พบผลลัพธ์ทั้งหมด 129 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายระหว่างพิจารณาคดี และการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีประมง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 62 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 หลังจากนั้นระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 87 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าแสนบาท ส่วน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 141 ระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า โทษตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดที่มีเพียงโทษปรับโดยไม่มีโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำคุกแก่จำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยอีกต่อไป เพราะศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงโทษปรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโทษปรับที่ศาลจะนำมาพิจารณาลงโทษจำเลยนั้น โทษปรับตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษขั้นต่ำให้ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ และผลของการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทุนทรัพย์พิพาทเกินอำนาจศาลแขวง: คำขอบังคับโอนกรรมสิทธิ์บ้านรวมราคาสูงกว่า 300,000 บาท
แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังคำให้การของผู้ต้องสงสัย/พยานในคดีความมั่นคง และการพิสูจน์ความผิดฐานอั้งยี่
การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบช้างป่าคุ้มครองและสิทธิในการขอคืนของกลางของผู้ไม่รู้เห็นเป็นใจ
คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 388/2558 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และศาลชั้นต้นริบช้างของกลางตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และ ป.อ. มาตรา 32 ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลาง จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนช้างของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลสั่งริบช้างของกลางได้หรือไม่นั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นโดยอ้างว่าช้างของกลางเป็นช้างบ้านที่มีตั๋วรูปพรรณช้าง (ส.พ. 5) เพื่อให้ฟังว่ามิใช่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองขึ้นมาในคำร้องขอคืนช้างของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
กรณีที่ศาลสั่งริบสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางที่บุคคลมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนกฎหมายอื่นไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ใดยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลชั้นต้นริบในกรณีดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลางคดีนี้
กรณีที่ศาลสั่งริบสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางที่บุคคลมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 58 และเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 นั้น พระราชบัญญัติดังกล่าวและประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนกฎหมายอื่นไม่มีบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ใดยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลชั้นต้นริบในกรณีดังกล่าวได้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนช้างของกลางคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9103/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแปรรูปไม้หวงห้าม การลงโทษตามกฎหมายป่าไม้
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 ตัดทอนไม้ให้เปลี่ยนรูปไปจากเดิมและบรรยายฟ้องในข้อ 2.3 ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ให้เป็นแผ่น ได้ไม้สักแปรรูป 49 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.72 ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้ประดู่แปรรูป 19 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ตามคำฟ้องดังกล่าวมีความหมายในตัวว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและไม้ที่จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งโรงงานเป็นไม้สัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8718/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก โดยการกระทำร่วมกัน มีหญิงเป็นตัวการร่วม
จำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายอายุ 4 ปีเศษ ไว้ให้จำเลยที่ 1 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยที่ 1 โดยการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำชำเราตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม และเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยกันทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเรา ผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ทั้ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติแต่เพียงว่า "ผู้ใดกระทำชำเรา..." หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิง แต่เมื่อฟังได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 จับผู้เสียหายขึ้นไปบนบ้าน แล้วจำเลยที่ 2 ใช้มือจับแขนผู้เสียหายไว้ให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายโดยการใช้นิ้วมือกระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี อันมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7004/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความรับผิดของจำเลยร่วมในคดีอาญาและการแบ่งแยกความรับผิดในคดีละเมิด
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนนั้น ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อาจจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยในส่วนแพ่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรง ผู้ร้องจึงไม่อาจขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เข้ามาในคดีเพื่อให้ร่วมรับผิดในส่วนแพ่งได้ ผู้ร้องชอบที่จะนำคดีไปฟ้องจำเลยร่วมที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นคดีแพ่งใหม่ต่างหากจากคดีนี้
จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง
จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถกระบะกับจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารประจำทางที่ผู้ร้องนั่งโดยสารมาด้วยต่างประมาทด้วยกัน มิใช่เป็นการร่วมกันกระทำละเมิด เมื่อผู้ร้องมิได้มีส่วนทำความผิดด้วยและความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอันเดียวกัน เป็นหนี้อันจะแบ่งแยกจากกันชำระมิได้ ผู้ทำละเมิดทุกคนต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดต่อผู้ร้อง ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ประมาทน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายน้อยกว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ด้วยกันเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6811/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยักยอกทรัพย์ต้องมีทรัพย์เป็นของโจทก์ก่อน สิทธิในการจดทะเบียนยังไม่ใช่ทรัพย์
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพียงแต่โจทก์อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนผู้อื่นเท่านั้น ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 จะต้องได้ความในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ โจทก์ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ถูกผู้อื่นยักยอกทรัพย์ได้และสิทธิดังกล่าวที่โจทก์มีอยู่ ไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 352 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ที่มีรูปร่าง จึงไม่อาจถูกยักยอกได้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์เองโจทก์มิเคยได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 นำสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไปดำเนินการใดๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 ไปดำเนินการโดยพลการ เงินที่ได้มาจึงมิใช่เงินที่จำเลยที่ 5 จะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ โจทก์มีแต่สิทธิที่จะบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสวมสิทธิเรียกร้องหลังคำพิพากษาและการรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: ข้อจำกัดและผลกระทบ
แม้ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่ปรากฏว่าภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โจทก์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้โดยการขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ และต่อมาผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว ดังนั้นโจทก์จะมาขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 77 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 77 (1) หรือ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในกรณีของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน