คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 129 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1539/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดที่ไม่ชอบเนื่องจากข้อมูลทรัพย์ไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ซื้อสำคัญผิดในสาระสำคัญของทรัพย์
ที่ตั้งจริงของทรัพย์อยู่ห่างจากที่ตั้งของทรัพย์ตามประกาศขายทอดตลาดเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร และมีเนื้อที่เพียง 18 ไร่เศษ ทั้งเป็นที่ดินไม่มีทางเข้าออก การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 2 ระบุว่า เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา และมีแผนที่สังเขปแสดงสภาพที่ดินว่าด้านหนึ่งของที่ดินติดกับที่สาธารณะประโยชน์ของกรมทางหลวง ทั้งมีภาพถ่ายท้ายประกาศแสดงว่าเป็นที่ดินที่ใช้ทำการเกษตร โดยโจทก์เป็นผู้นำส่งภาพถ่ายและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ยืนยันว่าถูกต้องตรงกับทรัพย์ที่นำยึดทุกประการ เมื่อปรากฏว่าที่ดินมีเนื้อที่ต่างกันประมาณ 5 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 ของเนื้อที่จริง และมีที่ตั้งอยู่ห่างกัน 5 กิโลเมตร อันนับว่าที่ดินมีที่ตั้งและเนื้อที่ต่างจากที่ปรากฏในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นอย่างมาก ดังนั้น แม้ประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อ และถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่เมื่อการปิดประกาศขายทอดตลาด ณ ที่ตั้งทรัพย์ดังกล่าว เป็นการปิดประกาศ ณ สถานที่ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้ผู้ซื้อทรัพย์ไปตรวจดูที่ดินตามที่ระบุไว้ในแผนที่สังเขป ซึ่งไม่ใช่ที่ตั้งทรัพย์จริง ผู้ซื้อทรัพย์อาจไม่ทราบถึงความคลาดเคลื่อนดังกล่าว ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าว และให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงก่อนจะประกาศขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแนบแผนที่สังเขปดังกล่าว ย่อมทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดเกี่ยวกับสภาพของทรัพย์ที่จะขายทอดตลาด ซึ่งถือว่าเป็นข้อสาระสำคัญที่ทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงเป็นไปโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6915/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกจ่ายค่าอบรมที่ขัดระเบียบกระทรวงการคลัง: สิทธิเรียกร้องคืนเงินไม่มีอายุความ
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง" อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการใช้รายงานสืบเสาะและพินิจ: พิจารณาโทษได้ แต่ไม่ใช่วินิจฉัยข้อเท็จจริง
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย แต่ไม่อาจนำมารับฟังในฐานะพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยไม่ โดยหากเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามรายงานการสืบเสาะและพินิจขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลย ก็ชอบแต่จะให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมให้ชัดแจ้ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าสงวนฯ และการพิจารณาคดีแพ่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาย้อนสำนวนเพื่อสอบคำให้การจำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 516,699 บาท แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโฆษณาที่เกินจริงและเป็นเหตุให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด จำเลยต้องผูกพันตามสัญญา
แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยไม่ชำระหนี้ค้างชำระ ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคา
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า "และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที..." แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3390/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีแพ่งอ้างเหตุฉ้อโกงที่ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องแล้ว ถือเป็นการรื้อฟ้องประเด็นเดิมที่เคยวินิจฉัยแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสบคบกันหลอกลวงโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเสนอขายฝากโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาขายฝากในราคา 1,500,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคาเพียง 500,000 บาท แล้วหลอกลวงโจทก์ว่าทำสัญญาและจดทะเบียนขายฝากในราคา 1,500,000 บาท โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลยทั้งสองไป 1,500,000 บาท โจทก์ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกง โจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองและพิพากษายกฟ้อง เท่ากับว่าได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งซึ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงเท่ากับยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งไปแล้วด้วย ข้อเท็จจริงในคดีอาญานั้นจึงผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้กล่าวอ้างถึงคดีอาญาดังกล่าวไว้ชัดเจน และขอติดตามเอาทรัพย์คืน 1,000,000 บาท ปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 1,000,000 บาท ไปจากโจทก์หรือไม่ จึงเป็นประเด็นเดียวกับคดีอาญาดังกล่าว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์แจ้งความฉ้อโกงถือเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้ว แม้จะยังไม่ได้ฟ้องแพ่ง โอนทรัพย์สินหลังแจ้งความมีเจตนาหลีกเลี่ยงหนี้
การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8646/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเรือประมง: การกระทำความผิดตามเงื่อนไขใบอนุญาตใช้เรือ ไม่ถึงขั้นเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมาย
มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 40.39 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือนำเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกจากท่า ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเพียงการผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8480/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเรือประมง: การกระทำความผิดตามกฎหมายเดินเรือและคำสั่ง คสช. มิได้ทำให้เรือกลายเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33
มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 43.14 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับใบอนุญาตแต่อย่างใด เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ริบเรือประมงของกลางจึงชอบแล้ว
of 13