คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3132/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-ขาดอำนาจฟ้อง: การถอนฟ้องไม่สมบูรณ์หากคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล
การถอนคำฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 176 นั้น หมายถึงการถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ แม้โจทก์จะขอถอนฟ้องคดีก่อน ซึ่งมีคู่ความเดียวกันและมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังอุทธรณ์และฎีกาต่อมา และขณะโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟัองโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาคดีก่อนจะถึงที่สุดก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้น กลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิ์ฟ้องแย้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกซ้ำซ้อน และการยกข้อกฎหมายใหม่ในชั้นฎีกา
เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วและคดีอยู่ในระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นคดีนี้อีกเพราะเป็นการร้องซ้อนกับคำร้องขอที่ตนได้ยื่นไว้ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ผู้ร้องก็ไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอีก แม้จะมีเหตุที่จะเพิกถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียก่อน
แม้ผู้คัดค้านจะเพิ่งยกเรื่องคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายในคดีก่อนขึ้นอ้างในฎีกาโดยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาก่อน แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องหรือร้องขอเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำซ้อน: การฟ้องคดีล้มละลายที่มีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับเดียวกันกับคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา ถือเป็นฟ้องซ้ำ
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระแก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ศาลก็ต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 556/2547 สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับก็เป็นอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ในขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 556/2547 อยู่ในระหว่างการพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6641/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ไม่ชอบด้วยกฎหมาย: คดีค่าเสียหายจากละเมิดที่ฟ้องซ้ำและคดีที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
คดีก่อน ศ. พี่สาวโจทก์ทั้งสอง ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กรณีจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ ม. บิดาโจทก์ทั้งสองและ ศ. ถึงแก่ความตาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ โดยปรากฏว่า ศ. ฟ้องในฐานะเป็นบุตรผู้ตายที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ สำหรับค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาท ม. ผู้ตาย ทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่ได้รับความเสียหาย และตามคำฟ้องคดีก่อนไม่ปรากฏข้อความว่า ศ. ฟ้องแทนโจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองแก่ ศ. ก็เป็นการพิพากษาโดยไม่ชอบไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสองซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว เมื่อได้ความจากคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่าขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้ ม. บิดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายขอให้ชดใช้ค่าปลงศพ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ อันเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนที่ ศ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา คดีระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ในเรื่องเรียกค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) และได้ความว่า ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่ ศ. ตามคำฟ้องแล้ว อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เรื่องเดียวกับคดีนี้แล้ว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะค่าขาดไร้อุปการะเท่านั้น ส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถในกิจการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับนั้น ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ของผู้ตายหรือไม่ เพียงใด ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อนที่ ศ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีเรื่องเดียวกันซ้ำในศาลต่างกัน เป็นการฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการแก้ไขคำฟ้อง
คดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โดยพนักงานอัยการในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ในกรณีที่โจทก์คดีนี้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารจากจำเลย โดยชำระเงินจองและผ่อนชำระราคาไปแล้ว ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คดีนี้ การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารรายเดียวกันอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันเป็นเพียงซ้อนกับคดีก่อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ต่อมาโจทก์ในคดีก่อนจะขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอตัดรายชื่อโจทก์คดีนี้จากคำฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์คดีนี้ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4608/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแพ่งจากสัญญาจ้างแรงงานไม่เป็นฟ้องซ้อนคดีอาญาเรื่องยักยอกเงิน แม้มีคำขอให้คืนเงินเหมือนกัน
คดีอาญาเรื่องก่อน พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเงินและขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกไปแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อันเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่รับเงิน เก็บรักษาเงิน อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน ตกลงว่าระหว่างการทำงานหากจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอก ฉ้อโกงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดพร้อมค่าปรับอีก 3 เท่าของราคาทรัพย์สินหรือความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกเงินโจทก์ไปหลายครั้ง อันเป็นการจงใจละเมิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินที่ยักยอกและค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ซึ่งเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง แม้จะมีคำขอให้คืนหรือใช้เงินที่ยักยอกเหมือนกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีที่พนักงานอัยการขอให้บังคับในส่วนแพ่งมาจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีมูลจากสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาค้ำประกัน ข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาจึงมิได้เป็นอย่างเดียวกัน มิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาเรื่องก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-อำนาจพิจารณาคดี: ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีได้ แม้ศาลอื่นประทับฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลจังหวัด ก. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 ไว้แล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัด ป. อีกในวันรุ่งขึ้น ฟ้องคดีหลังของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัด ป. ไม่ชอบไปด้วย แม้ศาลจังหวัด ก. จะไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหลังจากศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้แล้ว กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) เพราะไม่ใช่กรณีที่ศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจังหวัด ก. ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเป็นศาลแรก จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6066/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีทรัพย์มรดก – การฟ้องคดีซ้ำที่มีประเด็นวินิจฉัยเดียวกันกับคดีที่ยังพิจารณาค้างอยู่
คดีก่อนโจทก์เคยให้พนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรี ยื่นคำร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพระภิกษุทองดี โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีที่ได้มาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศ จำเลยได้ยื่นคำคัดค้านในคดีก่อนว่า ทรัพย์ที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีที่ได้มาระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศตกเป็นของวัดจำเลยที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุทองดี คดีดังกล่าวจึงมีประเด็นว่า พระภิกษุทองดีได้ทรัพย์สินมาก่อนเวลาที่อยู่ในสมณเพศหรือไม่ และเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์หรือไม่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุทองดีได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ จึงตกเป็นของวัดจำเลยที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุทองดี ไม่มีเหตุที่จะตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยกล่าวอ้างทำนองเดียวกันกับคดีก่อนว่า ทรัพย์มรดกพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุทองดีได้มาก่อนบวชเป็นพระภิกษุที่วัดจำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่าทรัพย์มรดกพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พระภิกษุทองดีได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นสมบัติของวัดจำเลย เมื่อในคดีก่อนพนักงานอัยการจังหวัดปราจีนบุรีร้องขอแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาท ย่อมถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนโจทก์ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยฟ้องของโจทก์คดีนี้กับคดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3786/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรสไม่เป็นฟ้องซ้อนคดีหย่า เพราะเป็นคนละมูลคดีกัน
คดีก่อนจำเลยได้ฟ้องหย่าโจทก์ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ระหว่างพิจารณาโจทก์ได้ฟ้องขอหย่าจากจำเลยและจำเลยได้ฟ้องแย้งขอหย่าทั้งขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีนี้ ต่อมาคู่ความตกลงกันในคดีก่อนทำสัญญาประนีประนอมหย่าขาดจากกัน และศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนในคดีนี้คู่ความได้ตกลงสละประเด็นเรื่องฟ้องหย่าตั้งแต่ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องหย่าในคดีนี้ นอกจากนี้ประเด็นในการฟ้องหย่ามีสาระเป็นเรื่องของสภาพการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา แต่เรื่องการขอแบ่งสินสมรสเป็นคดีฟ้องเรียกทรัพย์สินโดยมีสาระอยู่ที่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรสหรือไม่ จึงเป็นคนละมูลคดีกัน แม้จะมีผลมาจากการฟ้องหย่า แต่ก็หาจำต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมากับคดีฟ้องหย่าไม่ นอกจากนี้ก็ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าจะต้องฟ้องขอแบ่งสินสมรสมาพร้อมกันกับการฟ้องหย่าดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอแบ่งสินสมรสคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4329/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีอาญาซ้ำกับคดีเดิมที่อยู่ระหว่างพิจารณา
การพิจารณาว่าฟ้องคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรกหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ไม่ใช่พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและโจทก์เมื่อศาลรับคำฟ้องแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลแขวงไว้แล้ว ระหว่างส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้แก่จำเลย โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยข้อหาเดียวกันต่อศาลอาญา ฟ้องคดีหลังของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
of 19