คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
รังสรรค์ กุลาเลิศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของแพทย์ต่อความเสียหายทางจิตใจของมารดาจากความพิการของทารกในครรภ์
จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยครรภ์โจทก์ที่ 1 ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานของการตรวจคัดกรอง การตรวจอัลตราซาวด์ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อหาความผิดปกติของทารกแบ่งได้เป็น 3 ระดับ การตรวจระดับ 1 เป็นการตรวจคัดกรองอย่างง่ายดูจำนวนทารก การมีชีวิตของทารก การประมาณอายุครรภ์ ปริมาณน้ำคร่ำ ส่วนนำของทารก ตำแหน่งทารก และความพิการบางอย่างที่สามารถเห็นได้ง่าย จำเลยที่ 3 ให้ความเห็นในการตรวจว่า ทารกมีชีวิต เพศชาย บุตรในครรภ์ 1 คน รกอยู่ด้านหลังของมดลูกปริมาณน้ำคร่ำปกติ ลักษณะลำตัว ตับ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ และกระดูกสันหลังปกติ ความยาวของกระดูกต้นขา 21 มิลลิเมตร ตรงกับอายุครรภ์ 16.3 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารกอยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงให้เห็นว่าในการตรวจอัลตราซาวด์สามารถเห็นอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายของทารกในครรภ์ได้ หากจำเลยที่ 3 ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติหรือความพิการของทารกในครรภ์ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งผลการตรวจให้โจทก์ที่ 1 ทราบว่ายังไม่สามารถตรวจพบความพิการในส่วนแขนและขาของทารกได้เพราะยังมองเห็นไม่ครบถ้วน การที่จำเลยที่ 3 แจ้งว่าทารกในครรภ์มีสภาพร่างกายสมบูรณ์หรือไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งๆที่สภาพร่างกายทารกมีความพิการรุนแรง ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เสียโอกาสในการตัดสินใจว่าจะหาทางแก้ไขเยียวยาหรือดำเนินการเกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และหากโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ย่อมมีโอกาสเตรียมใจยอมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนการคลอดโจทก์ที่ 2 มากกว่าที่จะรู้ถึงความพิการของโจทก์ที่ 2 โดยกะทันหันกระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจโจทก์ที่ 1 อย่างรุนแรง การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่พบความพิการของโจทก์ที่ 2 และไม่ได้แจ้งโจทก์ที่ 1 ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนด้วยภาษาที่โจทก์ที่ 1 จะเข้าใจได้ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจอันเป็นความเสียหายแก่อนามัย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 แพทย์เจ้าของไข้ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์ของโจทก์ที่ 1 ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ที่ 1 ด้วย
แม้โจทก์ที่ 2 พิการรุนแรงเรื่องจากมีความผิดปกติในขณะที่โจทก์ที่ 1 ตั้งครรภ์อยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม และจำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพิการของโจทก์ที่ 2 เกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามนอกจากนี้ กรณีของโจทก์ที่ 2 แม้ตรวจพบความพิการก็ไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขในระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ได้ต้องรอให้คลอดออกมาก่อน โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบว่า หากจำเลยที่ 3 พบความพิการของโจทก์ที่ 2 แล้วจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ตรวจไม่พบความพิการนั้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายหรือพิการมากขึ้น แต่กลับได้ความว่า หากพบความพิการของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 จะปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ความพิการทางร่างกายของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8093/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมายประกันสังคม โจทก์ไม่ต้องนำไปคำนวณเงินสมทบ
โจทก์กำหนดอัตราค่านั่งเครื่องของพนักงานแคชเชียร์ในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาทต่อคน เท่ากันทุกเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าหากพนักงานแคชเชียร์มีความประพฤติไม่ดี ทำความผิดหรือทำงานมีข้อผิดพลาดก็จะหักคะแนนและนำไปปรับลดเงินค่านั่งเครื่องตามหลักเกณฑ์ของโจทก์ ในบางเดือนอาจมีพนักงานแคชเชียร์บางคนไม่ได้รับค่านั่งเครื่องเลย แต่การจ่ายค่านั่งเครื่องให้จริงเป็นจำนวนมากน้อยหรือไม่จ่ายค่านั่งเครื่องเลยย่อมขึ้นอยู่กับการประเมินผลในเรื่องความประพฤติปฏิบัติตนและความตั้งใจในการทำงาน การจ่ายค่านั่งเครื่องดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายให้เพื่อส่งเสริมให้พนักงานแคชเชียร์ตั้งใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความประพฤติที่ดี ลดข้อผิดพลาดในการทำงานให้น้อยลง และกระตุ้นให้พนักงานตั้งใจทำงานเป็นสำคัญ ไม่ได้มีลักษณะเป็นการตอบแทนในการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติตามความหมายของคำว่าค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ค่านั่งเครื่องแคชเชียร์ของพนักงานแคชเชียร์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์ไม่ต้องนำค่านั่งเครื่องดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานเรื่องดอกเบี้ยค่าชดเชยและดอกเบี้ยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท
คดีนี้ ศ. เป็นกรรมการของจำเลย ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ศ. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่ ศ. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนั้น ส่วนที่จำเลยกำหนดให้ ศ. อยู่ในงานด้าน MKT. Advisor ตามแผนผังองค์กรก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ศ. พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย ศ. จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลย และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลย จึงเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
โจทก์เบิกความว่าตามบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 โจทก์ไปประชุมไม่ได้ออกไปทำงานส่วนตัว และปรากฏว่าในบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 โจทก์จดบันทึกไว้ด้วยว่าไปประชุม โดยโจทก์ได้รับคำสั่งจาก ศ. และไปกับ ศ. ทุกครั้ง สถานที่ไปเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จึงมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จดบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งของจำเลยในบันทึกการประชุมผู้จัดการฝ่ายเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งในการตอกบัตรลงเวลาทำงาน และจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 ที่ออกโดย ว. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยอันเป็นการวางระเบียบการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับแก่พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแก่คนใดคนหนึ่ง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม มีผลใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7433/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง: ลักษณะงาน, การจ่ายค่าจ้าง, และอำนาจบังคับบัญชา
ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้ความหมายของสัญญาจ้างไว้ในทำนองเดียวกันว่า สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ และ ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติว่า "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้" เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง อันหมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์ในแต่ละครั้งมีลักษณะแตกต่างจากการจ่ายเงินเดือน และโจทก์ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยหรือผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดีสัญญาประกัน: ความรับผิดทางแพ่งอยู่ภายใต้กำหนดเวลา 10 ปีตามกฎหมาย
ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6389/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการกระทำอนาจารและการทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาปรับบทลงโทษให้ถูกต้อง
การกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 280 นั้น จะต้องได้ความว่าผลของความตายของผู้ถูกกระทำอนาจารเกิดจากการกระทำอนาจาร แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ตายถูกจำเลยทั้งสองขับรถจักรยานยนต์แซงเบียดจนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายล้มลง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะแทรกซ้อน ความตายของผู้ตายย่อมมิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำอนาจารผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4481/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการเพิกถอนการยึดทรัพย์เมื่อหนี้ระงับ แม้ทรัพย์สินเป็นสินสมรส ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอได้
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินของผู้ร้องเนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์มีต่อจำเลยระงับไปแล้ว เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิบังคับคดีต่อโจทก์อีกต่อไปและการบังคับคดีโดยการยึดที่ดินของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะอุทธรณ์ว่าทรัพย์สินที่ยึดเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องและโจทก์ก็ตาม แต่หากหนี้ที่โจทก์มีต่อจำเลยเป็นหนี้ที่ระงับไปแล้ว การยึดที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายจากเหตุดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดโดยอ้างว่าทรัพย์สินที่ยึดไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการยึดทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาฟ้องคดีแรงงานต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนด
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการนับระยะเวลาไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ดังนั้นการนับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 5 เรื่องระยะเวลาอันเป็นบทบัญญัติทั่วไป โดยมาตรา 193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี" เมื่อโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานในวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2554 โจทก์ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว โจทก์จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง โดยต้องเริ่มนับระยะเวลาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 193/3 วรรคสอง ดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 จึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริต: การรับเรื่องร้องทุกข์ผ่านพนักงานสอบสวนและการยืนยันความเสียหายของกรมสามัญศึกษา
แม้มาตรา 66 และมาตรา67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จะกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 67 (1) ถึง (4) แต่คดีการไต่สวนข้อกล่าวหาความผิดของจำเลยเข้ามาสู่การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดย พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของ พ. และหนังสือส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ของสถานีตำรวจภูธรเมืองน่าน มีรายละเอียดของข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของ ท. จำเลย และผู้เกี่ยวข้องให้กรมสามัญศึกษาทราบก็เพื่อให้พิจารณาว่ากรมสามัญศึกษาได้รับความเสียหายจากจำเลยและประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้องว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เมื่อกรมสามัญศึกษายืนยันว่าได้รับความเสียหายและขอร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แสดงว่ากรมสามัญศึกษาประสงค์จะกล่าวหาจำเลยและผู้เกี่ยวข้อง แม้หนังสือร้องทุกข์ของกรมสามัญศึกษาดังกล่าวจะระบุเพียงความเสียหายโดยไม่มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีรายละเอียดข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กรมสามัญศึกษาจะต้องระบุซ้ำอีก ถือได้ว่ากรมสามัญศึกษายื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 และมาตรา 67 ระบุไว้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดทางอาญาและส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 97 ย่อมถือได้ว่าเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1340/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์: การบังคับใช้แรงงานด้วยการข่มขู่และควบคุมบุตร การกระทำความผิดต่างกรรมกัน
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ 1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้
of 7