คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยยุทธ ศรีจำนงค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 246 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนและครอบครัวต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้าม
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9647/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขบทความผิดและโทษจากรอการกำหนดโทษเป็นฝึกอบรมเยาวชน: กรณีต้องห้ามฎีกา
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตาม ป.อ. มาตรา 340, 340 ตรี จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 และ 357 วรรคหนึ่ง ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลย ยกฟ้องฐานปล้นทรัพย์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคหนึ่ง, 340 ตรี ประกอบมาตรา 83 จำคุก 8 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย 25,540 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยฎีกาว่าไม่มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขบทความผิดและแก้โทษจากรอการกำหนดโทษเป็นฝึกและอบรม มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ไขมากแต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะการฝึกและอบรมไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9313/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะบุตรที่บิดารับรองตามกฎหมายมรดก และการพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรม
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายอันเกิดแต่เจ้ามรดกกับ ส. ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุตรของเจ้ามรดกจริงหรือไม่ หากเป็นบุตรจะมีสถานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นบุตรที่บิดารับรองแล้ว เป็นเรื่องที่ศาลสามารถปรับข้อกฎหมายตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการนำสืบพยานได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด
แม้ผู้คัดค้านมิได้นำสืบว่า เจ้ามรดกอยู่กินฉันสามีภริยากับ ส. อย่างไร เมื่อใด แต่มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ประกอบกับผู้คัดค้านใช้ชื่อสกุลเดียวกับเจ้ามรดกและหนังสือที่เจ้ามรดกมอบอำนาจให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับโอนที่ดินระบุว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร จึงเป็นหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คัดค้านกับเจ้ามรดก และเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์รับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของเจ้ามรดก ฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรที่เจ้ามรดกรับรองแล้ว และถือเป็นผู้สืบสันดาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627
แม้ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกจะเป็นเพียงความเห็นของเจ้าพนักงานผู้ตรวจ ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าลายมือชื่อปัญหากับลายมือชื่อตัวอย่างมีคุณสมบัติการเขียนรูปร่างลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันหลายจุดและสรุปความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ตรวจรู้จักหรือมีสาเหตุกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะมีการทำรายงานการตรวจพิสูจน์ที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ทั้งลายมือชื่อตัวอย่างลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด โดยไม่มีสะดุด ขณะลายมือชื่อปัญหาในพินัยกรรมมีลักษณะการลากเส้นของตัวอักษรทีละตัว คล้ายการลากเส้นช้า ๆ ตามตัวอย่างทำให้น้ำหนักลายเส้นมีลักษณะแข็งไม่อ่อนพลิ้วเหมือนลายมือชื่อตัวอย่าง ทั้งผู้ร้องไม่เคยโต้แย้งเอกสารที่ผู้คัดค้านขอส่งไปตรวจพิสูจน์ เพิ่งมากล่าวอ้างโต้แย้งเอกสารหลังจากปรากฏผลการตรวจพิสูจน์แล้ว ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8921/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงถอนฟ้องคดีอาญาแผ่นดินเป็นโมฆะ แม้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรให้รอการลงโทษและปรับ
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่คดีความผิดอันยอมความได้ บันทึกข้อตกลงในส่วนที่จะถอนฟ้องจึงเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้จะฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่อาจบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงด้วยการให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จำเลยก็จะใช้สิทธิขอให้บังคับในคดีนี้ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าต่อเนื่อง: การกระทำรุมทำร้ายก่อนใช้ของแข็งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานฆ่า ไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
การที่จำเลยร่วมกับพวกรุมเตะผู้ตายเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้ตาย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายอีกบทหนึ่ง คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพียงบทเดียวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายผิดนัด: สิทธิริบมัดจำและผลกระทบจาก พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายกลายเป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยบอกกล่าวให้เวลาแก่โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาใหม่โดยชอบ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิริบมัดจำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และมีสิทธินำที่ดินไปเสนอขายบุคคลอื่นได้ ไม่ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์โดยปริยายแต่อย่างใด พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำหากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ซึ่งโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยในราคา 1,400,000 บาท วางมัดจำไว้ 500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.71 ของราคาที่ดิน เมื่อเทียบมัดจำกับราคาที่ซื้อขายกันแล้ว เห็นได้ว่าเป็นมัดจำที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลง โจทก์และจำเลยต่างมิได้นำสืบว่าความเสียหายแท้จริงที่จำเลยได้รับมีเพียงใด แต่เห็นว่าหากจำเลยขายและได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ย่อมนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาแล้ว จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับผู้ซื้อรายใหม่ในราคา ที่ลดลง เห็นควรลดมัดจำที่จะให้ริบลงเหลือ 200,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยน่าจะเสียหายจริงและจำเลยต้องคืนเงินมัดจำอีก 300,000 บาท แก่โจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณาคดีและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์นั้น มิใช่กรณีที่จำเลยผิดนัดอันจะต้องชำระดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเหตุสืบเนื่องมาจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงิน 300,000 บาท ที่ต้องคืนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาที่ไม่ถูกต้องในคดีเยาวชนและครอบครัว และผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6905/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กำนันเพิกเฉยคำสั่งปิดประกาศกระทบการพิจารณาอนุญาตทางสาธารณประโยชน์
การที่โจทก์จะได้รับการอนุญาตหรือไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 แต่การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวไม่ปิดประกาศแบบ ท.ด.25 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทราบทั่วกัน โดยเฉพาะราษฎรในพื้นที่ให้ทราบว่ามีผู้ขอใช้ทางสาธารณประโยชน์ หากราษฎรผู้ใดมีส่วนได้เสีย ก็สามารถคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นได้นั้น ย่อมเป็นเหตุให้นายอำเภอทับคล้อไม่สามารถรายงานความเห็นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อพิจารณาตามคำขออนุญาตของโจทก์ได้ตามขั้นตอนและตามกำหนดเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ผู้ยื่นคำขอที่ต้องได้รับผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในความล่าช้าอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่จงใจขัดขวางการขออนุญาตใช้ทางสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างบ่อเก็บกากแร่แห่งที่ 2 ให้เกิดอุปสรรคและความล่าช้าในการดำเนินการ โจทก์เป็นผู้ซึ่งได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งการกระทำของจำเลยที่จงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอำเภอ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617-6619/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเกินกำหนดระยะเวลา และการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 คู่ความไม่อุทธรณ์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ส่งคำบังคับแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 หลังจากระยะเวลาในการบังคับคดีล่วงเลยมานานถึง 9 ปีเศษ ใกล้จะพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้วจึงนับว่าเป็นความบกพร่องอันเป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่รีบดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยเสียแต่เนิ่น ๆ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีของโจทก์ไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่มีเหตุสุดวิสัย เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าไม่มีเหตุดังที่โจทก์อ้างมาในคำร้อง อันเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยที่ศาลควรอนุญาตขยายระยะเวลาบังคับคดีให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2557 มีเหตุที่จะขยายระยะเวลา เนื่องจากรายงานผลการส่งคำบังคับยังไม่เข้าสำนวน โจทก์จึงสามารถยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดีได้และตามคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีฉบับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยทำงานที่บริษัท บ. ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาบังคับคดีเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่คู่ความพิพาทกัน ก็ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักร: การกระทำสำเร็จเมื่อข้อความถึงบุคคลที่สาม
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร
of 25