คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7772/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ ตำรวจพบของกลางน้อย ไม่พบรายได้จากละเมิด สั่งชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนหนังสือ
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วม 40,000 บาท สูงเกินไป ค่าเสียหายหากมีจริงก็ไม่เกิน 1,000 บาท นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งไม่เกินสองแสนบาท และไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีนี้ได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 41
การที่โจทก์ร่วมนำตัวเลข รูปภาพและเครื่องหมายต่าง ๆ มาปรับใช้เป็นโจทย์ปัญหาในวิชาคณิตศาสตร์เพื่อให้นักเรียนสามารถคิดวิธีทำและหาคำตอบได้ในเวลาอันรวดเร็วในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" นั้นมิได้มีเพียงทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ หนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นงานนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นเรื่องราวในรูปของหนังสือด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยการแสดงออกซึ่งการริเริ่มของโจทก์ร่วมเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นอันเป็นงานวรรณกรรมตามความหมายในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หาใช่เป็นเพียงความคิด หรือขั้นตอนกรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์อันไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 วรรคสอง และโจทก์ร่วมมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกให้เพื่อแสดงว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ผลงานหนังสือของโจทก์ร่วมทั้งสองเล่มดังกล่าวต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าว จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้งสองเล่มนั้น
ตามคำฟ้องในคดีก่อนโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งว่า ระหว่างวันที่ 8 มีนาคม 2549 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้เปิดโรงเรียนเลิศคณิต สมาร์ท เซ็นเตอร์ สาขาพัทลุง กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์และผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเรียกค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของโจทก์ร่วมที่ตำบลป่าพะยอม อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และเรียกค่าสินไหมทดแทน การฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้เป็นการฟ้องโดยอ้างการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์คนละครั้งกับในคดีก่อน การฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 ในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องในคดีก่อนอันจะเป็นฟ้องซ้อน ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมของผู้เสียหายด้วยการคัดลอกนำเอาข้อความบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญในหนังสือ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 1" และ "Smart Center Mental Arithmetic System Course 1 Book 2" ไปทำซ้ำ ดัดแปลง และผสมรวมกับข้อความอื่นในหนังสือของฝ่ายจำเลยแล้วจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มใหม่เป็นหนังสือใช้ชื่อว่า "MAGIC ABACUS" เท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวเพื่อการค้า และจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าหนังสือชื่อ "MAGIC ABACUS" นั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่หนังสือนั้นเพื่อการค้าและหากำไรอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะระบุบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21441/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.ตร./ก.ต.ช. เมื่อคดีเดิมยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2639/2550 ของศาลแขวงดุสิต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาซ้อนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการและผู้เสียหาย
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19938/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีเดิมซ้ำ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยผิดพลาด ศาลฎีกาแก้
ปรากฏตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสองว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองต่างมีหน้าที่ร่วมกันและช่วยกันในการคุ้มครองดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ป่าช้าหัวนาหว้า ทรัพย์สินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิให้ผู้ใดกีดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว การดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าวของผู้ร้องสอดคนใดคนหนึ่งย่อมผูกพันผู้ร้องสอดอีกคนหนึ่งตามที่มีหน้าที่ร่วมกัน ผลแห่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 หมายเลขแดงที่ 1288/2549 ของศาลชั้นต้น ที่แม้จะปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เพียงผู้เดียวเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ตาม แต่ย่อมมีผลผูกพันถึงผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วยเช่นกัน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนศาลจังหวัดอุดรธานีมีคำพิพากษา ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องอีกต่อไป ศาลจังหวัดอุดรธานียกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ ขณะที่คดีที่ผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจังหวัดอุดรธานีรับคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสองไว้พิจารณาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 6329 ซึ่งเห็นได้ว่าคดีนี้ที่ผู้ร้องสอดทั้งสองร้องสอดเข้ามา และคดีที่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยดังกล่าวนั้น มีประเด็นพิพาทเป็นอย่างเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นคดีเรื่องเดียวกัน การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ตามมาตรา 57 (1) ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยแล้ว แม้ศาลจังหวัดอุดรธานีจะสั่งยกคำร้องขอ แต่ผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์และคดียังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา การที่ผู้ร้องสอดที่ 2 นำคดีเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2263/2548 ของศาลชั้นต้นอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 ไว้พิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบ และส่งผลพลอยทำให้กระบวนพิจารณาที่ดำเนินต่อมาในภายหลังจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1288/2549 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามให้ยกฟ้องของผู้ร้องสอดที่ 2 และคดีถึงที่สุดไปแล้วนั้น พลอยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เสมือนหนึ่งไม่เคยมีการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีดังกล่าวมาก่อนเลย ดังนั้น การดำเนินคดีนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวของผู้ร้องสอดที่ 2 อันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15364-15365/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-ละเมิดทางธุรกิจ: การกระทำต่างกรรมต่างวาระ และการนำสืบพยานเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
แม้คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น จะเป็นคดีที่มีมูลละเมิดอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 3 กับโจทก์ต่างเป็นคู่ความรายเดียวกัน แต่การที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 กับการที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารเป็นคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน โดยร่วมกับบุคคลต่างกัน หาใช่บุคคลผู้เป็นคู่ความรายเดิมไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระจากมูลละเมิดในคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
การที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้อง ช. ในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384/2546, 386/2546, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน - ความผิดฐานฉ้อโกงและเช็ค - การกระทำกรรมเดียว - หลักการพิจารณา
หลักที่จะใช้พิจารณาว่าความผิดทั้งสองคดีเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม คือ การกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันหรือไม่ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี ๆ ไป
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงสั่งซื้อสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมในคดีนี้เป็นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมไว้วางใจเพื่อจะได้ฉ้อโกงสินค้าเป็นจำนวนมากด้วยการอาศัยวิธีการออกเช็คชำระค่าสินค้าแทนเงินสดโดยเจตนาที่จะไม่ใช้เงินตามเช็ค พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเพียงอุบายของจำเลยกับพวกเพื่อให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและส่งมอบสินค้าผ้าในคดีนี้ให้จำเลยกับพวก การออกเช็คชำระหนี้คราวแรกจึงเป็นการกระทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้การที่จำเลยออกเช็คจำนวน 11 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมจะกระทำขึ้นภายหลังจากจำเลยกับพวกได้รับสินค้าผ้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คคราวแรกให้โจทก์ร่วมแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการออกเช็คแทนเช็คฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและแทนที่การออกเช็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงตลิ่งชันในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงตลิ่งชัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาอ้างว่า ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีนี้จำเลยได้อ้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลแขวงตลิ่งชัน ทำให้ศาลแขวงตลิ่งชันพิพากษายกฟ้องคดีที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาบังคับแก่กรณีนี้นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมยังคลาดเคลื่อนอยู่เพราะบทบัญญัติในมาตรา 39 (4) แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องฟ้องซ้ำ ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่ง ป.วิ.พ. เป็นเรื่องฟ้องซ้อน เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อ ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนไว้โดยเฉพาะ จึงนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องซ้อนใน ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15928/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: แม้คดีแรกยังไม่ถึงที่สุด แต่ฟ้องเรื่องเดียวกันย่อมเป็นฟ้องซ้อน
ป.วิ.พ. มาตา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน..." ความในบทบัญญัติดังกล่าวให้ความหมายชัดเจนว่า คดีแรกซึ่งจะประกอบเป็นเหตุผลให้คดีหลังต้องห้ามมิให้ฟ้องนั้น จะต้องมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550 ก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 และก่อนที่ คดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ทั้งสองคดีดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งข้อห้ามตามบทบัญญัติในประโยคแรกแห่งมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ไม่
ฟ้องของโจทก์คดีนี้ และคดีหมายเลขแดงที่ 1933/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ 2764/2550 ล้วนเป็นฟ้องที่โจทก์อ้างสิทธิในการที่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมตามสัญญาว่าจ้างโจทก์พัฒนาโครงการที่พักอาศัยรวม 3 แห่ง เพียงแต่โจทก์แยกฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมแต่ละเดือนเป็นคดีไป คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2548 เดือนมีนาคม 2548 และเดือนเมษายน 2548 อันเป็นการอ้างสิทธิของโจทก์ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกัน ฟ้องทั้งสามคดีนี้จึงเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อขณะโจทก์ยื่นฟ้อง คดีแรกคือ คดีหมายเลขดำที่ 890/2550 และคดีที่สองคือคดีหมายเลขดำที่ 1417/2550 ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ขณะนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเดือนเมษายน 2548 ตามสัญญาทั้งสามฉบับชุดเดียวกันดังที่โจทก์กล่าวอ้างและนำมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้แล้ว ข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างว่าถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิไม่ชำระค่าธรรมเนียมเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2548 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะต้องฟ้องรวมกันมาเสียทีเดียว การที่โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14919-14978/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแรงงาน: สหภาพแรงงานฟ้องแทนลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างฟ้องซ้ำถือเป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทย สมาชิกมีมติเอกฉันท์ให้สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกค่าเสียหายแทนสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย จึงเป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 103 (2) และมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งหกสิบรวมทั้งลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกสิบในคดีนี้ด้วย ดังนั้นสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ทั้งหกสิบและเป็นผู้ใช้สิทธิแทนโจทก์ทั้งหกสิบฟ้องคดี เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเสียหาย ขอเรียกค่าเสียหายนับแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลบังคับจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลฎีกา คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนเวนคืนที่ดิน: การฟ้องเรียกค่าทดแทนซ้ำกับคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด และการไม่กระทบสิทธิจากความล่าช้าของรัฐ
คดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมทั้งดอกเบี้ย เป็นเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาลดลง สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ยืนต้น ค่าเสียหายเนื่องจากต้องรื้อถอนสาธารณูปโภคและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มในรายการและจำนวนเงินเดียวกันกับคดีก่อนพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองในคดีก่อนได้ยื่นอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
แม้คดีซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีก่อนโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดพร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดก็มีมูลเหตุมาจากการที่โจทก์อ้างว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในอัตราที่เป็นธรรมและในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันว่าเงินค่าทดแทนซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์เป็นอัตราที่เป็นธรรมแล้วหรือไม่ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นส่วนตัวแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 แต่ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้ที่ไม่พอใจในจำนวนเงิน ค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ แต่ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเงินค่าทดแทนเพิ่มโดยการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้รับความกระทบกระเทือนหรือล่าช้าไปกว่าระยะเวลาหกสิบวันตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีเดิมซ้ำ แม้จะมีการถอนฟ้องคดีแรกแล้ว ก็ยังถือเป็นฟ้องซ้อนตามกฎหมาย
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในมูลละเมิดและประกันภัยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2026/2548 ของศาลจังหวัดปฐม แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีก่อนเสียเพื่อไปฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิมและรายเดียวกันเป็นคดีนี้ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ดังนั้น เมื่อคดีที่โจทก์ขอถอนฟ้องในคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต้องถือว่าคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์นำมูลหนี้รายเดียวกันฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอีกจึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาศาลฎีกาจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง คดีก่อนถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่
of 19