คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 18

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 63 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาลิฟต์อาคารชุดเป็นทรัพย์ส่วนกลาง เจ้าของร่วมต้องชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด อายุความ 5 ปี
ลิฟท์ซึ่งติดตั้งไว้ที่อาคารชุด มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วมจึงถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบำรุงรักษาลิฟท์จึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งมีหน้าที่ต้องชำระเป็นรายเดือน ค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และต้องถือว่าสิทธิเรียกร้องประเภทนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7874/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด ข้อบังคับที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.อาคารชุดเป็นโมฆะ
มาตรา 49 (1) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติให้มติเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันในข้อบังคับตามมาตรา 32 (10) ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด เมื่อคะแนนเสียงเจ้าของร่วมตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 1,000 คะแนน การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2543 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 341.63 คะแนน ผลการนับคะแนนเสียงให้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิมที่กำหนดไว้ตารางเมตรละ 100 บาทต่อปี เป็นตารางเมตรละ 180 บาทต่อปี โดยเสียงข้างมากเห็นด้วย 240.19 คะแนน แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 39.2 กำหนดให้มติเกี่ยวกับเรื่องการปรับอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ให้ใช้เสียงข้างมากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่การประชุมเจ้าของร่วมเพื่อแก้ไขอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันหรือค่าใช้จ่ายส่วนกลางอยู่ในความหมายของมาตรา 49 (1) ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นข้อบังคับที่ขัดหรือแย้งกับบทแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติว่า บรรดากฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือ ซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันจึงต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด มติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และการกระทำใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามมติของเจ้าของร่วม เมื่อจำเลยที่ 2 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมเกี่ยวกับเรื่องการปรับอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางในกิจการของจำเลยที่ 1 ภายในขอบอำนาจและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7644/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด: แยกค่าใช้จ่ายบริการ/ซ่อมแซม กับค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกฎหมาย
พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ส่วนมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงข้อบังคับได้ตามมาตรา 32 (10) ประกอบมาตรา 49 (1) ที่เจ้าของร่วมมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันได้ แต่ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ กำหนดเท่านั้น ประกอบกับมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 259 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน และ (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิรักษาอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 273 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกตามมาตรา 18 นั้น แยกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 วรรคสอง ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด เพราะมีการคิดส่วนค่าใช้จ่ายและการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 แต่ละวรรคแตกต่างกันดังกล่าว ดังนั้น มูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นจึงไม่อาจเป็นทั้งมูลหนี้อันเกิดจากการบริการส่วนรวมและเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของจำเลย ตามมาตรา 18 วรรคสอง
ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดของผู้ร้องได้ลงมติให้เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท โดยรายละเอียดในรายงานการประชุม ฯ ระบุเหตุผลการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซมระบบและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่ง พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 50 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารที่เสียหายสำหรับที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ให้เจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดเฉลี่ยออกตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง? ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องนำมายื่นขอรับชำระหนี้บุริมสิทธินี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคสอง และบทบัญญัติมาตรา 41 วรรคท้าย กำหนดให้เฉพาะบุริมสิทธิตาม (2) แห่งมาตราดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งหากผู้จัดการนิติบุคคลได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ของผู้ร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 วรรคท้าย ดังกล่าวแล้ว จึงถือว่ามูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิจำนองของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการดำเนินคดีแทน และสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนกลางของนิติบุคคลอาคารชุด
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มี ส. เป็นผู้จัดการ ส. จึงมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35 วรรคสอง ประกอบมาตรา 36 (3) เมื่อหนังสือมอบอำนาจลงลายมือชื่อ ส. ในช่องผู้มอบอำนาจพร้อมประทับตราของโจทก์มอบอำนาจให้ ท. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ท. ดำเนินคดีแทนโจทก์ แม้การมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือมีมติของที่ประชุมเจ้าของร่วมให้กระทำได้ แต่การฟ้องคดีมิใช่เรื่องการปฏิบัติกิจการในหน้าที่ซึ่งผู้จัดการต้องกระทำด้วยตนเองตาม พ.ร.บ. อาคารชุด ฯ มาตรา 36 วรรคท้าย ท. จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
พ.ร.บ. อาคารชุด ฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและให้มีอำนาจกระทำการใดเพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยออกข้อบังคับกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องชำระเงินให้นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุดให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย โดยในมาตรา 40 กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและบริการทั่วไปแก่เจ้าของร่วมกรณีหนึ่ง กับในมาตรา 18 กำหนดให้เจ้าของร่วมแต่ละรายต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดที่เกิดจากบริการส่วนรวม และเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และค่าใช้จ่ายตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลาง เช่น ค่าจ้างคนงาน พนักงานทำความสะอาด ยามรักษาการ ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เงินเดือนของผู้จัดการ พนักงานลูกจ้างต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ตามสัดส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 โดยเฉพาะค่าภาษีอากร เงินเดือนของผู้จัดการและพนักงานลูกจ้างจะเป็นบทบังคับเด็ดขาดตามกฎหมายและไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยมติของที่ประชุมเจ้าของร่วม เป็นอีกกรณีหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุด นอกจากต้องชำระเงินจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 40 แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดและตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลางแก่โจทก์ ตามมาตรา 18 และข้อบังคับของโจทก์ซึ่งผู้จัดการคนเดิมเคยเรียกเก็บและจำเลยได้ชำระมาแล้ว จำเลยจะอ้างว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากมติที่ประชุมใหญ่หาได้ไม่ เพราะเป็นเงินคนละจำนวนกับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองทุนตามมาตรา 40 จึงไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้ประกอบกิจการ และภาระการพิสูจน์ของโจทก์ในการฟ้องเรียกคืนภาษี
จำเลยเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ. 2522 จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่ง ป. รัษฎากรมาตั้งแต่ต้น และไม่มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีขายจากเจ้าของห้องชุดแล้วนำส่งให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิขอคืนภาษีขายทั้งหมดที่แสดงในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่ชำระไปมาหักออกจากภาษีขาย การที่จำเลยนำภาษีซื้อมาคำนวณหักออกจากภาษีขายแล้วได้รับเครดิตภาษี หรือรับคืนเป็นเงินสดไปจึงไม่ถูกต้อง จำเลยมีหน้าที่คืนภาษีซื้อทั้งหมดที่นำมาใช้คำนวณภาษีตามแบบแสดงรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ค. 10 ตามประกาศกรมสรรพากรที่ขยายระยะเวลาขอคืนภาษีอากรสำหรับนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ชำระเกินในปี 2535 และ 2536 คืน ส่วนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2540 แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุจำนวนภาษีซื้อและภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ในรายละเอียดของภาษีขายและภาษีซื้อที่แนบไปพร้อมกับคำร้องขอคืนภาษี จะถือว่าจำเลยไม่ได้ขอคืนภาษีสำหรับเดือนดังกล่าวไม่ได้ เพราะรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีซื้อและภาษีขายแนบท้ายคำร้องเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบว่ารายการภาษีซื้อและภาษีขายที่จำเลยยื่นไว้ตามแบบแสดงรายการของเดือนที่ขอคืนภาษีอากรถูกต้องหรือไม่ และคำนวณว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตามคำขอหรือไม่ เพียงใด การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่นำภาษีขายของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2537 และเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2538 ที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยมาคำนวณหักออกจากภาษีซื้อที่จำเลยนำไปใช้หักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อภาษีขายที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยสำหรับปี 2537 ถึงปี 2539 มากกว่าภาษีซื้อที่จำเลยใช้ในการคำนวณภาษีและรับคืนไปจากโจทก์เป็นเงินสดในปี 2540 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระภาษีที่อ้างว่าจำเลยได้รับคืนเกินไปตามฟ้อง
คดีนี้ เจ้าพนักงานของโจทก์มิได้ประเมินให้จำเลยชำระภาษีเพิ่มเติม แต่มีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนเกินไป จึงเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 7 (3) ซึ่งมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้ดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ ป. รัษฎากรได้บัญญัติไว้เพียงกำหนดเวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และแบบในการขอคืนเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษีอากรที่ไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการขอคืนภาษีดังกล่าวต้องอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีการประเมินภาษีเพิ่มเติมแก่จำเลย การที่จำเลยไม่นำข้อพิพาทเกี่ยวกับการคืนภาษีอากรมาฟ้องต่อศาลภาษีอากร คงมีผลแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่จำเลยตามคำร้องเท่านั้น
เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรคืนตามคำร้องเพราะได้รับเงินภาษีอากรคืนไปแล้วเกินกว่าที่ควรได้รับ และฟ้องเรียกเงินภาษีอากรคืนจากจำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่าการคำนวณของเจ้าพนักงานถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้รับคืนเงินภาษีอากรไปจากโจทก์เกินไปตามฟ้องจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การคำนวณของเจ้าพนักงานของโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนเกินไปตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายอาคารชุด: การกำหนดพื้นที่และค่าใช้จ่ายส่วนกลางยึดตามสัญญาและข้อบังคับนิติบุคคล
ตารางราคาที่ตัวแทนของจำเลยนำออกเผยแพร่ในชั้นโฆษณาจำหน่ายห้องชุดคิดราคาห้องชุดในอัตราหนึ่ง แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดมีข้อความระบุว่า"ข้อความในเอกสารหรือคำโฆษณาอื่นใดที่มีมาก่อนการทำสัญญานี้ย่อมไม่ผูกพันผู้จะขายคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้ยึดถือข้อความและเอกสารตามสัญญานี้เป็นข้อปฏิบัติต่อกันทุกประการ" แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนาจะซื้อจะขายกันตามแบบแปลนเอกสารแนบท้ายสัญญาเป็นสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยก่อสร้างห้องชุดมีลักษณะและขนาดกว้างยาวเท่ากับที่ระบุไว้ในแบบแปลนท้ายสัญญาแล้วจะถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ แม้พื้นที่ของห้องชุดจะมากกว่าหรือน้อยกว่าตามที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์หรือจำเลยก็ไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลง
เจ้าของร่วมจะต้องชำระเงินกองทุนสำรองส่วนกลางและค่าใช้จ่ายส่วนกลางจำนวนเท่าใดนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 18,32(4)(10) และมาตรา 40 เมื่อข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 5 ระบุให้เรียกเก็บเงินกองทุนและค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อเดือนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาคารชุด & หน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้บริการไม่ครบถ้วน
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 35กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลให้นิติบุคคลนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ เมื่อบริษัท ย. เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดโจทก์ โดยมี บ. เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัท ย.บ. จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีซึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลาง แก่เจ้าของร่วมแทนโจทก์ตามข้อบังคับของโจทก์ได้ พระราชบัญญัติอาคารชุดฯ มาตรา 18 กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด และมาตรา 17ระบุให้การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็น ไปตามกฎหมายดังกล่าวและตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางมิใช่เป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนเมื่อไม่ปรากฏข้อยกเว้นการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้เป็นพิเศษ จำเลยจึงต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จะอ้างว่าโจทก์ไม่เปิดไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศส่วนกลางในชั้นที่จำเลยอาศัยอยู่มาเป็นข้ออ้างไม่ชำระค่าใช้จ่ายไม่ได้ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติผิดหน้าที่อย่างใด จำเลยต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาคารชุดของผู้จัดการ และหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดโดยมีบริษัท ย. ซึ่งมี บ. เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น บ. จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ บ. ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้บ. มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม และการฟ้องคดีต้องถือว่าเป็นการกระทำการอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ จำเลยค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตั้งแต่วันที่ 28มกราคม 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2537 และโจทก์ไม่ได้เปิดไฟฟ้าส่วนกลางและเครื่องปรับอากาศบริเวณส่วนกลางของชั้นที่ 24 ซึ่งเป็นชั้นที่สำนักงานของจำเลยตั้งอยู่ในช่วงระยะเวลานั้น เมื่อพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522มาตรา 18 บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และความในมาตรา 17บัญญัติว่า การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามข้อบังคับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงเป็นหน้าที่โดยกฎหมายบัญญัติ มิใช่หน้าที่ที่เกิดจากสัญญา จึงมิใช่เรื่องสัญญาต่างตอบแทน เมื่อไม่ปรากฏสัญญามีผลยกเว้นความรับผิดเป็นพิเศษไว้ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาคือไม่เปิดไฟฟ้าส่วนกลางและเครื่องปรับอากาศบริเวณส่วนกลางของชั้นที่ 24 ซึ่งเป็นชั้นที่สำนักงานของจำเลยตั้งอยู่จำเลยจึงมีสิทธิไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามลักษณะสัญญาต่างตอบแทนหาได้ไม่ หากโจทก์ปฏิบัติผิดหน้าที่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1143/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของนิติบุคคลอาคารชุด และหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกฎหมายอาคารชุด
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดโดยมีบริษัท ย. ซึ่งมี บ.เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น บ.จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ บ.ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้ บ.มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม และการฟ้องคดีต้องถือว่าเป็นการกระทำการอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์
จำเลยค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2537 และโจทก์ไม่ได้เปิดไฟฟ้าส่วนกลางและเครื่องปรับอากาศบริเวณส่วนกลางของชั้นที่ 24 ซึ่งเป็นชั้นที่สำนักงานของจำเลยตั้งอยู่ในช่วงระยะเวลานั้น เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และความในมาตรา 17 บัญญัติว่า การจัดการและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และตามข้อบังคับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงเป็นหน้าที่โดยกฎหมายบัญญัติ มิใช่หน้าที่ที่เกิดจากสัญญา จึงมิใช่เรื่องสัญญาต่างตอบแทน เมื่อไม่ปรากฏสัญญามีผลยกเว้นความรับผิดเป็นพิเศษไว้ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาคือไม่เปิดไฟฟ้าส่วนกลางและเครื่องปรับอากาศบริเวณส่วนกลางของชั้นที่ 24 ซึ่งเป็นชั้นที่สำนักงานของจำเลยตั้งอยู่ จำเลยจึงมีสิทธิไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามลักษณะสัญญาต่างตอบแทนหาได้ไม่ หากโจทก์ปฏิบัติผิดหน้าที่อย่างไรก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากไม่ได้ดำเนินกิจการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามกฎหมายอาคารชุด
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวและตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดก็ระบุวัตถุประสงค์ของโจทก์ไว้ตรงตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ก็กำหนดให้เจ้าของร่วมชำระเงินให้นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และการบริการทั่วไปให้แก่เจ้าของร่วม และกำหนดให้เจ้าของร่วมแต่ละรายต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่นค่าจ้างคนงาน พนักงานทำความสะอาด ยามรักษาการ และซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เช่น ค่าภาษีที่ดิน ค่าภาษีโรงเรือน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เช่น เงินเดือนของผู้จัดการ พนักงานลูกจ้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการของนิติบุคคลอาคารชุด ค่าเบี้ยประกันภัยของทรัพย์ส่วนกลาง วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามสัดส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 แสดงว่าเงินที่เจ้าของร่วมชำระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุด มิใช่การชำระเป็นค่าบริการที่ได้รับจากนิติบุคคลอาคารชุด หากแต่เป็นเพียงเงินที่เจ้าของร่วมในอาคารชุดชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายบังคับไว้ เพื่อให้จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางแทนเจ้าของร่วมในอาคารชุดตามวัตถุประสงค์ของอาคารชุดและตามที่ที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมในอาคารชุดกำหนด โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการอย่างอื่นได้ และไม่อาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าให้แก่ตนเอง โจทก์ไม่สามารถหากำไรจากหน้าที่ดังกล่าว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงแต่เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วม มิได้ดำเนินกิจการอื่นใดนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้อันจะทำให้โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพ เมื่อโจทก์คงดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้ การกระทำของโจทก์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) โจทก์จึงไม่เป็นผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายแล้วย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของร่วม การที่โจทก์เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ใช้บริการของตนเองอันจะอยู่ในความหมายของคำว่าบริการ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37/1 (10)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 13 สัตต เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติบุคคลอาคารชุดทั่วๆไปไม่ได้เฉพาะโจทก์ เพราะถ้าหากนิติบุคคลอาคารชุดรายอื่นที่ดำเนินกิจการนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้และมีรายได้ นิติบุคคลอาคารชุดรายนั้นก็อาจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้สั่งให้โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยและประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็เช่นเดียวกัน มิใช่คำสั่งที่มีไปถึงโจทก์โดยตรงแต่เป็นคำสั่งทั่ว ๆไปดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่เพิกถอนจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า คำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 เป็นการปฏิบัติตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนำผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตามมาตรา 13 สัตตมาปฏิบัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และประกาศกรมสรรพากร กับขอให้จำเลยที่ 1ยกเลิกคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อจำเลยที่ 3 ขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่า โจทก์ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ได้ หาเกินคำขอไม่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการอยู่ภายในบังคับของกฎหมายที่จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการและชำะภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการเรียกให้โจทก์ชำระเงินภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่จำต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 คืน จึงเป็นการฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่โจทก์อ้างว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียแต่ได้ชำระภาษีไว้ ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืน แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องเสีย อันเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 บัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้อง
of 7