดค้านมิได้อยู่ในสถานะเป็นตัวลูกหนี้ แต่เป็นเพียงคนกลางในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานหาข้อเท็จจริงในเรื่องหนี้ทั้งจากฝ่ายของเจ้าหนี้และลูกหนี้ แล้วทำความเห็นเสนอศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อไป ดังนั้น ลำพังการสอบสวนและความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังไม่มีผลผูกพันเจ้าหนี้ ส่วนการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 12 จะบัญญัติว่า "ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการย่อมไม่เสียไปแม้ในภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือสิ้นสุดสภาพความเป็นนิติบุคคล ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ" บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทยกเว้นหลักการในการขอรับชำระหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย แต่เป็นบทบัญญัติถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการตั้งอนุญาโตตุลาการว่าไม่เสียไปแม้ภายหลังคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น ผู้คัดค้านจึงยังคงมีหน้าที่ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ขณะเดียวกันคณะอนุญาโตตุลาการก็ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้และการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการของผู้คัดค้านเป็นคนละส่วนกับการดำเนินการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการโดยด่วน การสอบสวนของผู้คัดค้านจึงไม่ทำให้ผู้ร้องเสียเปรียบ หรือมีผลกับการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใดไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเพื่อรอผลการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันภัย: การตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจและชื่อจำเลย
คดีนี้จำเลยให้การว่า ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ก. หรือ ส. หรือ พ. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 50 และหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 16 มกราคม 51 ปรากฏว่าลายมือชื่อของ ส. ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับมีลักษณะช่องไฟและตัวอักษรต่างกัน ไม่น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การจำเลยมุ่งเน้นให้การต่อสู้ลายมือชื่อของ ส. ส่วนที่จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อโจทก์ เป็นการปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อกรรมการโจทก์หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่ายังฟังไม่ได้ว่า ส. และ อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีขับรถยนต์กระบะชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยให้การรับว่าเป็นคู่กรณีจริง การที่หนังสือมอบอำนาจ ระบุชื่อสกุล จำเลย ผิดพลาดเป็นคำว่ามั่นประเสริฐ ที่ถูกต้องคือ มั่นประสิทธิ์ จึงเป็นการพิมพ์ผิดพลาด มิใช่กรณีฟ้องผิดคน ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบ แม้ว่าภายหลังโจทก์จะยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ ระบุชื่อ และชื่อสกุลจำเลยโดยถูกต้อง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง ก็ไม่มีผลให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนจากชู้: การพิสูจน์ความรู้และเจตนา, อายุความ, และการกำหนดจำนวนค่าทดแทนที่เหมาะสม
ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุภริยามีชู้ สามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากชู้ บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ชายชู้หรือชายที่มาล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาวจะต้องทราบว่าหญิงนั้นเป็นหญิงมีสามีแล้ว แต่ยังจงใจละเมิดสิทธิสามี จึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของโจทก์แต่ยังเป็นชู้และร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 เป็นอาจิณ โจทก์ซึ่งเป็นสามีย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุในมาตรา 1516 (1) (2) (3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 ย่อมระงับไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง หมายถึง กรณีที่เหตุที่กล่าวอ้างนั้นมิได้เกิดเหตุนั้นอีก สิทธิฟ้องร้องจึงระงับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้าง แต่จำเลยที่ 2 ยังคงประพฤติเหตุดังกล่าวภายหลังวันที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์รู้หรือควรรู้ความจริงซึ่งตนอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ อันเป็นการกระทำเหตุดังกล่าวต่อเนื่อง สิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6718/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและการคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้มีประกันจากการบังคับคดี
หนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 ของศาลแพ่งที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 และเป็นคดีที่ลูกหนี้ (จำเลย) อาจขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เนื่องจากลูกหนี้ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำพิพากษาให้แพ้คดีในประเด็นที่พิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 (เดิม) คดีย่อมถึงที่สุดเมื่อระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง
พนักงานเดินหมายนำคำบังคับไปส่งให้แก่ลูกหนี้โดยวิธีปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น การส่งคำบังคับมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง คำบังคับที่ส่งให้แก่ลูกหนี้จึงมีผลในวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ลูกหนี้อาจยื่นคำขอ ให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล
กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 208 วรรคแรก ตอนท้าย (เดิม) จะนำมาใช้บังคับก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันเป็นผลให้ลูกหนี้ไม่อาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันซึ่งตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ไม่ได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ทราบคำบังคับหลังจากล่วงพ้นกำหนดไปแล้ว 15 วัน นับแต่วันที่การส่งคำบังคับมีผล ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 คดีจึงถึงที่สุดนับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว
หนี้ของเจ้าหนี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 พ้นกำหนดอายุความสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 1958/2539 เจ้าหนี้เดิมได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ ห้องชุดเลขที่ 722/74 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 และต่อมาเจ้าหนี้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องและหลักประกันดังกล่าวมาจากเจ้าหนี้เดิม เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนในจำนวนเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการดำเนินการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ในกรณีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกสำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเมื่อเหตุผลและหลักฐานเหมือนคดีก่อน
คดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ แม้เหตุในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลล้มละลายกลางรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แต่การที่โจทก์เพิ่งไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพื่อแสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) นั้น เป็นเหตุเดียวกับที่โจทก์เคยกล่าวอ้างและนำสืบให้รับฟังไม่ได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 กรณีเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในคดีก่อนด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้เท่านั้น มิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสาระสำคัญ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์และประกาศ หนังสือพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เพื่อให้โจทก์สามารถกล่าวอ้างและนำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในคดีนี้ ทั้งที่โจทก์สามารถดำเนินการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันได้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เหตุที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ควรกระทำได้อยู่แล้วในคดีก่อนมิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทดแทนและการยกเหตุข้อกฎหมายใหม่ในชั้นฎีกา ศาลไม่รับวินิจฉัยหากมิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลล่าง
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนกรณีภริยาถูกอีกฝ่ายมีภริยาอื่นและแสดงตนเป็นภริยาต่อสังคม ศาลยืนค่าทดแทน 300,000 บาท
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ปัญหาดังกล่าวจึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 247 และที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งแม้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นเหตุให้ไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6218/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในบัญชีเงินฝาก: เจ้าของบัญชีมีสิทธิเบิกถอน แม้เงินฝากจะมาจากผู้อื่น ธนาคารต้องคืนเงินให้เจ้าของบัญชี
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น..." ซึ่งบัญชีเงินฝากพิพาทมีชื่อจำเลยกับ ส. เป็นเจ้าของบัญชี โดยไม่ปรากฏข้อความว่าจำเลยกับ ส. เปิดบัญชีเงินฝากพิพาทดังกล่าวแทนผู้ร้อง และไม่ปรากฏว่าธนาคารผู้รับฝากรู้อยู่ก่อนแล้วว่า จำเลยกับ ส. เป็นตัวแทนของผู้ร้อง ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินในบัญชีเงินฝากพิพาทให้แก่จำเลยกับ ส. ตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยกับ ส. เท่านั้นจึงจะมีสิทธิเบิกถอนเงินออกจากบัญชีพิพาทดังกล่าวได้ ที่ผู้ร้องนำสืบว่า จำเลยกับ ส. นำเงินของผู้ร้องเข้าฝากในบัญชีเงินฝากพิพาทในนามของจำเลยกับ ส. นั้น เมื่อเป็นกรณีการฝากเงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก ผู้รับฝากมีสิทธิเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ ฉะนั้นเงินที่ฝากจึงตกเป็นของธนาคาร เมื่อจำเลยกับ ส. ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินที่ฝากจากธนาคาร ธนาคารก็ไม่จำต้องคืนเงินตราอันเดียวกับที่รับฝาก ธนาคารคงมีแต่หน้าที่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น จำเลยกับ ส. เป็นผู้ทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในนามของจำเลยกับ ส. ธนาคารผู้รับฝากจึงต้องคืนเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยกับ ส. ซึ่งเป็นผู้ฝาก ผู้ร้องมิได้เป็นคู่สัญญากับธนาคารด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินที่รับฝากและไม่มีสิทธิขอให้ถอนอายัดบัญชีเงินฝากพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6150/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: จำเลยต้องพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานความเป็นเจ้าของของโจทก์ที่ปรากฏในทะเบียนที่ดิน
เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ น. มิใช่เป็นของจำเลย คำให้การของจำเลยในตอนแรกที่ว่า จำเลยซื้อที่ดินมาจาก น. และ น. ส่งมอบที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว เป็นเพียงการอ้างถึงที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ หาใช่เป็นการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเองมาแต่เดิมไม่ คำให้การของจำเลยในตอนหลังที่อ้างการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทหลังจากที่ซื้อมา จึงมิได้ขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกหรือเท่ากับเป็นการอ้างครอบครองปรปักษ์ที่ดินของตนเองซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้แต่อย่างใดไม่
โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในทะเบียนที่ดิน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินอยู่ในขณะที่พิพาทกัน ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานว่าเป็นการยึดถือเพื่อตน และ ป.พ.พ. มาตรา 1370 ให้สันนิษฐานว่าครอบครองโดยสุจริตโดยความสงบและโดยเปิดเผย เป็นเพียงบทบัญญัติของการยึดถือครอบครองทรัพย์สินทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกถึงกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการยึดถือครอบครอง จึงต้องบังคับตาม มาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลย
of 25