คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 5 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 110 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2101/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมที่ถึงแก่ความตาย และการกำหนดโทษจำเลยในคดีอาญา
จ. เป็นบุพการีของ น. ผู้ตาย จ. จึงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับ ร. โจทก์ร่วม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) เมื่อโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย การที่ จ. ยื่นคำร้องขอเข้าแทนที่โจทก์ร่วมเดิม ถือได้ว่า จ. ประสงค์ขอใช้สิทธิของตนที่มีอยู่เดิมตั้งแต่แรกในฐานะผู้มีอำนาจจัดการแทนด้วยอีกคนหนึ่งเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมเพื่อสืบสิทธิดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วม ย่อมถือว่า จ. เข้าสืบสิทธิดำเนินคดีแทน ร. โจทก์ร่วม เมื่อ ร. ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ จ. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไป จึงชอบด้วยกฎหมาย จ. จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยบันดาลโทสะ: ผู้ตายมีส่วนผิด โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเรียกร้องค่าเสียหาย
ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72
ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาแก้แก้ฟ้อง, ค่าสินไหมทดแทน, และข้อจำกัดการลงโทษเกินคำขอ
ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8658/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นค่าขาดไร้อุปการะ, อายุความความผิดพกพาอาวุธ และการเพิ่มโทษจำเลยในคดีอาญา
สิทธิในการได้รับค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาผู้ตายกับเด็กหญิง ธ. และเด็กชาย อ. บุตรทั้งสองของผู้ตายจะเรียกจากผู้ทำละเมิดเป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน โจทก์ร่วมเป็นย่ามิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีของบุตรทั้งสองของผู้ตายอันจะถือได้ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องในนามบุตรของผู้ตายได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งมารดาของบุตรทั้งสองของผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายได้ คงมีสิทธิเฉพาะในส่วนของตนเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขาดไร้อุปการะแทนบุตรทั้งสองของผู้ตายด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เสียหายในคดีอาญา: ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้ผู้ตายมีส่วนประมาท
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีส่วนแพ่งในคดีอาญา ไม่ถือเป็นการรื้อฟ้องเดิม หากศาลวินิจฉัยเฉพาะอำนาจฟ้อง มิได้ตัดสินเนื้อหา
ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิด จำเลยทั้งหมดพ้นผิด
ส. เป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 และมาตรา 30 และหาก ส. ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของ ส. ย่อมมีอำนาจจัดการแทน ส. ได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ใน มาตรา 5 (2) แห่ง ป.วิ.อ. ว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้ ส. ได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา: การพิสูจน์ความเสียหายถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บสาหัส
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง
ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของผู้บุตรแทนผู้ตาย ต้องเป็นการตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้
ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง หมายรวมถึงบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 โดยเฉพาะมาตรา 5 (2) ได้แก่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ เมื่อผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเหนื่อยหอบ มิใช่กรณีที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตาม มาตรา 5 (2) แม้ผู้ร้องจะเป็นบุตรของผู้ตาย ก็ไม่อาจเข้ามาจัดการแทนผู้เสียหายโดยการยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426-7427/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดทางอาญาและค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งมาใช้ในคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ
of 11