คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 268 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งข้อความเท็จเพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ไม่ถึงขั้นใช้เอกสารเท็จ ศาลฎีกาแก้โทษปรับและรอการลงโทษ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ม. ยืนคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของบริษัท ด. โดยมีกรรมการเข้าใหม่ 1 คน คือ พ. และกรรมการออกจากตำแหน่ง 2 คน คือ โจทก์ทั้งสองแสดงว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงแต่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียน เพื่อให้จดข้อความอันเป็นเท็จนั้นลงในทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องการนำเอกสารทางทะเบียนอันจดข้อความเท็จดังกล่าวไปใช้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวมาในคำฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคหนึ่ง มาตรา 267 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาในปัญหาข้อนี้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลพิเศษ/สุดวิสัย และการปลอมเอกสารธรรมดา ไม่ใช่เอกสารสิทธิ
การขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงต้องมีเหตุสุดวิสัย จำเลยอ้างเหตุว่าจำเลยเจ็บป่วยกะทันหันและถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้ คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่จะฎีกา
อนึ่ง เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบโปรโมชั่นที่จำเลยปลอมเป็นเพียงเอกสารที่ให้ห้างโฮมโปรใช้เพื่อคำนวณเงินส่วนลดหรือส่วนชดเชยแต่ละช่วงเวลาที่ห้างโฮมโปรขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าแล้วนำไปหักทอนกับเงินค่าสินค้าที่โจทก์จำหน่ายให้แก่ห้างโฮมโปร หาเป็นเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิไม่ การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารดังกล่าวจึงเป็นการปลอมและใช้เอกสารธรรมดา มิใช่เป็นการปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 21 มีนาคม 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเอกสารราชการที่ไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหาย ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 จะต้องกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบล ม. และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ม. ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ออกคำสั่งรื้อถอนอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/79, 555/80 และ 555/81 ส่วนที่ก่อสร้างต่อเติม โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารพาณิชย์เลขที่ 555/75 ด้วย การแก้ไขข้อความบันทึกการตรวจสอบโรงงานและแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานที่ระบุว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/75 ว่าเข้าไปตรวจสอบบ้านเลขที่ 555/79 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องว่าประกอบกิจการมีเสียงดังรบกวนให้ตรงกับที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบอาคารตามความจริง กลับเป็นประโยชน์แก่โจทก์ การแก้ไขข้อความในเอกสารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชน จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เมื่อนำไปใช้จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดในฟ้องอาญา: การบรรยายข้อเท็จจริงครบถ้วน แม้ไม่ใช้ถ้อยคำตามกฎหมาย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติให้ฟ้องต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด หรือฟ้องต้องบรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิด แต่การบรรยายฟ้องส่วนของข้อเท็จจริงในองค์ประกอบความผิดไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องใช้ถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายทุกประการ
ฟ้องโจทก์ข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.3 บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานปลอมเอกสาร ฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม และฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เป็นลำดับและมีรายละเอียดต่อเนื่องกัน เมื่ออ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ และมีการบรรยายข้อความต่อเนื่องอีกว่า การกระทำตามฟ้องข้อดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปเป็นของจำเลยที่ 2 เป็นการบรรยายองค์ประกอบความผิดแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไร ฟ้องโจทก์ทั้งสามฐานนี้จึงครบองค์ประกอบความผิดแล้ว
ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ฟ้องโจทก์บรรยายแล้วว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำต้นฉบับโฉนดที่ดินของโจทก์ไปเสียจากโจทก์ ต่อมานำไปจดทะเบียนซื้อขายกับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำให้โจทก์ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นฟ้องที่บรรยายว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้อื่นหรือประชาชนอย่างไร ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบอนุญาต ป.4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิ แต่เป็นเอกสารราชการควบคุมการใช้อาวุธปืน ความผิดใช้เอกสารปลอมขาดอายุความ
ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เป็นเพียงเอกสารซึ่งนายทะเบียนอาวุธปืนออกให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตต้องยื่นคำขอและผ่านการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และไม่อาจโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ รวมถึงไม่ตกทอดแก่ทายาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการใช้อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 จึงเป็นเพียงเอกสารราชการ ไม่ใช่เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องปลอมและใช้เอกสารปลอมร่วมกับเจ้าพนักงาน มีอำนาจแก้โทษจำเลยที่ไม่ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมกับความผิดได้ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจนโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 อีก เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาแต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้โทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสำเนาบัตรประชาชนแล้วนำไปใช้แทนบัตรจริงเข้าข่ายความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ
จำเลยถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขในช่องชื่อ ชื่อสกุล วันออกบัตร วันหมดอายุ และนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวไปถ่ายสำเนาเอกสารอีก เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับและน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยจะมิได้แก้ไขในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการและฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 265 พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพนักงานธนาคารยักยอกเงินฝาก แก้ไขบัญชี และทำลายเอกสาร หลักฐานรับฟังหนักแน่น ศาลฎีกาพิพากษา
จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารผู้เสียหาย มีหน้าที่รับฝาก- ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหาย จำเลยรับมอบเงินจากโจทก์ร่วมซึ่งเป็นลูกค้าของผู้เสียหายเพื่อฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของลูกค้าดังกล่าวแล้ว จำเลยจะเป็นผู้เขียน กรอกข้อความลงในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค และฉีกต้นฉบับ ไว้แล้วมอบสำเนาให้โจทก์ร่วมเป็นหลักฐาน ต่อมาจำเลยได้ แก้ไขจำนวนเงินในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คให้น้อยกว่าจำนวนเงิน ที่โจทก์ร่วมนำมาฝาก แล้วนำเอกสารที่แก้ไขพร้อมจำนวนเงินตาม เอกสารที่แก้ไขใหม่ ให้หัวหน้าหน่วยการเงินตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งเงิน เก็บรักษา จึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้ เอกสารสิทธิปลอม การที่จำเลยเขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่ให้จำนวนเงินฝากน้อยกว่าความเป็นจริงโดยเชื่อได้ว่าจำเลยได้ ทำลายต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คที่แท้จริงอันเป็นหลักฐานของ ธนาคารผู้เสียหายซึ่งจำเลยจะต้องนำไปลงบัญชีเพื่อแสดง ยอดเงินฝากของโจทก์ร่วมโดยไม่มีสิทธิทำลาย การกระทำของ จำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น จำเลยได้เบียดบังเงินฝากของโจทก์ร่วมโดยแก้ไขจำนวนเงิน ในต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็ค ให้มีจำนวนน้อยกว่าความเป็นจริง และได้เขียนต้นฉบับชุดฝากเงินสด-เช็คขึ้นใหม่ระบุจำนวนน้อยกว่า จำนวนเงินที่โจทก์ร่วมนำมาฝากแล้วลงบัญชีกระแสรายวัน ของโจทก์ร่วมตามจำนวนที่จำเลยแก้ไขและทำขึ้นใหม่นั้น และจำเลยไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ร่วมโดยสุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ การที่จำเลยเป็นพนักงานธนาคารมีหน้าที่รับฝาก-ถอนเงินให้แก่ลูกค้าของธนาคารผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีอาชีพอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354