คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 174 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 331 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลไม่ครบถ้วนกรณีอุทธรณ์ทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีในส่วนที่ทิ้งฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินหรือไม่ และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินตกเป็นโมฆะและฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายดังกล่าว จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทโดยตรงที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงินหรือไม่ แล้วจึงวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียงจำนวนเดียว 200,000 บาท และวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนอีก 215,500 บาท นั้น แม้ในอุทธรณ์ของจำเลยแผ่นสุดท้ายจะมีลายมือเขียนคำว่า "ฟ้องแย้ง" ไว้เหนือตราประทับเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลซึ่งเป็นลายมือเขียนของพนักงานรับฟ้องอุทธรณ์ ที่อาจทำให้เข้าใจว่าเป็นการเสียค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้ง แต่คดีนี้ทุนทรัพย์ในส่วนฟ้องเดิมและในส่วนฟ้องแย้งมีจำนวน 28,000,000 บาทเท่ากัน และตามสำเนาใบรับเงินค่าธรรมเนียมท้ายอุทธรณ์ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องเดิมหรือฟ้องแย้ง ทั้งการตรวจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณานั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นทำการแทนศาลอุทธรณ์ เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยโดยรวมเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้เงิน มิใช่นิติกรรมที่สมบูรณ์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงจำนวนเดียว 200,000 บาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนฟ้องเดิมครบถ้วนแล้ว ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาคดีในส่วนฟ้องเดิมตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป ส่วนที่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นกรณีที่จำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกเฉยโจทก์ไม่ดำเนินคดีหลังตกลงชดใช้ค่าเสียหาย ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดี
การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดโดยให้ส่งหมายนัดให้โจทก์อีกครั้งพร้อมแนบสำเนาคำร้องของจำเลย โดยให้ระบุในหมายนัดว่า หากโจทก์จะคัดค้านให้คัดค้านก่อนหรือภายในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ไม่คัดค้าน ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลต้องการนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์และจำเลยมาศาลเพื่อแถลงร่วมกันเกี่ยวกับการชำระเงินของจำเลยในนัดต่อไป เมื่อโจทก์ไม่มาศาลเพื่อแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันจะทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรม การละเลยของโจทก์เช่นนี้ถือว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3868-3869/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์, ดุลพินิจศาล, ค่าขึ้นศาล, การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ, ความยุติธรรมในการพิจารณาคดี
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ตามมาตรา 132 (1) ประกอบมาตรา 246 แต่มาตรา 132 ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าศาลจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและความยุติธรรม
เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ได้เสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200,000 บาท 37,482 บาท 95,162 บาท และ 35,162 บาท ชี้ให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเงินเพียง 500 บาท แล้ว ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความจึงเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 จะทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่ากรณียังไม่สมควรจำหน่ายคดีของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความได้ว่ากล่าวกันในเนื้อหาแห่งคดีกันต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์ในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยเสียค่าธรรมเนียมในการส่งจะไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้เพราะไม่พบภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เขียนแผนที่แสดงภูมิลำเนาจำเลยเพื่อประกอบดุลพินิจก่อนจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยต่อไป จึงเป็นคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลงพร้อมแผนที่สังเขป แต่โจทก์แถลงส่งแผนที่ที่ระบุเพียงว่าเป็นตึก 2 ถึง 3 ชั้น โดยไม่ระบุเลขที่บ้านของอาคารดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้โจทก์แสดงแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง โจทก์ก็ยื่นคำแถลงโดยไม่ได้ส่งแผนที่ตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม โจทก์ยื่นคำแถลงและส่งแผนที่ลักษณะเดิม พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 246พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาใช้บังคับในศาลชั้นต้น แต่กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว และ ป.วิ.อ. ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทิ้งอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 4 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายแก้ฎีกาและการทิ้งฟ้อง: ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจำหน่ายคดีเนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องค่าธรรมเนียม
ในชั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาของโจทก์ มิได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาแม้ศาลชั้นต้นระบุในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งทนายโจทก์มาศาลว่า ...หมายแจ้งจำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ให้โจทก์นำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ในการนำส่งหรือวางค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการส่งหมายนัดแจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ฎีกาว่าให้โจทก์ดำเนินการภายในเวลาเท่าใด ซึ่งหากโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ทนายโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่เคยโทรศัพท์แจ้งให้มาดำเนินการส่งหมายแล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการนั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในการติดต่อโทรศัพท์ว่าทนายโจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลว่าอย่างไร เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับ โจทก์ก็เพียงแต่วางค่าธรรมเนียมในการส่งเท่านั้น ทนายโจทก์อาจเข้าใจว่าได้วางค่าธรรมเนียมในการส่งไว้ตั้งแต่วันยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้ว จึงไม่ดำเนินการนำเจ้าหน้าที่ไปส่งหมายนัดให้แก่จำเลยทั้งสองและไม่วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นอีก ตามพฤติการณ์จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) หาได้ไม่ จึงยังไม่สมควรจำหน่ายฎีกาของโจทก์ด้วยเหตุทิ้งฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048-5049/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยเพิกเฉยต่อคำสั่งชำระค่าขึ้นศาลศาลฎีกาสั่งทิ้งฟ้องฎีกา
คดีนี้ศาลฎีกาสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ว่า ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นเรียกคู่ความทั้งสองฝ่ายมาสอบถามราคาทรัพย์ทั้งหมดตามพินัยกรรมและให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลทั้งสองสำนวนให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด มิฉะนั้นให้ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว จำเลยทั้งสามทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าจำเลยทั้งสามทิ้งฟ้องฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาทิ้งฟ้องเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการส่งสำเนาฎีกาและเอกสารให้แก่คู่ความอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า รับเป็นฎีกาของจำเลยที่ 1 สำเนาให้ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แก้ฎีกา ให้ผู้ร้องนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ในวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาและคำแถลงดังกล่าว ทนายจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องที่ประทับตราด้านล่างฎีกาและคำแถลงของจำเลยที่ 1 ว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นอย่างช้าที่สุดในวันที่ 25 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 แต่จำเลยที่ 1 คงนำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์โดยวางเงินค่านำส่งในวันที่ยื่นฎีกาและคำแถลงเท่านั้น มิได้ส่งคำร้องไม่คัดค้านของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 และไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ถือว่าเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกข้ามประเทศและการทิ้งฟ้องคดี: การพิสูจน์ฐานะตัวแทนและการปฏิบัติตามคำสั่งศาล
แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงดังกล่าว โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาล ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่ชำระค่าขึ้นศาล และผลกระทบต่อสิทธิฎีกา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องและฟ้องแย้ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งสองส่วน รวมกันเป็นเงิน 1,750 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มา 900 บาท ถือว่าเป็นการชำระค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องของโจทก์ครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ดำเนินการเสียค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์เฉพาะในส่วนฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องดำเนินคดีในส่วนฟ้องตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไป และผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 (เดิม) ประกอบมาตรา 243 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดก: ศาลไม่ควรบังคับให้ผู้ร้องนำเอกสารที่ไม่ใช่ข้อบังคับมาพร้อมคำร้อง ขอให้รับคำร้องและไต่สวน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ผู้ตาย โดยบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นบุตรของ บ. และ ห. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน บิดามารดาและพี่น้องบางคนได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยไม่เคยแต่งงานและไม่มีบุตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก คำร้องขอของผู้ร้องได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นทายาทที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นคำร้องที่สมบูรณ์และชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 171 ประกอบมาตรา 172 วรรคสอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายซึ่งรับรองโดยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายใน 7 วัน จึงจะพิจารณาสั่งคำร้องขอ มิฉะนั้นถือว่าไม่รับ แม้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ก็ตาม แต่หนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำร้องขอ คงเป็นเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดที่ผู้ร้องสามารถนำสืบได้ในชั้นไต่สวนว่า บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผู้ตาย และอาจส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนได้ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้ผู้ร้องจะมิได้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องที่ยื่นโดยชอบแล้วหาได้ไม่และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ด้วยก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งทิ้งคำร้องจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายโดยให้รับคำร้องขอแล้วดำเนินการไต่สวนต่อไปตามรูปคดีต่อไป
of 34