คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยยุทธ ศรีจำนงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9136/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสมรสซ้อน และการรับฟังเอกสารหลักฐานการสมรสก่อน
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำคัดค้าน แต่เมื่อปัญหานี้ปรากฏตามคำร้องขอในสำนวน ผู้คัดค้านชอบจะหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องวินิจฉัยปัญหานี้ให้ตามมาตรา 240 วรรคหนึ่ง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงถือว่าได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ผู้คัดค้านจึงชอบจะฎีกาปัญหานี้ได้ ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการสมรสระหว่าง ก. กับผู้คัดค้านเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการสมรสซ้อนกับการสมรสระหว่าง ก. กับผู้ร้อง ซึ่งมาตรา 1497 กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายให้สิทธิบุคคลใช้สิทธิทางศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งตามมาตรา 171 กำหนดให้เสนอคดีได้ทั้งรูปคำฟ้องหรือคำร้องขอก็ได้แล้วแต่รูปเรื่องแห่งคดี และไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีหรือการร้องขอก็ถือเป็นคำฟ้องเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีอำนาจฟ้องด้วยการยื่นคำร้องขอตามมาตรา 171 ได้
ผู้ร้องนำสืบว่า ใบทะเบียนสมรสหาย ผู้ร้องขอคัดสำเนาโดยเจ้าพนักงานรับรองตามสำเนาทะเบียนสมรส เอกสารหมาย ร. 1 ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นขอคัดข้อมูลทะเบียนครอบครัว เอกสารหมาย ร. 2 สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวระบุว่า ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับ ก. เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง หรือสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่ การที่ผู้คัดค้านคาดคะเนว่าจะไม่เป็นจริง เพราะเหตุการณ์เกิดมานานแล้วเพิ่งจะคัดเอกสารนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ กรณีต้องฟังว่า ก. สมรสกับผู้ร้องอยู่แล้ว ผู้คัดค้านกับ ก. มาสมรสกันภายหลัง จึงเป็นสมรสซ้อนซึ่งเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8483/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ท่อส่งน้ำฝังดินเป็นสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องจากโรงสูบน้ำ ต้องเสียภาษี
ท่อส่งน้ำทั้งสองสายของโจทก์เป็นท่อขนาดใหญ่ ยาวต่อเนื่อง และเป็นท่อเหล็กหุ้มด้วยฉนวนป้องกันมิให้เกิดสนิม ฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 2 เมตร ในเขตทางหลวงขนานไปกับถนนและอยู่ห่างจากขอบทางหลวงประมาณ 6 เมตร โดยบางช่วงมีการสร้างบ่อคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นระยะ ๆ ท่อส่งน้ำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ที่โจทก์ใช้ต่อเนื่องกับโรงสูบน้ำที่ประกอบกิจการก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้แก่โจทก์ และถือเป็นสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ที่ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมผลิตน้ำและจำหน่ายน้ำของโจทก์ มิใช่ทรัพย์สินที่ให้งดเว้นจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 10 จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7926/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทจากมติประชุมเท็จ กรณีผู้ถือหุ้นต่างด้าวใช้ชื่อคนไทยถือหุ้น
การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มิได้ประชุมกันจริง และเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จึงชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนที่อาศัยการประชุมใหญ่เท็จดังกล่าวเสียได้ ทั้งกรณีของการทำรายงานการประชุมใหญ่เท็จเพื่อนำไปจดทะเบียน ย่อมจะมิใช่การประชุมใหญ่ผิดระเบียบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอันจะอยู่ในบังคับที่ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426-7427/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดทางอาญาและค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งมาใช้ในคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดขวางการจับกุมและช่วยเหลือผู้ถูกจับกุม ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน
ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจและ อ. ยังไม่สามารถจับกุม ส. ได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 191

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6513/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และผลของการแก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวโจทก์
ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลนั้น ต้องมีสภาพเป็นบุคคล ดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) บัญญัติไว้ว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งคำว่า บุคคล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มี ส. จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบพาณิชยกิจ แต่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงมิใช่บุคคลธรรมดาและไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลได้
ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนชื่อคู่ความและรายละเอียดในคำฟ้อง เป็นเพียงการระบุถึงตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำการแทนห้างหุ้นส่วนสามัญ ศ. เท่านั้น มิได้มีความหมายว่า ส. เป็นผู้ฟ้องคดีเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด ทั้งการขอแก้ไขคำฟ้องโดยการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้เป็นโจทก์ มีผลเป็นการเพิ่มตัวบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความคนใหม่ ย่อมไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 67 และมาตรา 179 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5989/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับบำบัดผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ แม้ผู้ต้องหาปฏิเสธ การไม่ดำเนินการถือเป็นความไม่ชอบ
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 21 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยการบังคับ มิใช่ให้ผู้ที่ติดยาเสพติดเลือกที่จะเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ได้ เพราะบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความระบุไว้ที่ใดเลยว่าให้ตรวจพิสูจน์เฉพาะผู้ที่ให้การรับสารภาพเท่านั้น จึงต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เต็มใจและไม่เต็มใจเข้ารับการฟื้นฟู เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครไม่จัดการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดจำเลยซึ่งให้การปฏิเสธ จึงเป็นการไม่ชอบ และมีหน้าที่ที่จะต้องนำตัวจำเลยกลับไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: อำนาจฟ้องของโจทก์เมื่อคณะอนุกรรมการยุติการฟื้นฟูโดยไม่ครบถ้วน
ผู้ที่จะถูกส่งตัวเข้าไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพคือบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ว่าผู้นั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้รับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้น ต้องจัดให้มีแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวให้รับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพยาบาลใกล้บ้านแบบผู้ป่วยนอก และให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ การที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูและขาดการรายงานตัวโดยหลบหนีไปไม่สามารถติดตามตัวได้ เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 โดยในมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีแก่ผู้รับการฟื้นฟู หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ด่วนมีคำสั่งว่า "ปัจจุบันไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวมาเข้ารับการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีผู้ติดยาเสพติด: ต้องส่งตัวเข้ารับการบำบัดให้ครบถ้วนก่อน จึงดำเนินคดีได้
จำเลยหลบหนีไปขณะถูกนำตัวไปเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่พอใจ และให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรณภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง เป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟู ในกรณีที่ผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้น เมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วน ตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์ของผู้เสียหายเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แม้ความผิดอื่นมีโทษหนักกว่าก็ไม่อาจอ้างสิทธิอุทธรณ์ได้
โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เฉพาะในความผิดที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 193 ตรี แม้ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 จะมีอัตราโทษที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์โดยอ้างว่าเมื่อโทษตามบทหนักไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ความผิดตามฐานในบทเบาย่อมอุทธรณ์ได้ด้วยหาได้ไม่
of 25