คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1736

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1780/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้กองมรดกในการยึดทรัพย์มรดก แม้มีการโอนทรัพย์ให้ทายาทแล้ว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น" การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์และต่อมาจำเลยถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ฟ้องและต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม ที่ดินพิพาทยังมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลย ดังนี้ แม้ที่ดินพิพาทจะโอนใส่ชื่อ พ. ทายาทจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่ พ. เพิ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ตราบใดที่โจทก์เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ให้ถือว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 การที่ พ. รับโอนที่ดินพิพาทมาไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทพ้นจากสภาพการเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของจำเลยที่จะต้องรับผิดชำระหนี้สินของจำเลยให้แก่เจ้าหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินพิพาทโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยมาบังคับคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3973/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมของผู้อนุบาลต้องกระทำร่วมกัน หรือได้รับคำสั่งศาลเป็นพิเศษ
ป.พ.พ. มาตรา 1598/18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1590 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับแก่ผู้อนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลหลายคนให้กระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 179/2558 ให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของ ฤ. และจำเลยร่วมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนโดยศาลฎีกาให้ ฤ. เป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ ตามคำสั่งศาลระบุเพียงว่า ฤ. และจำเลยเป็นผู้อนุบาลโจทก์ผู้ไร้ความสามารถ โดยมิได้กำหนดหน้าที่ของผู้อนุบาลแต่ละคนไว้โดยเฉพาะและมิได้กำหนดให้ผู้อนุบาลกระทำการร่วมกันอย่างไร ยกเว้นแต่ในเรื่องการกำหนดที่อยู่ที่ศาลฎีการะบุให้ ฤ. เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของโจทก์ได้ กรณีจึงต้องถือว่าการใดที่ ฤ. และจำเลยกระทำการแทนโจทก์รวมถึงการบอกล้างโมฆียะกรรมต้องกระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจกัน ดังนั้น การที่โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยร่วมฟ้องเป็นคดีนั้นจึงขัดต่อคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้แม้การกระทำของจำเลยจะเป็นปฏิปักษ์ต่อทรัพย์ของโจทก์ แต่ ฤ.ไม่อาจอ้างเหตุความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เพราะ ฤ. อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถโดยแสดงเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ฤ. เพียงฝ่ายเดียวมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หรือขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้อนุบาลร่วมได้ ดังนั้น โจทก์โดย ฤ. ในฐานะผู้อนุบาลเพียงคนเดียวจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก, กรรมสิทธิ์รวม, อายุความ, และอำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดก
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของ ส. ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. เจ้ามรดกเพื่อนำไปแบ่งปันทายาท สภาพแห่งข้อหาคือ ที่ดิน มรดก และกรรมสิทธิ์รวม คำขอบังคับ คือ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยทั้งสองแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ ที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองอันเป็นมรดกของ ส. ที่จะตกแก่ทายาทของ ส. ซึ่งมีโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกจะต้องนำไปแบ่งทายาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องชัดแจ้งถูกต้องตาม ป.วิ.พ. 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ ส่วนที่โจทก์จะได้ส่วนแบ่งเพียงใดนั้นตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ไม่ได้ระบุเป็นส่วนของบุคคลใดจำนวนเท่าใด ต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 โจทก์ไม่ต้องอ้างมาในฟ้องเนื่องจากเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับบทกฎหมาย และถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 3 ส่วน คือ 4 ไร่เศษ ซึ่งในชั้นตีราคาพิพาทเพื่อชำระค่าขึ้นศาล โจทก์ขอคิดเพียง 4 ไร่ จำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจคำฟ้องแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสองและ ส. แบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง และต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่า มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วอันเป็นการอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ซึ่งหากเป็นจริงดังที่จำเลยทั้งสองให้การ จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1
สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนอกประเด็นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง โดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาท ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. 1748 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสองและ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดกและตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. เจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินให้ตามมาตรา 1636 วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1736
ทั้งนี้ขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันโดยรับภาระจำนองคนละ 1 ใน 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1362, 1365 ประกอบมาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา 1602 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง 1 ใน 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้วตามมาตรา 226 ประกอบมาตรา 229 (3) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11631/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกต่างประเทศ: ทายาทมีสิทธิรับทรัพย์มรดกแบ่งแล้ว เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องได้
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของผู้ตายที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันในประเทศไทย เงินจำนวน 2,800,000 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยทั้งหกรับไว้อันเนื่องมาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายที่อยู่ในต่างประเทศนั้น มิใช่เงินที่จำเลยทั้งหกมีความรับผิดที่จะต้องชำระแก่ผู้ตายในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมิใช่หนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกที่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอื่นจะเรียกให้ชำระแก่กองมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่หากเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งหกและมีการแบ่งปันกันแล้วโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และ 1750 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่เจ้าหนี้กองมรดกจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ก่อนหรือหลังจากแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้วก็ย่อมจะสามารถทำได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อแบ่งมรดกแล้ว เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ ทายาทคนใดซึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดกเกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยทายาทคนอื่นได้ตามมาตรา 1738 วรรคสอง ดังนั้น การที่ธนาคาร ท. ธนาคาร ก. หรือเจ้าหนี้กองมรดกรายใดจะเรียกร้องให้ชำระหนี้เอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกได้รับแบ่งมรดกไว้หรือไม่ ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดกที่เรียกร้องแก่จำเลยทั้งหกคนใดหรือทั้งหมดก็ได้ แต่ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ทายาทที่ได้รับแบ่งมรดกไปจะอ้างว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้กองมรดกไม่ได้เท่านั้นและยังคงมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้กองมรดกเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไปตามมาตรา 1601 และ 1738 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกรายใดไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากเงินที่จำเลยทั้งหกหรือทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกดังกล่าวไปตามมาตรา 1738 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง กรณีผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
คำว่า "ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันการกระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 หากผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ในระหว่างนี้ผู้จัดการมรดกที่เหลือยังไม่อาจจัดการมรดกต่อไปได้ เมื่อการฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 วรรคสอง ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองกับ ป. เป็นผู้จัดการมรดกต่อมา ป. ถึงแก่ความตาย การที่โจทก์ทั้งสองจะจัดการมรดกเพียง 2 คน โดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินของผู้ตายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนผู้จัดการมรดก: เหตุผลความจำเป็นในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินกองมรดก
ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1839/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดกต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากไม่มีอำนาจ ศาลต้องยกคำพิพากษาเดิม และดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งศาล มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพียงคนเดียวโดยไม่มีจำเลยที่ 1 ร่วมด้วยขัดต่อมาตรา 1726 จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้ง
ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องและยื่นคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินกองมรดกครึ่งหนึ่งของผู้ตายในฐานะเป็นเจ้าของร่วมซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ยื่นคำให้การต่อสู้ว่าทรัพย์มรดกผู้ตายไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นก็ควรต้องฟังพยานโจทก์ให้ได้ความก่อนว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายตามที่โจทก์ฟ้องเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมกับผู้ตายทำมาหาได้ร่วมกันมาในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันจริงตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอาศัยสิ้นสุดเมื่อโรงเรือนถูกรื้อถอน การปลูกสร้างใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ก่อให้เกิดสิทธิอาศัย ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องขับไล่
การอยู่อาศัยที่ ป.ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ป.ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองรื้อบ้านซึ่งเป็นโรงเรือนไปแล้ว สิทธิอาศัยย่อมสิ้นลง จึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1402 และมาตรา 1408 การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป.ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่ไม่และเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามมาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านพอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้าน โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกชอบที่จัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการนำทรัพย์สินมาจัดตั้งบริษัทให้ทายาทถือหุ้น ถือเป็นการแบ่งมรดกที่สมบูรณ์
ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้
แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง
เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2789/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของทายาทและผู้จัดการมรดกต่อหนี้ภาษีอากร โดยจำกัดความรับผิดตามทรัพย์มรดก
ผู้ร้องรับผิดเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมถึง ห. ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) และ 1087 เมื่อ ห. ถึงแก่ความตาย ความรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรจึงตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 และ 1600 และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้จึงต้องถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการซึ่งผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามมาตรา 1736 การที่จำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างแทน ห. ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของห. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่กองมรดกค้างชำระอยู่
การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ห. ทำบันทึกยินยอมชำระหนี้อีกฉบับหนึ่งหลังจากฉบับแรก 9 เดือน ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างไปอีกคราวหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับที่สองทั้งในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของห. เนื่องจากจำเลยทำบันทึกดังกล่าวขึ้นเพื่อขอผัดผ่อนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างตามที่ได้มีการทำบันทึกยินยอมชำระหนี้ฉบับแรก โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดกย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1737
แม้จำเลยจะทำบันทึกยินยอมชำระหนี้โดยไม่โต้แย้งทั้งสิ้น แต่ความรับผิดของจำเลยในฐานะทายาทเกี่ยวกับหนี้สินของ ห. เจ้ามรดกนั้น ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามมาตรา 1601 นอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตามมาตรา 1724 ด้วย ปัญหานี้เป็น ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากร ศาลฎีกามีอำนาจ ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 6