คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 129 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายและแก้ไขโทษในคดีทำลายป่าสงวน การใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์และการยืนตามคำพิพากษา
คดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีฯ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงต่ำกว่าระวางโทษขั้นต่ำ โจทก์จึงไม่เห็นด้วยและขอให้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) นั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว นอกจากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับบทให้ถูกต้องแล้วยังอุทธรณ์โต้แย้งโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยและขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสูงกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้เพิ่มเติมโทษ ประกอบกับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามที่โจทก์อุทธรณ์ และมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เหมาะสมและเป็นไปตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกแก่จำเลย และไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับ จึงเป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการวินิจฉัยเรื่องผู้เสียหายและผลผูกพันต่อจำเลยในชั้นพิจารณา
การไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (12) จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น ยังไม่เกี่ยวกับจำเลย คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรง ก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ แสดงว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ ยังไม่เกี่ยวกับจำเลยหรือมีผลผูกพันจำเลยในชั้นพิจารณา ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงยังไม่ยุติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติทนายความหลังล้มละลาย: ผลต่อกระบวนการยุติธรรมและการแจ้งนัด
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อ ณ. ออกจากทะเบียนทนายความ ณ. จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลที่ ณ. เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ ณ. ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินเพื่อไม่จับกุม ความผิดตาม ม.149 และความผิดฐานสนับสนุน
จำเลยที่ 1 ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 และต่อมาได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่โดยจำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวกลับเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ดังนั้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 รวมทั้งไม่มีหน้าที่จับกุม ป. กับพวก ซึ่งกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.การพนัน พุทธศักราช 2478 ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการหรือได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการด้วยเหตุใด ๆ ที่มิใช่เป็นการลงโทษ ให้ผู้นั้นมีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน" นั้น เป็นบทบัญญัติให้ข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการตำรวจตลอดระยะเวลาระหว่างที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อสิทธิในการรับเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 95 วรรคสี่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่ จึงไม่อาจถือว่าระหว่างเวลาที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่เรียกรับเงินจาก ป. กับพวก เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จึงเป็นการกระทำในขณะจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดซึ่งผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกายกเรื่องการประทับฟ้องคดีอาญาและแพ่งเกี่ยวเนื่องกัน ศาลฎีกาสั่งย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคดีแพ่ง
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาไม่รับคดีส่วนแพ่งโดยวินิจฉัยว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะรับฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณาหรือไม่ กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชอบด้วยกฎหมาย แม้รายงานสืบเสาะฯขัดแย้ง ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสัมภาษณ์เปิดเผยข้อมูลบ่อนการพนัน ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท หากกระทำโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ
การเปิดบ่อนที่มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ประชาชนโดยทั่วไปประสงค์จะทราบเท่านั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า การพนันเป็นการมอมเมาประชาชนให้หลงในอบายมุข ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอื่นตามมาเป็นลูกโซ่ มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลปราบปรามอาชญากรรมกลับมากระทำความผิดเสียเอง นอกจากจะนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาต่อวงการราชการตำรวจแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการปราบปรามอาชญากรรมอีกด้วย ที่จำเลยทั้งสองสัมภาษณ์ พล.ต.อ. ส. ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีบ่อนรัชดาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ก็เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องปรากฏ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยสุจริต เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้จะมีข้อความหมิ่นประมาท การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาหาประกันเพื่อทุเลาการบังคับ: ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจตัดสิน และคำพิพากษาเป็นที่สุด
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับเรื่องการขอขยายเวลาหาประกันมาวางตามเงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้มีการทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น เป็นเรื่องต่อเนื่องกับการขอทุเลาการบังคับ ซึ่งเป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาหาประกันมาวางศาลต่อไปอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว รวมทั้งฎีกาที่คัดค้านว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่ง ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นที่สุดแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดก, อำนาจฟ้อง, ประเด็นนอกฟ้อง: ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการสละมรดกและอำนาจฟ้องโจทก์
ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมทางเข้าออก – การได้มาตามข้อตกลง – สิ้นสุดลงจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิน 10 ปี – การพิพากษาเกินคำขอ
สิทธิที่จะใช้ที่ดินของ ล. เป็นทางเข้าออกอันเป็นการได้มาซึ่งภาระจำยอมตามข้อตกลงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่บริบูรณ์แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ เมื่อจำเลยได้รับโอนที่ดินจาก ล. ก็มิได้ขัดขวางการใช้ทางพิพาทของ ป. และโจทก์ ถือว่าจำเลยตกลงยอมรับที่จะผูกพันปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่าง ล. กับ ป. โดยปริยาย โจทก์ซึ่งรับโอนที่ดินและสิทธิจาก ป. ย่อมอาศัยข้อตกลงฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิและรับโอนที่ดินจาก ล. ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้ ทางพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์
ล. สร้างบ้าน ทำคันปูนและปลูกต้นไม้รุกล้ำทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยรื้อต้นไม้และคันปูนออกแล้วต่อเติมเป็นห้องพักให้ ล. โจทก์จึงไม่สามารถใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวเป็นทางเข้าออกได้ โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนดังกล่าวถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ภาระจำยอมในที่ดินส่วนนั้นจึงสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399
โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้พิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยกว้าง 1.50 เมตร ยาวตลอดแนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางภาระจำยอมสำหรับที่ดินโจทก์ แผนที่พิพาท ไม่ระบุตำแหน่ง ไม่ระบุความกว้างยาวและเนื้อที่ของทางภาระจำยอมไว้ ถือว่าโจทก์ประสงค์ได้ทางภาระจำยอมมีความกว้างตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินด้านทิศตะวันออกของจำเลย กว้าง 1.74 เมตร เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินของจำเลยบางส่วนที่เป็นภาระจำยอมสิ้นไปแล้วตกเป็นภาระจำยอมด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
of 13