คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป อ่าววิจิตรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 227 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: การคุ้มครองทุพพลภาพถาวรและการคืนเบี้ยประกันภัย
ข้อตกลงในสัญญาใดจะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงจะคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาใบสมัครเอาประกันภัยที่โจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอสมัครเอาประกันภัยไว้ทุกแผ่น จะเห็นได้ว่ามีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรไว้หลายที่ โดยเฉพาะในแผ่นที่ 2 จะมีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่าทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรพิมพ์อยู่เหนือบริเวณโจทก์ลงลายมือชื่อและโจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านว่าโจทก์ไม่ทราบข้อความดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ทราบถึงเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยในกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตแล้ว หากโจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวทำให้เสียเปรียบเกินสมควรโจทก์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยและเลือกทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยที่โจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเป็นประโยชน์แก่โจทก์สูงสุด โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนที่จะเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยก็เท่ากับโจทก์ตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดของจำเลยจากกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่โจทก์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะตกเป็นโมฆะ
สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกัน ให้คำจำกัดความของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวร หมายถึง ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้หรือกรณีดังต่อไปนี้ ตาบอดทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือข้างใดข้างหนึ่งและเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตาบอดข้างใดข้างหนึ่งและการตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อได้ความตามใบรับรองแพทย์ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายแพทย์ ว. แพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์บันทึกไว้ในใบรับรองแพทย์ว่า โจทก์ต้องพักฟื้นรักษาตัวมีกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ยังต้องทำกายภาพบำบัดและรอเวลาใส่ขาเทียม อีก 3 ถึง 6 เดือน เห็นได้ว่าเป็นกรณีโจทก์ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เข้าเงื่อนไขของการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย โดยได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยคุ้มครองทุพพลภาพและเบี้ยประกันชีวิตที่ครบกำหนดชำระในระหว่างที่ทุพพลภาพถึงสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการผ่าตัดตัดขาซ้ายออกระดับเหนือเข่าลงมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันรายเดือน เดือนละ 2,015.20 บาท ตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2560 จนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญาประกันภัย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดเดือนธันวาคม 2560 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2561 โดยวิธีหักจากบัญชีธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 16,121.60 บาท จำเลยจึงต้องคืนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งการยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยอันถือได้ว่าเป็นการทวงถามเบี้ยประกันที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ทุจริตและตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 415

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1757/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุพพลภาพถาวรจากสูญเสียขา การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย และการยกเว้นเบี้ยประกัน
คำนิยาม "ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร" ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมายความถึง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใด ๆ ได้โดยสิ้นเชิง และการทุพพลภาพนั้นต้องเป็นการต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดการทุพพลภาพขึ้นและไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ รวมถึงการสูญเสียอวัยวะดังต่อไปนี้ (ก) สูญเสียสายตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ หรือ (ข) สูญเสียมือทั้งสองข้าง หรือสูญเสียมือหนึ่งข้างและเท้าหนึ่งข้างโดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า หรือ (ค) สูญเสียสายตาหนึ่งข้างและไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้และสูญเสียมือหรือเท้าหนึ่งข้างโดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า ทั้งนี้ให้รวมถึงการสูญเสียสมรรถภาพในการใช้งานของอวัยวะข้างต้นโดยสิ้นเชิงและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าไม่สามารถกลับมาใช้งานได้อีกต่อไป นิยามที่ว่า การทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ ได้ นั้น ต้องตีความโดยคำนึงถึงอาชีพเดิมก่อนการสูญเสียอวัยวะอย่างเป็นธรรมและพิจารณาเปรียบเทียบกับความสูญเสียอวัยวะตามคำนิยามของกรมธรรม์ในส่วนอื่น ๆ มาประกอบด้วย โจทก์สูญเสียขาขวาทั้งข้างโดยตัดออกตั้งแต่เชิงกรานแม้จะเป็นการสูญเสียขาขวาเพียงข้างเดียวแต่ก็นับได้ว่าเป็นการสูญเสียมากกว่าการสูญเสียเท้าหนึ่งข้างโดยตัดออกตั้งแต่ข้อเท้าอย่างมาก โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องควบคุมการก่อสร้าง ติดต่อลูกค้า การที่โจทก์เสียขาขวาทั้งขาตั้งแต่เชิงกรานย่อมไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ การทำกิจวัตรประจำวันไม่ใช่การประกอบอาชีพ การที่โจทก์ต้องตัดขาขวาทั้งข้างตั้งแต่เชิงกรานเป็นการสูญเสียถาวรจึงต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เป็นการหย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานในอาชีพตามปกติที่เคยทำ ถือได้ว่า โจทก์ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวรตามคำนิยามในสัญญาประกันชีวิต
ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตมีข้อกำหนดการจ่ายผลประโยชน์กรณีโจทก์เสียชีวิต จำเลยจะจ่ายเงินให้ผู้รับประโยชน์เท่ากับจำนวนเงินที่เอาประกันภัย ณ วันเริ่มสัญญาหรือมูลค่าเวนคืนในขณะนั้นตามแต่จำนวนใดจะมากกว่า กรณีโจทก์มีชีวิตอยู่จนถึงวันครบกำหนดสัญญา จำเลยจ่ายให้เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัย ณ วันเริ่มสัญญาจำนวน 10,500,000 บาท และตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ที่ได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยที่ออกควบกับสัญญาประกันภัยให้ความคุ้มครองหากโจทก์ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดโรคร้ายจนกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร จำเลยจะยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยที่ครบกำหนดชำระในระหว่างทุพพลภาพจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ประกันชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการตัดขาขวาตั้งแต่เชิงกรานออกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่นั้นจนถึงสิ้นสุดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัย แต่โจทก์ยังไม่สามารถขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความทุพพลภาพจำนวน 10,500,000 บาท แม้โจทก์มิได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้ภริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัยไม่คุ้มครองความเสียหายจากฉ้อโกง แม้ไม่ใช่การลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์
จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปทำสัญญาจะซื้อจะขายและส่งมอบรถยนต์ให้บุคคลภายนอกโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ทราบ โดยบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 ว่า ต้องการซื้อรถยนต์พิพาทของโจทก์และจะดำเนินการเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์อันเป็นความเท็จ ต่อมาศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษาลงโทษบุคคลภายนอกในข้อหาฉ้อโกง จำเลยร่วมในฐานะบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะรถยนต์สูญหายตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะข้อตกลงคุ้มครองข้อ 1 ระบุว่า จำเลยร่วมจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหายไปอันเกิดจากการกระทำความผิดเฉพาะฐานลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอก เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าบุคคลภายนอกหลอกลวงจำเลยที่ 1 อันเป็นความเท็จจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรม การพิสูจน์การยินยอม และการประมาทเลินเล่อของธนาคาร
จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับจำเลย ได้แก่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และหมายเลขบัตรเอทีเอ็มที่จำเลยเคยสมัครใช้บริการกับโจทก์ก่อนหน้านั้น ผ่านระบบแอปพลิเคชันที่โจทก์จัดไว้แก่บุคคลทั่วไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับสมาชิกขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมถอนเงิน โอนเงิน หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยจริง โจทก์ส่งรหัสผ่านหรือที่เรียกว่าโอทีพีแก่จำเลยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่แจ้งทำธุรกรรมกับโจทก์เมื่อมีการยืนยันหมายเลขรหัสโอทีพีที่โจทก์ส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวส่งกลับมาถูกต้องโจทก์จึงอนุมัติให้จำเลยใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ หลังจากนั้นมีผู้ส่งคำสั่งขอถอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิตของจำเลย โจทก์เชื่อว่าเป็นคำสั่งของจำเลยจริงจึงส่งรหัสโอทีพีอีกรหัสหนึ่งสำหรับธุรกรรมในการถอนเงินครั้งนี้ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยในลักษณะเช่นเดียวกัน โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจึงอนุมัติให้ทำรายการดังกล่าวตามคำสั่งจนเสร็จสิ้น แม้จำเลยจะอ้างว่าปัจจุบันไม่ใด้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว ทั้งไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยได้รับการติดต่อจากคนร้าย และคนร้ายให้จำเลยเปิดใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม หลังจากนั้นจึงพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์และจากบัตรเครดิตไปยังบุคคลภายนอก การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้คนร้ายนำข้อมูลของจำเลยไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบเยี่ยงผู้มีวิชาชีพ นั้น แม้โจทก์จะประกอบกิจการธนาคารอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและออกแบบธุรกรรมอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่เป็นข้อมูลที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยเฉพาะ ยากที่บุคคลอื่นใดจะล่วงรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ จะถือว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้คนร้ายนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ ที่จำเลยคิดว่าที่คนร้ายระบุให้จำเลยไปทำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารโจทก์ อาจเป็นเพราะระบบความปลอดภัยของโจทก์ยังไม่ได้มาตรฐานเช่นของสถาบันการเงินอื่น นั้น เป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ของจำเลย กับอ้างเพียงแต่ลอย ๆ ว่าไม่เคยได้รับหรือทราบรหัสโอทีพีที่โจทก์อ้างว่าส่งให้จำเลย ทั้งที่ยอมรับว่าเคยใช้โทรศัพท์หมายเลขที่โจทก์ใช้ในการติดต่อธุรกรรมดังกล่าว ทั้งเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะใช้ข้อมูลของจำเลยและรหัสโอทีพีที่รับส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยเพื่อสมัครเข้ารับบริการและออกคำสั่งถอนเงินจากบัตรเครดิตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1232/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติจัดเก็บค่าสาธารณูปโภครายปีขัด พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน และกฎหมายความสงบเรียบร้อย โมฆะ
พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ให้อำนาจโจทก์ในฐานะนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคในส่วนที่โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาจากสมาชิก การจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เมื่อ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการการสาธารณูปโภค ให้จัดเก็บเป็นรายเดือน..." โดยวรรคท้ายบัญญัติว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด" และตามระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและการจัดทำบัญชี พ.ศ. 2545 ข้อ 6 ถึงข้อ 8 ล้วนแต่กำหนดให้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย การกำหนดวันเก็บค่าใช้จ่าย การกำหนดค่าปรับในกรณีที่ค้างชำระ การออกใบเสร็จรับเงิน และการจัดทำบัญชี จัดทำเป็นรายเดือน โจทก์จึงต้องจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดเก็บการสาธารณูปโภคเป็นรายเดือนตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 และเมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่โจทก์มีมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกครั้งที่ 1/2556 ให้จัดเก็บเงินค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางเป็นรายปีครั้งเดียวแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 บัญญัติไว้ มติของโจทก์ดังกล่าวจึงแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 มติของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดินและหน้าที่จัดหาพื้นที่สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรภายใต้ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง
จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินภายใต้ชื่อโครงการ "บ." จำนวน 3 โครงการ โครงการทั้งสามเป็นโครงการต่อเนื่องอยู่ในบริเวณเดียวกัน ใช้สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะร่วมกัน และจัดตั้งโจทก์เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โครงการที่ 1 และที่ 2 จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และวันที่ 16 กันยายน 2548 ตามลำดับ ส่วนโครงการที่ 3 จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 แม้โจทก์จะมีที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งใช้ร่วมกันไว้แล้ว แต่สำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงป้อมรักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อโครงการที่ 3 ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินภายหลังจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 อันเป็นเวลาที่ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่อง กำหนดนโยบายการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ในการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม การจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการจัดสรรที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ใช้บังคับ จำเลยจึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศดังกล่าวโดยต้องก่อสร้างที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามลักษณะและขนาดพื้นที่ให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การยึดทรัพย์ และการคำนวณหนี้สุทธิที่ค้างชำระ
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสิบข้อ 8 ตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสิบผิดนัดชำระหนี้ยอมโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบท้ายส่วนที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีมูลค่าเท่ากับมูลค่าคงเหลือจากการปลอดจำนอง คล้ายกับเป็นการโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม แต่ผลจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้จำเลยทั้งสิบพ้นจากการถูกบังคับคดีโดยได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้และหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังสามารถประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินต่อไปรวมถึงการโอนขายที่ดินในโครงการแก่ผู้ซื้อโดยปลอดจำนองเป็นรายแปลงและมีโอกาสหาเงินผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์แม้จะได้รับดอกเบี้ยแต่ต้องแบกรับความเสี่ยงหากท้ายที่สุดจำเลยทั้งสิบไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องหาวิธีลดความเสี่ยงโดยตกลงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากจำเลยทั้งสิบไม่อาจชำระหนี้ก็ต้องโอนทรัพย์จำนองส่วนที่เหลือจากการขายทั้งหมดแก่โจทก์ หากบังคับจำนองรายแปลงอาจจะยุ่งยากและขายไม่ได้ สัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบมิใช่การทำสัญญาตีใช้หนี้ที่จำเลยเพียงเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากแต่เป็นการประนีประนอมยอมความโดยแต่ละฝ่ายต่างยอมสละสิทธิบางอย่างของตนเพื่อแลกกับประโยชน์ที่จะได้มา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่าและเป็นธรรม ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่กัน ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันราคาท้องตลาดทรัพย์ที่ต้องโอนชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาตลาดที่ตกลงกันไว้ก็ตาม ฝ่ายจำเลยจะกลับมาอ้างว่าต้องตีราคาใหม่ตามราคาท้องตลาดปัจจุบันเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่ทำสัญญาไว้ย่อมเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือการใช้สิทธิบังคับชำระหนี้แต่ประการใด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม อีกทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและคู่ความได้ตรวจสอบแล้วไม่มีฝ่ายใดคัดค้านว่าสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาข้อหนึ่งข้อใดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ว่าถูกอีกฝ่ายฉ้อฉลหลอกลวงหรือคำพิพากษาขัดต่อกฎหมายดังที่ยกขึ้นเป็นเหตุขอให้เพิกถอนการบังคับแต่ประการใด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมถึงที่สุดและผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 147
หมายบังคับคดีระบุชัดเจนว่าให้จำเลยทั้งสิบปฏิบัติตามคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสิบต้องรับผิด แม้ระหว่างปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสิบชำระเงินบางส่วน ซึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 ก่อน เหลือเท่าใดจึงจะเป็นจำนวนหนี้ที่โจทก์สามารถบังคับคดียึดทรัพย์สินจำเลยทั้งสิบได้ การคำนวณดังกล่าวเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไป และเมื่อทราบจำนวนหนี้สุทธิก็สามารถยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบโดยไม่ต้องรอให้จดทะเบียนรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนเพราะตามคำพิพากษารวมถึงสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจดทะเบียนรับโอนทรัพย์สินส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนจึงจะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบได้ การยื่นหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ได้ข้ามขั้นตอนกฎหมาย การออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดจากความผิดผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมด้วย
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 มิได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของทรัพย์โดยเด็ดขาดทุกกรณี แต่แบ่งแยกความรับผิดในแต่ละกรณีต่างหากจากกัน จึงมิใช่การเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายปกติ ทั้งข้อสัญญายังสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ข้อ 5 (4) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และเป็นประกาศฉบับที่ใช้ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อคดีนี้ ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงนำสืบพยานฝ่ายเดียวคงนำสืบพอให้เห็นว่าข้ออ้างตามคำฟ้องของตนมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นไปดังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาหรือไม่เท่านั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารยืนยันว่า ความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้ซึ่งเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้มิได้ขยายความว่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 อย่างไร แต่ไม่ถึงกับเป็นข้อให้ต้องตำหนิหรือไม่เชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์ เมื่อพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เคยชี้แจงต่อโจทก์หรือบอกเล่าให้บุคคลใดทราบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่อาจคาดหมายได้และมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 รวมไปถึงการที่จำเลยทั้งสองขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดแก่รถยนต์เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยเฉพาะ พยานหลักฐานของโจทก์พอเห็นว่า ข้ออ้างตามคำฟ้องเรื่องเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่า รถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้เสียหายอย่างสิ้นเชิงโดยเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง แต่หนี้ค่าเสียหายเท่ากับสัญญาเช่าซื้อส่วนที่เหลือตามสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เป็นหนี้หลักที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ในกรณีที่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงและรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เสียหายหรือถูกทำลาย จนไม่สามารถซ่อมแซมให้ดังเดิม และไม่อาจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์อีกต่อไปได้ ค่าเสียหายดังกล่าวจึงเป็นการชดเชยแทนที่ไม่แตกต่างจากหนี้ส่งมอบรถยนต์ที่คู่สัญญาฝ่ายผู้เช่าซื้อพึงต้องปฏิบัติ เมื่อมีการเลิกสัญญาหาใช่ความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินมรดก: สิทธิยังไม่บริบูรณ์ก่อนจำนอง ห้ามใช้บังคับกับบุคคลภายนอก
ข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองต่อโจทก์เกินจากส่วนที่จำเลยได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งเป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นั้น เป็นข้อที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้กล่าวอ้างตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำร้อง และนำสืบไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้เดิมสิทธิตามส่วนในที่ดินพิพาทของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นสิทธิที่ได้มาจากการรับมรดกจากเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริงตามที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างอันเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยและทายาทอื่นได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องในทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกระงับสิ้นไปและทำให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 และทายาทอื่นได้สิทธิในที่ดินพิพาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ตามส่วนในที่ดินพิพาทที่ได้มาตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม เมื่อยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปรากฏชื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในทะเบียนที่ดิน สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคงมีผลผูกพันและบังคับได้ระหว่างคู่กรณีตามสัญญาประนีประนอมยอมความในฐานะบุคคลสิทธิ โดยไม่อาจกล่าวอ้างหรือบังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ การที่จำเลยนำที่ดินพิพาทในส่วนที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในขณะที่สิทธิของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ยังไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สินนั้น โดยยังคงให้ปรากฏชื่อจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จะอ้างบทบัญญัติมาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 อันมีผลเป็นการบังคับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยเพียงใด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917-1041/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายบ้านและที่ดิน การตรวจรับบ้าน และการทราบข้อบกพร่องตามสภาพที่แท้จริง
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบฟ้องอ้างว่าจำเลยก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผนผังโครงการและแบบก่อสร้างที่ได้ขออนุญาตและเรียกค่าเสียหาย เป็นการอ้างว่าจำเลยกระทำการผิดสัญญาจะซื้อจะขายและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดิน ทำให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแชมปรับปรุงพื้นที่สาธารณูปโภค เป็นกรณีที่จำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องอันเป็นการผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่จำเลยส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งโดยสัญญา จึงไม่นำอายุความในข้อความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องมาปรับใช้แก่คดีนี้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องผู้ขายส่งมอบทรัพย์ไม่ตรงตามสัญญาซึ่งทรัพย์ที่ส่งมอบเป็นบ้านจัดสรรที่ผู้ขายก่อสร้างเองฝ่ายเดียว ผู้ซื้อซึ่งเป็นวิญญูชนไม่มีทางทราบได้เลยในขณะทำสัญญาหรือแม้แต่ขณะรับมอบบ้านว่าจำเลยได้ถมดินในบริเวณโครงการสูงกว่าถนนสาธารณะ 30 เซนติเมตร ตามแผนผังโครงการที่ขออนุญาตจัดสรรไว้หรือไม่ และในความจริงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วยจึงจะทราบข้อเท็จจริง กรณีเช่นว่านี้จึงต้องถือว่าเวลาที่ผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือเวลาที่ผู้ซื้อทราบความจริงจากผู้เชี่ยวชาญว่าที่ดินโครงการมีระดับต่ำกว่าที่ระบุในแผนผังโครงการที่จำเลยยื่นต่อทางราชการ เมื่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบทราบถึงการส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ นับถึงวันฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คดียังไม่ล่วงพ้นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คดีโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ที่ 79 เพิ่งทราบข้อเท็จจริงที่แน่นอนชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้ดำเนินการตามแผนผังการจัดสรรเนื่องจากกรณีนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ ประกอบกับไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 79 ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งจำเลยให้การว่าได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินตามแผนผังจัดสรรไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด อันเป็นการแสดงว่าจำเลยยังปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้อยู่ และ ป.พ.พ. มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์ที่ 79 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นการใช้สิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามปกติ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
of 23