พบผลลัพธ์ทั้งหมด 193 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องล้มละลาย: หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน และข้อสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเงินยืมเพื่อทดรองจ่ายในกิจกรรมส่งเสริมการขายและค่าสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ เป็นหนี้ที่สามารถกำหนดจำนวนได้แน่นอนและนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อน จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามมาตรา 8 (9) จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งยังจดทะเบียนเลิกบริษัท กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน่วยงานราชการไม่อยู่ในอำนาจศาลล้มละลาย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
การฟ้องคดีล้มละลายมิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องเพื่อดำเนินการเข้าจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการจัดการทรัพย์สินนั้นมาแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ ดังนั้น กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจึงเป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ของลูกหนี้ จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการของรัฐ ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 จึงเป็นทรัพย์สินที่ตามกฎหมายไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยังมีอำนาจหน้าที่ตามที่ พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 กำหนดไว้ และการจะได้รับชำระหนี้ของส่วนราชการนั้น โจทก์ย่อมสามารถกระทำได้โดยวิธีการอื่น เช่น การเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น นอกจากการฟ้องขอให้หน่วยงานราชการของรัฐตกเป็นบุคคลล้มละลายซึ่งไม่อาจกระทำได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องล้มละลาย: ผลของการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศและการขอให้พิจารณาคดีใหม่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1526/2544 ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดอันมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 แต่เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อคดีแพ่งดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีเนื่องจากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ กรณีเช่นนี้จำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ และมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ย่อมมีสิทธิขอให้พิจารณาใหม่โดยยื่นคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วดังที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี และมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง แต่คดีดังกล่าวหลังจากศาลพิพากษาก็มิได้มีการออกคำบังคับมาก่อน ศาลเพิ่งออกคำบังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 และส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยการปิดประกาศหน้าศาลในวันเดียวกัน การส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง จึงต้องถือว่าการส่งคำบังคับโดยการปิดประกาศดังกล่าวมีผลในวันที่ 8 มีนาคม 2546 จำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในวันที่ 23 มีนาคม 2546 คดีในส่วนของจำเลยจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 23 มีนาคม 2546 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายคดีนี้ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาคดีแพ่งถึงที่สุด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะนิติบุคคลหลังขีดชื่อออกจากทะเบียนและการมีอำนาจฟ้องคดีล้มละลาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเมื่อเหตุผลและหลักฐานเหมือนคดีก่อน
คดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ แม้เหตุในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลล้มละลายกลางรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แต่การที่โจทก์เพิ่งไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพื่อแสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) นั้น เป็นเหตุเดียวกับที่โจทก์เคยกล่าวอ้างและนำสืบให้รับฟังไม่ได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 กรณีเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในคดีก่อนด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้เท่านั้น มิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสาระสำคัญ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์และประกาศ หนังสือพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เพื่อให้โจทก์สามารถกล่าวอ้างและนำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในคดีนี้ ทั้งที่โจทก์สามารถดำเนินการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันได้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เหตุที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ควรกระทำได้อยู่แล้วในคดีก่อนมิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5695/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องล้มละลายและการรับสภาพหนี้ การชำระหนี้บางส่วนไม่กระทบอายุความ
การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งอันถึงที่สุดมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 คดีดังกล่าวศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่คดีถึงที่สุด อายุความจึงเริ่มนับ แต่ปรากฏว่าระหว่างยังไม่พ้นอายุความในวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยชำระหนี้บางส่วนตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,064,440 บาท กรณีถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วน ย่อมมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2554 ไปอีก 10 ปี ตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 จึงอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง โจทก์จึงมีสิทธินำมูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ และแม้ว่าเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 จำเลยได้นำเงินไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 2,064,440 บาท เพื่อให้โจทก์ถอนการบังคับคดีแพ่งเฉพาะจำเลย ซึ่งโจทก์ไม่ดำเนินการ แต่ก็เป็นเงินจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับยอดหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง 12,584,200.40 บาท และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีกเลย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีล้มละลาย: การบรรยายฟ้องและการใช้สิทธิโดยสุจริตของเจ้าหนี้มีประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 230,541,301.17 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20.25 ต่อปี และให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด อยู่ระหว่างนำยึดเพื่อขายทอดตลาด โจทก์ขอตีราคาหลักประกันเป็นเงิน 170,000,000 บาทหักจากหนี้แล้วคงค้างชำระจำนวน 411,704,357.58 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับนิติบุคคล อันเป็นการบรรยายฟ้องอย่างเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องอย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามมาตรา 9 และศาลล้มละลายกลางยังไม่มีคำสั่งก็ตาม ในการบรรยายฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ต้องบรรยายให้ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 และหากเป็นเจ้าหนี้มีประกันโจทก์จะต้องบรรยายเพิ่มตามสิทธิของเจ้าหนี้ตามมาตรา 10 (2) ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงรวมการบรรยายฟ้องตามมาตรา 9 อยู่ในตัว การบรรยายถึงยอดหนี้ตามกฎหมายโจทก์ย่อมบรรยายเพียงยอดหนี้ว่ามีไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนยอดหนี้ที่ค้างชำระจริงเป็นจำนวนเท่าใดเป็นเพียงรายละเอียดในชั้นพิจารณาและชั้นขอรับชำระหนี้ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าหนี้มีประกันฟ้องล้มละลาย ต้องระบุการสละหลักประกันหรือตีราคาทรัพย์ หากไม่ปฏิบัติตามคำฟ้องไม่ชอบ
การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายโดยมิได้กล่าวในฟ้องถึงการสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันหักกับจำนวนหนี้ของตน เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องมาเป็นคำฟ้องแบบเจ้าหนี้มีประกัน โดยตีราคาที่ดินที่จำนองของจำเลยทั้งสองหักกับจำนวนหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทก็ตาม แต่การขอแก้ไขคำฟ้องคดีล้มละลายไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การจึงไม่มีการชี้สองสถาน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันเป็นการขอแก้ไขในสาระสำคัญ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ปรากฏว่าคดีนี้ศาลล้มละลายกลางสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวเสร็จสิ้นในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 โจทก์ขอผัดส่งเอกสารภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 จึงล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งปรากฏว่าในคดีแพ่งนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีล้มละลายเป็นเวลา 6 เดือนเศษ การที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องถึงฐานะการเป็นเจ้าหนี้มีประกัน หรือขอแก้ไขคำฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเกิดจากความบกพร่องของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุอันสมควรและไม่อาจอ้างอำนาจฟ้องว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมาเป็นเหตุขอแก้ไขคำฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีล้มละลาย: การกำหนดจำนวนหนี้ที่แน่นอน และการสันนิษฐานเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว
โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ระบุจำนวนเงินพร้อมอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอน สามารถคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องได้หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน การที่โจทก์อาจได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของ อ. ในภายหลังไม่เป็นเหตุให้หนี้ตามฟ้องกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันแต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้ สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามมาตรา 9 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยมอบบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำไว้ให้แก่โจทก์เป็นประกันแต่มิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการให้สิทธิโจทก์นำเงินฝากดังกล่าวมาหักชำระหนี้ไว้ สิทธิเรียกร้องในเงินฝากจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มิได้นำเงินฝากในบัญชีที่วางประกันไว้มาหักจากยอดหนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยทั้งสามมียอดหนี้ค้างชำระอยู่ตามฟ้อง ซึ่งจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงขอให้โจทก์นำเงินฝากมาหักกลบลบหนี้ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ โจทก์จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนดตามมาตรา 9 โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5478/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความจำกัดสิทธิบังคับคดี: โจทก์บังคับคดีเฉพาะทรัพย์จำนองตามสัญญา แม้บังคับแล้วยังขาดหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีทรัพย์สินอื่น
ตามคำฟ้องในคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดได้ แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมกลับระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีและให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีก ไม่ปรากฏข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองตามฟ้องเท่านั้น เมื่อโจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย