คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 188 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกจำเลยร่วมเพื่อไล่เบี้ยจากผู้ขนส่งหลายทอด และอายุความของสิทธิเรียกร้อง
คำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากตนเองต้องแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) นั้น ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยและให้เข้าร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ด้วยเท่านั้น จำเลยไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่จำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดี ไม่เป็นฟ้องซ้อนนั้นชอบแล้ว
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายของสินค้าที่ส่งต่อโจทก์ซี่งเป็นผู้ส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมที่ 1 ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 คำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดีเป็นการใช้สิทธิของจำเลยเพื่อไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มิใช่เป็นคำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
การใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเป็นผู้ขนส่งหลายทอดด้วยกันนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141-4142/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำซ้อน - ลดโทษ - รอการลงโทษ - กฎหมายใหม่ใช้บังคับ - ความผิดเสพยาเสพติด
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน และเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องทั้งสองสำนวนก็เป็นจำนวนเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องในสำนวนแรก แม้ในสำนวนหลังโจทก์ฟ้องข้อหาสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเข้ามาด้วยแต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกับข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเอง ซึ่งโจทก์สามารถขอแก้ฟ้องด้วยการเพิ่มเติมข้อหาดังกล่าวในสำนวนแรกได้อยู่แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นสำนวนหลังว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกับสำนวนแรกย่อมเป็นการใช้สิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองครั้งในการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์สำนวนหลัง จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการคำนวณค่าเช่าและดอกเบี้ยผิดนัด
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ซึ่งได้ความว่าสาเหตุที่ต้องประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) เนื่องจากจำเลยคำนวณค่ารายปีและค่าภาษี ปีภาษี 2558 ไม่ถูกต้องครบถ้วนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ พื้นที่ให้เช่าขนาดเล็ก ศูนย์อาหาร และเครื่องเล่นเด็ก จึงได้คำนวณใหม่และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เพื่อเรียกเก็บภาษีในส่วนที่ขาด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) คดีนี้เป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มเติมจากการประเมินในปีภาษี 2558 และเป็นภาษีคนละจำนวนกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ประกอบกับจำเลยได้มีหนังสือแจ้งคำชี้ขาดสำหรับการประเมิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 เป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขคดีดำที่ ภ.2/2559 ไว้ก่อนแล้ว และต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันและไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าหลักฐานและสัญญาเช่าที่โจทก์นำส่งไม่สมบูรณ์และโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแสดงพื้นที่โรงเรือนขาดไป ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีเกี่ยวกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 โดยวินิจฉัยว่า วิธีการที่จำเลยใช้ในการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่เพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการที่คำนึงถึงค่าเช่าและพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกันจึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่แล้ว เพราะเมื่อนำไปคำนวณกลับกับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรในคดีดังกล่าวจึงกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะแต่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปีภาษี 2559 มีการใช้ทรัพย์สินในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของโจทก์แตกต่างไปจากการใช้ทรัพย์สินของโจทก์ในปีภาษี 2558 อย่างไร จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่สำหรับปีภาษี 2559 เท่ากับ 676.72 บาท
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทนโดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปีและมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 สถานศึกษาของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาในระดับปริญญา ทำการสอน การวิจัยและการอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แม้จะยังไม่มีการเรียนการสอน สถานศึกษาเอกชนนั้นย่อมมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และจากบทบัญญัติของมาตรา 9 มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทหนึ่งที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 10 คือ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และแม้มหาวิทยาลัย ป. ยังไม่มีการเรียนการสอน แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุชัดว่า มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การกีฬา และสาธารณสุข ทั้งยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา เช่น หัวข้อเกี่ยวกับนักศึกษาใหม่ หลักสูตรการเรียนการสอน และคณาจารย์ไว้ชัดแจ้ง แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย ป. จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย ป. จึงมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามความในมาตรา 8 และ 9 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกับนำข้อมูลต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ จัดให้มีพิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานของมหาวิทยาลัย ป. และมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับบุคคลต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นหลงเชื่อว่ามหาวิทยาลัย ป. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต
การบรรยายฟ้องของโจทก์สามารถแยกเจตนาของจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1.1 ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อ 1.2 ฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีทั้งสองดังกล่าวโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ส. และมหาวิทยาลัย ส. 2 ซึ่งเป็นคนละมหาวิทยาลัยกับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับทั้งสองคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว และคำขอคืนเงินไม่เป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ศ. หลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าและทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ศ. ว่าบริษัท ศ. มีนโยบายสมนาคุณให้แก่ลูกค้าพิเศษ มีโครงการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์พิเศษจากลูกค้าโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทุก 6 เดือน อันเป็นความเท็จ โจทก์ร่วมหลงเชื่อสั่งจ่ายเช็ค 21 ฉบับ ให้จำเลยแล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ศาลต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินแต่ละครั้งตามวันเดือนปีที่โจทก์ร่วมสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับให้แก่จำเลยหรือโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินเพียงครั้งเดียว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ขอให้คืนเงินแม้ถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งโจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยและบริษัท ศ. ฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์และเรียกทรัพย์คืนอันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับส่วนแพ่งในคดีนี้และคดีแพ่งเป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำขอให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยและบริษัท ศ. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแพ่งและอาญา, อำนาจฟ้อง, ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญา
พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3131/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีอาญา: การฟ้องคดีเดียวกันซ้ำซ้อนที่ศาลต่างกันเป็นเหตุให้ฟ้องเป็นอันตกตามกฎหมาย
เมื่อพิจารณาสาระสำคัญแห่งคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่กับพวกอีก 2 คน ในคดีก่อนเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบสี่ในคดีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ กระทำความผิดทั้งสองคดีในช่วงวันเวลาเดียวกัน อีกทั้งมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดทั้งสองคดีก็เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ นำเอาข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลอันเป็นความลับที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสืบสวนเรื่องการทุจริตในมหาวิทยาลัย ว. ที่จำเลยจัดทำขึ้นไปเปิดเผยหรือแจ้งข่าวแก่สื่อมวลชนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบสี่ แม้คดีก่อน โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะบุคคลธรรมดาในฐานความผิดที่ยอมความได้ และคดีนี้โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิด ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานในความผิดที่ยอมความไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีนี้และการกระทำความผิดที่มีการฟ้องร้องทั้งสองคดีเกิดขึ้นจากมูลเหตุเรื่องเดียวกันในช่วงวันเวลาเดียวกัน การวินิจฉัยความผิดทั้งสองคดีจึงต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่ศาลอาญาและหลังจากนั้นได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ที่ศาลชั้นต้น โดยคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบสี่นำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมายื่นฟ้องจำเลยคนเดียวกันเป็นสองคดีซ้อนกัน ซึ่งเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีเรียกค่าเสียหายจากเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายเดิม ย่อมเป็นฟ้องซ้อนหากฟ้องคดีใหม่ระหว่างคดีเดิมยังพิจารณาอยู่
คดีสองสำนวนก่อนกับคดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายฉบับเดียวกันในคราวเดียวกัน จึงมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นเดียวกัน แม้คดีนี้จะมีคำขอที่แตกต่างกันไปโดยอ้างข้อตกลงในสัญญาตัวแทนจำหน่ายว่าภายหลังเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมีหน้าที่รับคืนสินค้าแต่จำเลยไม่รับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นคำขอที่สามารถขอได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว เพราะการเรียกค่าเสียหายเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยเลิกสัญญาฉบับเดียวกัน และจำเลยมีหนังสือแจ้งการไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายไปยังโจทก์ พร้อมกับแจ้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้โจทก์ส่งมอบสินค้าในคลังสินค้าคืนแก่จำเลยตามราคาที่สั่งซื้อไปถึงสองครั้งแต่โจทก์เพิกเฉยและกลับไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นสองคดีก่อน แสดงได้ชัดเจนว่ามีข้อโต้แย้งเรื่องคืนสินค้ากันก่อนฟ้องสองคดีก่อน และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกในคดีนี้สามารถเรียกได้ในสองคดีก่อนอยู่แล้ว หรือหากมีความเสียหายเพิ่งปรากฏภายหลังฟ้องสองคดีก่อน โจทก์ก็สามารถขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายในสองคดีก่อนได้ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันใหม่เป็นคดีนี้ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิกัดศุลกากร: การนำเข้าเครื่องสแกนเนอร์และเครื่องพิมพ์เลเซอร์ร่วมกันถือเป็นเครื่องอุปกรณ์เฉพาะสำหรับห้องปฏิบัติการภาพถ่าย ไม่อยู่ในพิกัด 8471.50
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2550 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ศาลพิพากษาว่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0109-0148-70129 จัดเข้าพิกัดศุลกากร 8471.90 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ย ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสิบสองเป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบขนสินค้าเลขที่เดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ต่อมาจะได้ความจากอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์และศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ได้ก่อนคดีถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ก่อนมีการออกแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า โจทก์เคยมีข้อโต้แย้งการจัดประเภทพิกัดสินค้าพิพาทในคดีนี้ โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มงานพิกัดอัตราศุลกากร ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยเข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพิพาท เจ้าพนักงานประเมินเคยมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปชี้แจงและยื่นเอกสาร และโจทก์ยังมีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายโต้แย้งการจัดพิกัดสินค้าพิพาทของผู้จับกุม ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีแบบแจ้งการประเมินอ้างถึงเลขที่ใบขนสินค้าพิพาทที่ตรวจพบว่าสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ ซึ่งหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ระบุว่า "ชื่อของหมวด ตอน และตอนย่อย ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้สะดวกแก่การอ้างอิงเท่านั้น ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทให้จำแนกตามความของประเภทนั้น ๆ ตามหมายเหตุของหมวดหรือของตอนที่เกี่ยวข้องและตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้ หากว่าประเภทหรือหมายเหตุดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น" หลักเกณฑ์ข้อ 6 ระบุว่า "ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย การจำแนกประเภทของของเข้าในประเภทย่อยของประเภทใดประเภทหนึ่งให้เป็นไปตามความของประเภทย่อยที่เกี่ยวข้องและตามหลักเกณฑ์ข้างต้นโดยอนุโลม โดยพิจารณาเปรียบเทียบในระหว่างประเภทย่อยที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตามวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์นี้ให้ใช้หมายเหตุของหมวดและของตอนที่เกี่ยวข้องด้วย เว้นแต่จะมีข้อความระบุไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งหมายเหตุของหมวด 16 ข้อ 4 ระบุว่า "ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร) ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือต่อเชื่อมกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิลไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ) โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่งในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85 ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่นั้น" ส่วนหมายเหตุของหมวด 18 ตอนที่ 90 ข้อ 3 ระบุว่า "ข้อกำหนดของหมายเหตุ ข้อ 4 ในหมวด 16 ให้ใช้กับตอนนี้ด้วย" และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 จ. ระบุว่า "เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้นหรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ" เมื่อสินค้าเครื่องสแกนเนอร์พิพาทที่โจทก์นำเข้ามาพร้อมกับเครื่องเลเซอร์ปริ้นเตอร์และใช้งานร่วมกันเป็นเครื่องอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างเป็นเครื่อง DIGITAL MINILAB นำมาใช้งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการภาพถ่ายออกแบบเพื่อทำงานร่วมกันตรงตามความในหมายเหตุข้อ 4 หมวด 16 หมายเหตุข้อ 3 ตอน 90 และหมายเหตุของตอนที่ 84 ข้อ 5 (จ) จึงจัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 9010.50 ในฐานะเป็นเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ตามห้องปฏิบัติการภาพถ่าย (รวมถึงภาพยนตร์) และเครื่องเนกาโตสโกป ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
of 19