คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 146

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 187 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923-8927/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย และความเป็นนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก. ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก. ลูกหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำการแทน จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ลูกจ้างของกรมบังคับคดีอันเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม หรือเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ การที่จำเลยทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นว่าไม่จำเป็นให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาโดยอ้างเหตุว่าสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของทางราชการไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จนได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชานั้น เป็นเพียงความเห็นของจำเลยในปัญหาว่าจำเป็นต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ไม่ใช่จำเลยกระทำหรือวินิจฉัยให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าว ไม่ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งห้าจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องหรือไม่ นั้นจำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าทำงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ อันเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของจำเลยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ประกอบข้อเท็จจริง แต่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาคดีใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: ใช้บทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไขเมื่อฟ้องคดีก่อน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (3) จากข้อความเดิมที่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน...สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น..." มาเป็นมาตรา 179 (4) มีข้อความใหม่ว่า "ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สิน... สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น... " และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดีดังกล่าว" คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินสำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 179 (3) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดีบังคับแก่คดี คือค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้คิดในอัตราร้อยละสามครึ่งของราคาทรัพย์สินนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องบังคับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังการล้มละลาย: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ดำเนินการ
พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 26 และมาตรา 27 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ โดยจะต้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ดังกล่าว แต่ก็ห้ามเฉพาะหนี้เงิน ส่วนหนี้ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กันซึ่งเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ หาอยู่ในบังคับที่ห้ามมิให้ฟ้องแต่อย่างใดไม่ เมื่อหนี้ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และโดยเหตุที่ผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองอีกต่อไป แต่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามมาตรา 22 (1) (3) โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ล้มละลายให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ได้
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นมิใช่เป็นการร้องขอเพื่อให้กลับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 146 ทั้งมิใช่เป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องไปดำเนินการในคดีล้มละลาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าหนี้มีอำนาจฟ้องได้หากไม่ใช่หนี้เงิน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 26 และมาตรา 27 ที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้นั้นห้ามเฉพาะหนี้เงิน ส่วนหนี้ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่กันซึ่งเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เพราะมิใช่หนี้เงิน ไม่อยู่ในบังคับที่ห้ามมิให้ฟ้อง และโดยเหตุที่ผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองอีกต่อไป แต่เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวตามมาตรา 22 (1) (3) ทั้งหนี้ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินก็เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้ล้มละลายให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ได้ การที่จำเลยปฏิเสธสิทธิของโจทก์โดยสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีผลเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และการที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ก็มิใช่เป็นการร้องขอเพื่อให้กลับคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 146 ทั้งมิใช่เป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดไว้โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คดีของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องดำเนินการในคดีล้มละลาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลาย: อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และการยื่นคำร้อง
หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ในการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปได้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 บัญญัติว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน ดังนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายก็ชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีล้มละลาย ไม่ใช่ยื่นคำร้องในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5544/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องเพิกถอนการขายทอดตลาดหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต้องยื่นในคดีล้มละลาย ไม่ใช่คดีเดิม
คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ต่อมาในคดีล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ในการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 "เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์" หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน ดังนั้น การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยเหตุใดๆ ก็ชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องในคดีล้มละลายดังกล่าว ไม่ใช่มายื่นคำร้องในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การบอกเลิกสัญญา, ข้อตกลงพิเศษ, ผลของการบอกเลิกสัญญา, การส่งมอบทรัพย์สิน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่กรณีกับผู้ร้องผู้ให้เช่าโดยตรง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการดำเนินการต่อสู้คดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 155 แม้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากเป็นผู้รับสิทธิตามสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเนื่องจากมีผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่โจทก์มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านหากเห็นว่าบกพร่องก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งแก้ไขตามมาตรา 146 เมื่อผู้คัดค้านแถลงหมดพยาน ทนายโจทก์แถลงขอสืบพยานโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแล้วนั้นยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ส่วนใดจึงขอสืบพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ คดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตามสัญญาและผลของกฎหมายเมื่อสัญญาสิ้นสุดโดยการบอกเลิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแทบทั้งสิ้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำเสนอเอกสารเป็นพยานครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาเพียงพอแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ขอสืบย่อมเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร จึงไม่อนุญาตให้โจทก์นำเข้าสืบได้ตามมาตรา 86 วรรคสอง
ผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นหลักทั่วไปของนิติกรรมสัญญา กฎหมายไม่ได้ห้ามคู่สัญญาที่จะทำนิติกรรมตกลงกันให้ผลของการเลิกสัญญาเป็นประการอื่น หากข้อตกลงนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลบังคับได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หนังสือสัญญาเช่าที่ดินข้อ 4 ที่ว่า "...เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือเมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามสัญญานี้ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ทั้งหมด..." ข้อ 11 ที่ว่า "ถ้าผู้เช่า...ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที" และข้อ 12 ที่ว่า "เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือสัญญาเช่านี้สิ้นสุดตามสัญญาข้อ 11... ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง" นั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลใช้บังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 379/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ไม่สร้างผลเสียหายเจ้าหนี้ ไม่ต้องแก้ไขตามมาตรา 146
กระบวนการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น ลำพังความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ทำเสนอต่อศาลเกี่ยวกับการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ย่อมไม่มีผลบังคับได้โดยทันที จึงไม่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทำความเห็นเสนอต่อศาลเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง โดยเห็นควรให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 3,013,498.94 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ จึงยังมิได้ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย กรณีไม่ต้องด้วยพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ที่ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขความเห็นของผู้คัดค้านดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902-4904/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดค่าตอบแทนผู้ทำแผนในคดีฟื้นฟูกิจการ และอำนาจศาลในการพิจารณาหลังยกเลิกคำสั่งฟื้นฟู
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนในขณะคดีฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและเป็นการกำหนดตามที่ศาลได้มีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้นโดยให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 เช่นนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวจึงอาจถูกคัดค้านโต้แย้งได้ภายในกำหนด 14 วัน หาเป็นที่สุดไม่ แม้ในวันเดียวกันนั้นศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ผลของคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวยังมีผลกระทบต่อสิทธิของลูกหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นและเมื่อบุคคลดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาคำร้องคัดค้านต่อไปได้ ทั้งคำร้องคัดค้านดังกล่าวที่ขอให้กลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์
ผู้ทำแผนจะมีฐานะเป็นผู้ทำแผนและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้นับแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/17 ก่อนหน้านั้นหาได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ระหว่างลูกหนี้ซึ่งมิได้เป็นผู้ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการกับผู้ทำแผนไม่ แต่หากว่ามีหนี้ค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนก็เป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนในฐานะเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 ในส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนนั้น ศาลจะพิจารณาให้ผู้ทำแผนมีสิทธิเบิกจ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ศาลต้องพิจารณาถึงผลสำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าแผนดังกล่าวมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายหรือไม่ แผนสามารถนำไปใช้ในการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ แผนดังกล่าวที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและศาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่ และศาลต้องพิจารณาถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ทำแผนสมควรใช้ประกอบคุณภาพและความสำเร็จของงาน รวมทั้งความสามารถของผู้ทำแผนในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ว่าลูกหนี้มีสถานะหรือผลประกอบการดีขึ้นเพียงใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902-4904/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องพิจารณาผลสำเร็จการจัดทำแผนและผลประกอบการหลังเข้ารับหน้าที่
ในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดในขณะที่คดีฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและเป็นการกำหนดตามที่ศาลได้มีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบกลั่นกรองในเบื้องต้นและศาลยังได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องคัดค้านได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 146 เช่นนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านโต้แย้งได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน หาเป็นที่สุดไม่ แม้ในวันเดียวกันนั้นศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวยังมีผลที่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ทั้งสามหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะพิจารณาคำร้องคัดค้านต่อไปได้
การที่ผู้ทำแผนจะมีฐานะเป็นผู้ทำแผนและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเริ่มตั้งแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/17 ก่อนหน้านั้นหาได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างลูกหนี้ทั้งสามซึ่งมิได้เป็นผู้ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการกับผู้ทำแผนไม่ เช่นนี้ผู้ทำแผนจะขอเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนหาได้ไม่ หากว่าหนี้ดังกล่าวจะมีอยู่จริงก็เป็นหนี้ซึ่งลูกหนี้ทั้งสามได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนในฐานะเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 หาใช่เบิกจ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับและตรวจสอบการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป ทั้งมีอำนาจในการตั้งผู้ทำแผนและให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งกรณีจึงรวมถึงการอนุญาตหรือมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการ เจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลได้โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีการจ่ายเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนได้
เนื่องจากหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/43 และผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/25 ในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ทำแผนเนื่องจากการกระทำหน้าที่ดังกล่าวในส่วนของการทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้นศาลจะพิจารณาให้ผู้ทำแผนมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนได้เป็นจำนวนเท่าใด ศาลต้องพิจารณาถึงผลสำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าแผนดังกล่าวที่ผู้ทำแผนได้จัดทำนั้นมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้จัดทำขึ้นมาแล้วนั้นสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ อีกทั้งเมื่อมีการนำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการนั้นที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและศาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ทั้งในการพิจารณาดังกล่าวศาลจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ทำแผนสมควรจะใช้เมื่อพิจารณาประกอบคุณภาพของงานและความสำเร็จของงาน อัตราค่าตอบแทนผู้ทำแผนศาลอาจจะกำหนดเป็นหน่วยรายชั่วโมงหรือกำหนดเหมารวมเป็นรายชิ้นงานไปก็ได้ ในส่วนที่ผู้ทำแผนได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามนั้นศาลจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามในระหว่างที่ผู้ทำแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ผู้ทำแผนได้ทำให้กิจการของลูกหนี้ทั้งสามมีสถานะหรือผลประกอบการดีขึ้นเพียงใด มีรายได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในส่วนค่าใช้จ่ายซึ่งได้แก่ ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ผู้ทำแผนได้จ่ายไป ศาลจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามปกติในการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ทั้งสามทั้งยังจะต้องพิจารณาว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ทั้งสามโดยแท้จริงหรือไม่ทั้งค่าที่ปรึกษากฎหมายที่จะพิจารณาให้เบิกนั้นก็ย่อมอยู่ในกรอบเฉพาะค่าที่ปรึกษากฎหมายในส่วนที่ผู้ทำแผนได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามได้ร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนตามคำสั่งอันเป็นการโต้แย้งกระบวนการในคดีฟื้นฟูการเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการกำกับดูแลคดีฟื้นฟูกิจการได้ควบคุมกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม กรณีถือได้ว่าเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ 200 บาท
of 19