คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 391 วรรคท้าย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายเชิงลงโทษต้องคำนวณจากค่าเสียหายที่แท้จริง ศาลมิอาจสั่งจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษหากไม่ได้กำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อน
การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ได้นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลได้กำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ แต่คดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินตามสัญญาซื้อขายห้องชุดแก่ผู้บริโภค พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไป โดยให้ผู้บริโภคจดทะเบียนห้องชุดพิพาทคืนแก่จำเลยอันเป็นผลมาจากสัญญาซื้อขายห้องชุดเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6850/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดเช่าซื้อกรณีรถยนต์เสียหายจากภัยธรรมชาติ ศาลพิจารณาความผิดของผู้เช่าซื้อและค่าเสียหายที่แท้จริง
สัญญาต่อท้ายสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีรถยนต์เสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ดีดังเดิมได้ให้ถือว่าสัญญานี้สิ้นสุดลง โดยหากไม่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่หากเป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระตามสัญญา สัญญาดังกล่าวได้แบ่งความรับผิดของผู้เช่าซื้อเป็นสองกรณีโดยพิจารณาจากความเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อว่าเกิดขึ้นจากความผิดของผู้เช่าซื้อหรือไม่ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายจากการประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) ซึ่งมิใช่เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้คงค้างชำระหรือค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่โจทก์นำรถยนต์เช่าซื้อออกประมูลขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อตามฟ้องโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาต่อท้ายในกรณีที่รถยนต์เช่าซื้อเสียหายที่ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 คือค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่เจ้าของได้ใช้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น และมีเหตุอันสมควร แต่เนื่องจากโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความว่าโจทก์เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหรือไม่ เพียงใด จึงไม่กำหนดให้ คงมีเพียงค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายไป ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเงินลงทุนของโจทก์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับหากรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่เสียหายกับจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์และเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว เห็นว่ามีจำนวนเพียงพอต่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายเพราะเหตุประสบภัยธรรมชาติ (สึนามิ) แล้ว จึงไม่กำหนดให้อีก
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงผู้เดียว ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย การโอนสิทธิและอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ
ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้ คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และ ห. ผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1019/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการบอกเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกค่าเสียหายจากการส่งมอบสินค้าล่าช้าและชำรุด
สัญญาซื้อขายข้อ 3 ระบุว่าจำเลยผู้ขายจะส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายตามสัญญาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2528 ส่วนข้อ 10 วรรคแรกระบุว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้ว ถ้าผู้ขายไม่ส่งมอบสิ่งของที่ตกลงขายให้แก่ผู้ซื้อหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และข้อ 11 วรรคแรก ระบุว่าในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 10 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละศูนย์จุดสองของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบถ้วนและในวรรคสามกำหนดว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน กับเรียกร้องให้ชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองส่งมอบสิ่งของที่ซื้อขายล่าช้านับแต่วันถึงกำหนดจนถึงวันส่งมอบรวม 13 วัน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยทั้งสองได้รวมเป็นเงิน 23,920 บาท เมื่อหักเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าที่ตกลงซื้อขายเป็นเงิน 920,000 บาท แล้ว โจทก์จึงชำระราคาแก่จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 896,080 บาท ต่อมาภายหลังปรากฏว่า สินค้าที่จำเลยทั้งสองส่งมอบชำรุดบกพร่องและไม่ถูกต้องตามสัญญาโจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ดังนี้ ผลการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ย่อมไม่กระทบกระทั่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการส่งมอบของล่าช้าตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคท้าย การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาค่าปรับจากจำเลยทั้งสองตามสัญญาข้อ 11 เพราะเหตุที่จำเลยทั้งสองส่งมอบของล่าช้าโดยหักออกจากราคาที่โจทก์จะชำระแก่จำเลยทั้งสองนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว กรณีถือว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าแก่จำเลยทั้งสองไปจำนวน 920,000บาท เมื่อมีการเลิกสัญญากัน คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนราคาสินค้าเต็มจำนวนเป็นเงิน 920,000 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลฉ้อฉล สัญญาโมฆียะ การบอกล้างโมฆียะ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
คดีนี้แม้โจทก์จำเลยจะมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาในส่วนที่ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินและรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ยังคงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับค่าเสียหายและดอกเบี้ยต่อมานั้น ไม่อาจทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จะยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษานั้นได้ถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อยินยอมโอนที่ดินให้แก่จำเลย อันเป็นการทำกลฉ้อฉลต่อโจทก์ดังนั้นสัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆียะกรรม เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้ว สัญญาขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก อันมีผลทำให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคท้าย เดิมจำเลยจะต้องโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้แก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าที่ดินซึ่งโจทก์ได้รับจากจำเลยไปแล้วทั้งหมดแก่จำเลยและในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย และคดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งหรือมีคำขอให้โจทก์ต้องรับผิดคืนค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากกลฉ้อฉลของจำเลย มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้หรือใช้สิทธิเลิกสัญญาอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้อีกส่วนหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213 วรรคท้าย และ มาตรา 391 วรรคท้าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้บอกล้างแล้ว ถือได้ว่าตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ซึ่งมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้ทำนิติกรรมต่อกันมาแต่ต้น และทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 138 วรรคท้ายเดิม ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวนี้กำหนดให้มีการได้รับค่าเสียหายชดใช้แทนก็แต่เฉพาะกรณีที่การจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมดังกล่าวเป็น การพ้นวิสัยเท่านั้น ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้