คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป อ่าววิจิตรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 227 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4015/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: คำสั่งมอบหมายงานที่ไม่สมเหตุสมผลไม่อาจเป็นเหตุลงโทษทางวินัยได้
โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงานที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยร่วมลูกจ้าง เพราะจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่าหนังสือเตือนฉบับที่ 1 ไม่เป็นความจริง โดยระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2557 โจทก์มอบหมายงานที่ไม่ให้เวลาแก่จำเลยร่วมพอสมควร เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมให้ทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 แต่ในระหว่างนั้นในวันที่ 7 และวันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมทำอีก 2 งาน รวมเป็น 4 งาน ดังนั้น การที่จำเลยใช้ดุลพินิจว่าการมอบหมายงานดังกล่าวแก่จำเลยร่วมไม่เป็นธรรมชอบแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลและวินิจฉัยแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะไม่ได้หยิบยกบทกฎหมายขึ้นอ้างในคำวินิจฉัยให้ชัดเจน และการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจะรวบรัดไปบ้าง แต่คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวก็ได้กล่าว หรือแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
หนังสือเตือนฉบับที่ 1 มีข้อความระบุว่า จำเลยร่วมกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการกระทำผิดครั้งหลังก็เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน แต่เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งมอบหมายงานของโจทก์ตามเอกสารมอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำ ที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือเตือนฉบับที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมได้ การที่โจทก์นำหนังสือเตือนฉบับที่ 1 มาใช้เป็นเหตุเลิกจ้างโดยอ้างว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือนกับหนังสือเตือนครั้งหลังจึงไม่อาจกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาจ้างและการไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่
การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า "ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ... ทุจริตต่อหน้าที่.." เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8245/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการของโรงแรมไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เนื่องจากไม่ใช่การตอบแทนการทำงานโดยตรง
ค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดเงินสมทบต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียกับเงินค่าบริการที่เรียกเก็บจากลูกค้าของโจทก์ โจทก์เป็นคนกลางในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าเพื่อนำมาคำนวณเฉลี่ยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น ทั้งลักษณะธรรมชาติของเงินค่าบริการนี้มีจำนวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เมื่อเงินค่าบริการนี้มิได้จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ จึงมิได้เป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7603/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยการใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง และการโอนสิทธิสามยทรัพย์ แม้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ ภาระจำยอมยังคงมีผล
ที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3824/2558 เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เมื่อคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3815 เนื้อที่ 66 ตารางวา ถูกแบ่งแยกไว้เพื่อให้ที่ดินแปลงจัดสรรใช้เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะโดยเจ้าของที่ดินจัดสรรได้ใช้ทางดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาก่อนจำเลยทำประตูและรั้วปิดกั้นทางพิพาท เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 เป็นทางส่วนบุคคลที่เจ้าของมีเจตนาแบ่งแยกให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรและมีการใช้ประโยชน์เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จำเลยจะทำประตูกั้นทาง ถนนซอยตามโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินแปลงจัดสรรที่อยู่ข้างเคียงโดยอายุความแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นทางภาระจำยอมด้วยซึ่งความเป็นภารยทรัพย์นี้ ย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์นั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้ตกเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ในเวลาต่อมาแต่อย่างใด ขณะ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ส. ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตลอดมาเกิน 10 ปี แสดงว่า ส. ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในลักษณะที่เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของตน ดังนั้น ที่ดินพิพาทตามที่ดินโฉนดเลขที่ 3815 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 ด้วย โจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 7784 อันเป็นสามยทรัพย์มาจาก ส. ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย โจทก์จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางพิพาทอันเป็นภาระจำยอม การที่จำเลยทำประตูเลื่อนปิดเปิดและกำแพงรั้วสังกะสีปิดกั้นทางพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยเปิดที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นทางรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5699/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดจากการจดทะเบียนกรรมการโดยไม่ชอบ และการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม
คดีเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองพ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมและจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าไปเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังเดิม ครั้นโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยินยอมจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสองกลับเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หากเกิดหรือมีความเสียหายใดๆ ก่อนหรือขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองขอสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งค่าเสียหายยังมิได้วินิจฉัยในคดีเดิม จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิม
ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ทำละเมิด จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะนายจ้างและตัวแทนของนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดกับจำเลยที่ 5 นั้น โจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองว่าไม่ชอบ หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของโจทก์ทั้งสองเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ทั้งสองฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนด 1,000,000 บาท เป็นจำนวนต่ำมากนั้น โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องขาดรายได้จากเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับจากการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ในช่วงที่ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีก่อนฟ้อง เห็นควรกำหนดให้ 2,000,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี: การมอบอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของบริษัทจำกัด ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่า โจทก์โดย อ. ได้มอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ แม้ภายหลังจากจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ เอกสารหมาย จ.3 ลงลายมือชื่อ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุว่า โจทก์โดย จ. มอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ก็ตาม แต่ อ. กรรมการโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์มีเพียงหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9855/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง: ต้องมีเจตนาตกลงชัดเจนจึงจะมีผลผูกพัน
แม้ใบรับขนสินค้าของจำเลยที่ 1 มีข้อความท้ายสุดว่า "สินค้าที่ไม่ได้ประเมินราคา เมื่อเกิดความชำรุดหรือเสียหายจะชดใช้ไม่เกิน 500 บาท" ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมด้วย ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนที่สินค้าเสียหายจริงคือ 34,527.50 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9592/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนชื่อผู้เสียชีวิตออกจากบัญชีบุคคลที่ถูกกำหนดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ซ. ซึ่งเป็นผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดถึงแก่ความตาย สภาพบุคคลของ ซ. ย่อมสิ้นไปไม่อาจเกี่ยวข้องทางกายภาพกับกิจกรรมการก่อการร้ายหรือสนับสนุนแก่การก่อการร้ายได้ต่อไปอีก ถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนชื่อ ซ. ออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดได้
of 23