คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 129 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากผลตรวจสุขภาพคลาดเคลื่อน และประเด็นอายุความฟ้องร้อง
แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น อายุความจะเริ่มนับต่อเมื่อผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งผลการตรวจสุขภาพประจำปีผิดพลาดไปจากความจริงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2551 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,687,592 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 33,751 บาท แต่จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเพียงคนละ 32,711 บาท จึงชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ขาดไปคนละ 1,040 บาท ส่วนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 315,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 6,300 บาท และจำเลยทั้งสองเสียถูกต้องครบถ้วน แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยทั้งสองต่างได้ยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาดังกล่าวซึ่งค่าขึ้นศาลเช่นว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และยื่นฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสองตามส่วนของค่าชั้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่แต่ละคนได้ชำระเกินไป เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไข้ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14704/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: การพิสูจน์สิทธิโดยการส่งมอบการครอบครองและการมีเหตุผลอันสมควร ทำให้ไม่มีเจตนาบุกรุก
โจทก์และจำเลยยังนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทกันอยู่ แม้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 6869 แต่ก็รับว่าไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโดยการส่งมอบการครอบครอง และมีกรณีฟ้องร้องเพราะเหตุที่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2434 โดยไม่ชอบทับที่ดินของบุคคลอื่นอีกหลายคดี ซึ่งที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์แบ่งแยกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว เท่ากับจำเลยยืนยันโดยมีเหตุผลตามสมควรว่า จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวโต้แย้งกันทางแพ่ง จึงต้องรับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13415/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอคืนของกลาง: จำเลยไม่มีสิทธิขอคืนของกลางที่ศาลริบ หากมิได้แสดงความเป็นเจ้าของและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในชั้นพิจารณา
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 36 แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งมิใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด มิใช่ให้สิทธิแก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลยเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธินำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้นเพื่อแสดงว่าจำเลยเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นจำเลย ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบรถใช้ในงานเกษตรดังกล่าวของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถใช้ในงานเกษตรข้างต้นของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11013/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ: การพิพากษาความผิดฐานทำลายป่าไม้ แม้ไม้ไม่ใช่ไม้หวงห้าม
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้ โดยตัดฟันต้นงิ้วภายในเขตป่าประดางและป่าวังเจ้า อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเลื่อยออกเป็นท่อนได้ไม้งิ้ว 105 ท่อน ปริมาตร 12.07 ลูกบาศก์เมตร แล้วร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกนำไม้ดังกล่าวออกจากป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า ต้นไม้งิ้วที่จำเลยกับพวกร่วมกันตัดฟันและเลื่อยออกเป็นท่อนนั้น เป็นไม้หวงห้ามอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานทำไม้ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาด้วยและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันทำไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันทำไม้อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8411/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขับรถโดยใช้เอกสารราชการปลอม และประเด็นการริบของกลางตามมาตรา 32 ป.อ.
แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แผ่นป้ายเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีและใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ที่มีผู้ทำปลอมขึ้นเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่าผู้ใดทำขึ้นเป็นความผิดซึ่งต้องริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ตาม ป.อ. มาตรา 32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองทรัพย์สิน การครอบครองแทนทายาท และอายุความมรดก
การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งแล้วว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างได้เข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัดชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบไม่ได้ความ เช่นนั้นที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ พ. และกรณีต้องถือว่าการที่ ต. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของ พ. ทุกคน กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ พ. เพราะเข้าสืบสิทธิในมรดกส่วนของ ต. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วก็ตาม ดังนั้น คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก สินสมรส และสิทธิเจ้าหนี้กองมรดก กรณีพินัยกรรมยกทรัพย์สิน
ขณะที่จำเลยที่ 3 และ ล. ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. นั้น ส. ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนหนึ่งในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายและจำเลยที่ 3 ภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตาย รวมทั้งทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 3 ตามที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวในทันที โดยที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก เมื่อจำเลยที่ 3 เป็นทายาทของผู้ตายผู้เดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ตายย่อมตกเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 และ ล. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 3 ให้ทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ผู้ตายที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะทายาทโดยธรรมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายทรัพย์สินส่วนบุคคล: หน้าที่จำกัดเฉพาะทรัพย์ส่วนกลาง
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 วรรคสี่ บัญญัติว่า ทรัพย์ส่วนกลาง หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม ส่วนการจัดการทรัพย์ส่วนกลางต้องเป็นไปตามมาตรา 17, 33, 36 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ ต้องมีนิติบุคคลเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่า นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ย่อมหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ แม้หลังทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัย เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์ และตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคาร ก็เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 2 ยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนรวมทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั่นเอง ดังนี้แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์ของโจทก์ไป จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย ก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล ผลกระทบต่อธุรกิจ และการรอการลงโทษ
อำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้นมีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 11 (7) แห่ง พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 เพียงมาตราเดียว อีกทั้งตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นทำนองว่าเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นสั่งฎีกาไม่ได้ ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาต่อไปว่า พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ฎีกาเป็นสั่งให้ฎีกานั้น จะต้องปรากฏพยานหลักฐานใหม่เพียงพอเห็นได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิด โดยอาศัยเทียบเคียงกับ ป.วิ.อ. มาตรา 147 นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 147 แห่ง ป.วิ.อ. เป็นเรื่องผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ซึ่งห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการของกฎหมายในชั้นสอบสวน เป็นคนละเรื่องคนละขั้นตอนกับคดีละเมิดอำนาจศาลอันเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง โดยที่มิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์ฟ้องคดี ดังนั้น ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาปล่อยผู้นั้น พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) จึงมอบให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาว่าจะสมควรฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 147 มาเทียบเคียงกับอำนาจฎีกาของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (7) กรณีการสั่งไม่ฎีกาแล้วจะกลับมีคำสั่งให้ฎีกา ในฐานะที่เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21441/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: คดีหมิ่นประมาทจากหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.ตร./ก.ต.ช. เมื่อคดีเดิมยังอยู่ระหว่างพิจารณา
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2639/2550 ของศาลแขวงดุสิต โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
of 13