พบผลลัพธ์ทั้งหมด 227 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5511/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของโจทก์หลังจำเลยถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน และอายุความของคดี
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 จะบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกเสียจากทะเบียนและห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งต่อเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยให้ถือว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย แต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องคดีได้ การที่ต่อมาในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนอันเป็นผลให้ถือว่าจำเลยที่ 1 คงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่ผลของกฎหมายที่กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังจากศาลมีคำสั่งเท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบแต่อย่างใด และเมื่อจำเลยทั้งห้ายกข้อต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ย่อมเป็นภาระการพิสูจน์ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความจริงว่า ฟ้องของตนไม่ขาดอายุความ เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญเกี่ยวกับการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันหยุดทำการ จะไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์คงมีคำพยานของพนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความ โดยไม่ปรากฏว่าพยานรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในการรับชำระหนี้แต่อย่างใด แม้โจทก์จะอ้างอิงรายการคำนวณภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยค้างรับเป็นพยานประกอบคำเบิกความ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่ฝ่ายเจ้าหนี้เป็นผู้จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งยังไม่มีข้อความตอนใดในเอกสารยืนยันได้ว่า รายการนำเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 เป็นการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งห้า ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการนำเงินเข้าฝากมาแสดงและมิได้ติดตามพยานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดทำเอกสารหรือการรับชำระหนี้มาเบิกความเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงกับให้โอกาสจำเลยทั้งห้าซึ่งปฏิเสธเรื่องการชำระหนี้ได้ซักค้านหาความจริงตามกระบวนความ ลำพังคำพยานบุคคลและพยานเอกสารของโจทก์ที่นำสืบมาจึงนับว่ายังมีข้อควรตำหนิและไม่พึงเชื่อถือรับฟังเป็นแน่นอนตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 หรือลูกหนี้คนใดได้ชำระหนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยของงวดถัดจากวันทำสัญญา คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 สิทธิเรียกร้องที่จะบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ล่วงพ้นกำหนดเวลาสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดร่วมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจากสัญญาเช่าซื้อ กรณีรถยนต์สภาพทรุดโทรม
คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกัน ให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน และให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความ และทำให้จำเลยทั้งสี่มีสถานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ นอกจากโจทก์ชอบจะร้องขอให้มีการบังคับคดีต่อไปได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายประการใด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสี่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้อีก ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อน จำเลยทั้งสี่มิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และมิได้ใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ จนกระทั่งโจทก์ติดตามรถยนต์คืนมาในสภาพชำรุดเสียหาย ทำให้นำรถยนต์ขายทอดตลาดได้เงินต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคดีก่อน จึงต้องถือว่าการละเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไป จำเลยทั้งสี่ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อน มิใช่ค่าเสียหายที่มีหลักแหล่งข้อหาตามสัญญาเช่าซื้อหรือข้ออ้างที่อาศัยความผูกพันกันตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเลิกกันไปแล้วและศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดจนเสร็จสิ้น จึงไม่มีเหตุที่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบอกกล่าวผู้ค้ำประกันให้ทราบการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยผิดนัด, การบังคับจำนอง, และผลกระทบจากพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ธนาคาร ก. เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เมื่อตามคำสั่งที่ 34/2539 เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของธนาคาร ก. อันเป็นคำสั่งหรือประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทกำหนดอัตราดอกเบี้ยปกติไว้ร้อยละ 16.5 ต่อปี และอัตราผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขร้อยละ 19 ต่อปี การที่สัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยและ พ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยและ พ. ผู้เป็นลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใดจึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ก. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ แม้ว่าความเป็นจริงแล้วโจทก์จะยังมิได้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกา ก็หาเป็นผลให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและจำเลยละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว โจทก์จึงจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ โดยความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้ใช้มาตรา 728 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบังคับแก่การบังคับจำนองที่ทำขึ้นนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้จำนองภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้สั้นกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและจำเลยละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว โจทก์จึงจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ โดยความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้ใช้มาตรา 728 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบังคับแก่การบังคับจำนองที่ทำขึ้นนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้จำนองภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้สั้นกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4414/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิกันส่วนเจ้าหนี้จำนองและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา: การบังคับคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอกันส่วนฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2562 มาก่อน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาให้ไต่สวน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ตามคำร้องก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคาร อ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4873 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงของศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยในที่ดินโฉนดที่ 4873 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์จำนองที่ถูกยึดและขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 (ใหม่) จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 (5) กรณีตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2562 จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคำร้องขอกันส่วนฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2562 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แต่อย่างใด และเมื่อได้ความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดพิจารณาคำร้อง สำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยระบุด้วยว่าหากจะคัดค้านให้ยื่นคัดค้านก่อนหรือในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน ซึ่งมีการส่งสำเนาคำร้องให้แก่บุคคลดังกล่าวแล้ว ครั้นถึงวันนัดพิจารณาคำร้องปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดมาศาล ย่อมถือว่าคู่ความดังกล่าวไม่ได้คัดค้านคำร้องของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคาร อ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินแปลงข้างต้น พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงดังกล่าวของศาลแพ่ง และศาลแพ่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องแล้ว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าวจึงเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิกันส่วนตามคำร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4296/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลายมือชื่อในใบสมัครบัตรเครดิตเป็นหลักฐานสำคัญ ศาลใช้ดุลพินิจพยานประกอบอื่นๆ ชี้ขาดข้อเท็จจริง
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์จัดเป็นความเห็นช่วยเหลือศาลประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอย่างหนึ่ง ซึ่งศาลมีดุลพินิจจะนํามารับฟังแค่ไหนเพียงใดก็ได้ หาเป็นการผูกมัดให้ศาลต้องรับฟังตามความเห็นนั้นเสมอไปไม่ เมื่อการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจําเลยในใบสมัครบัตรเครดิตคดีนี้เกิดจากความสมัครใจของคู่ความทั้งสองฝ่าย และผลการตรวจไม่อาจลงความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะรับฟังพยานหลักฐานอื่นที่คู่ความนํามาสืบแล้วชั่งน้ำหนักวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานนั้น เพราะคู่ความมิได้ตกลงท้ากันเอาผลการตรวจพิสูจน์เป็นข้อแพ้ชนะ จึงไม่อาจวินิจฉัยให้จําเลยเป็นฝ่ายชนะคดีไปตามภาระการพิสูจน์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา และสิทธิการรับเงินโบนัสขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายจ้าง
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาทำงาน 2 ปี และมีการต่อสัญญาทุก 2 ปี ฉบับสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2561 เห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างกันไว้ 3 ฉบับติดต่อกัน สัญญาแต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้มีวันเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นการแน่นอน แม้จะมีข้อความในสัญญาจ้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ข้อ 6 ข้อกำหนดอื่น ๆ (ง) การบอกเลิกสัญญา วรรคหนึ่ง ว่า "ตลอดระยะเวลาของการทดลองงานนานสี่ (4) เดือน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้โดยแจ้งล่วงหน้าสอง (2) สัปดาห์ และไม่ต้องอ้างเหตุผล" แต่ก็ไม่มีผลบังคับเพราะโจทก์ทำงานและทำสัญญาจ้างกับจำเลยมาเป็นเวลาคราวละ 2 ปี รวม 3 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์ให้มีระยะเวลาการทดลองงานมาใช้บังคับแก่กันเมื่อมีการต่อสัญญาจ้างใหม่ และการเลิกจ้างคดีนี้ก็เป็นกรณีเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับที่ 3 อีกด้วย ส่วนที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อีกว่า ตลอดระยะเวลาทดลองงานนายจ้างมีสิทธิบอกเลิกการจ้างลูกจ้างหากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้หรือลูกจ้างกระทำความผิดกฎหมายแห่งประเทศไทย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกจากงานได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาได้เท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรม โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่ ดูแลเกี่ยวกับการจัดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์จากแนวความคิดไปสู่กระบวนการผลิต บริหารจัดการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ออกแบบปฏิบัติงานกับผู้แทนกลุ่มตลาดรวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดลำดับชิ้นงาน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการ โดยต้องรายงานผลไปยังรองประธานฝ่ายการตลาดของจำเลย อันไม่ใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และถือได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 และครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (4)
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยย่อมทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ การเลิกจ้างไม่ได้กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คดีนี้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 (ค) ว่า "การพิจารณาผลงานและการให้โบนัส-นายจ้างจะพิจารณาทบทวนผลงานของลูกจ้างเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนรวมทั้งโบนัส ถ้ามี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว" เมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่จ่ายโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้อง
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยย่อมทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ การเลิกจ้างไม่ได้กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คดีนี้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 (ค) ว่า "การพิจารณาผลงานและการให้โบนัส-นายจ้างจะพิจารณาทบทวนผลงานของลูกจ้างเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนรวมทั้งโบนัส ถ้ามี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว" เมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่จ่ายโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4092-4096/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินบำเหน็จกับการหักค่าชดเชย: การตีความแผนสวัสดิการและสิทธิลูกจ้าง
เงื่อนไขการหักเงินตามแผนบำเหน็จบำนาญทุกฉบับมีความหมายในทำนองเดียวกันว่า เงินบำเหน็จที่จำเลยจะจ่ายเป็นเงินก้อนจำนวนเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุงานและคูณด้วยตัวประกอบที่ใช้คูณตามที่กำหนดไว้ในตารางซึ่งพนักงานของจำเลยมีสิทธิได้รับนั้น หากมีในกรณีที่พนักงานได้รับประโยชน์จากแหล่งใด ๆ ที่จำเลยได้จ่ายในลักษณะอื่นใดเพื่อให้มีการจ่ายประโยชน์แก่พนักงานเกี่ยวกับการเลิกจ้าง จำเลยมีสิทธิลดผลประโยชน์ที่จะจ่ายตามแผนบำเหน็จบำนาญนี้ลงเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประโยชน์ต่าง ๆ ที่พนักงานได้รับจากแหล่งอื่น ๆ นั้นได้ด้วย และลดได้เท่าจำนวนที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเมื่อมีการเลิกจ้าง ซึ่งมีความหมายรวมถึงจำเลยมีสิทธิที่จะหักเงินที่จำเลยได้จ่ายเป็นค่าชดเชยแก่พนักงานอันเป็นเงินที่จ่ายเพราะการเลิกจ้างออกจากเงินบำเหน็จที่พนักงานของจำเลยมีสิทธิได้รับ ดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยได้หักหรือลดเงินบำเหน็จของโจทก์ทั้งห้าไปบางส่วนเท่ากับจำนวนที่จำเลยจ่ายเป็นค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้า จึงเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามแผนบำเหน็จบำนาญดังกล่าว และถือว่าจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทั้งห้าชอบตามแผนบำเหน็จบำนาญดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามฟ้องอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2005/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิพากษาคดีค้ามนุษย์: จำเลยมีหน้าที่เพียงแนะนำลูกค้า ไม่ใช่ผู้ดูแลสถานการค้าประเวณี
จำเลยเป็นเพียงพนักงานคนหนึ่งในร้านที่เกิดเหตุที่ช่วยแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับหญิงที่ค้าประเวณีเท่านั้น ไม่ได้ดูแลกิจการของร้านที่เกิดเหตุทั้งหมดและไม่มีอำนาจสั่งการหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้หญิงค้าประเวณีปฏิบัติเพื่อกิจการการค้าประเวณี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ดูแลสถานการค้าประเวณีและเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองอาวุธปืน: โจทก์ต้องพิสูจน์เจตนาครอบครองของจำเลย นอกเหนือจากหลักฐานการพบเจอ
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (6) ให้ความหมายของคำว่า "มี" ไว้ว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกในการมีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางดังกล่าว ประกอบกับการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้ชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยเพื่อให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ลำพังเพียงจำเลยซึ่งเป็นภริยา อ. ไปกับ อ. ในวันที่มีการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง และจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุซึ่งตรวจค้นพบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง โดยที่บ้านดังกล่าวเป็นบ้านที่ อ. พักอาศัยอยู่ด้วยนั้น พฤติการณ์แห่งคดียังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต