คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 290

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 301 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีเมื่อชำระหนี้ครบถ้วน แม้เจ้าหนี้ไม่ถอนการยึด
ป.วิ.พ. มาตรา 295 บัญญัติว่า "ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล แล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดี หรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินเช่นว่านั้น..." ดังนั้น เมื่อจำเลยอ้างในคำร้องขอให้ถอนการบังคับคดีว่า จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์ยื่นคำร้องว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วจริง ทั้งขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดี ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำร้องของจำเลยแล้ว ไม่ได้คัดค้านว่าจำเลยยังชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีไม่ครบถ้วนต้องฟังว่าจำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้วเช่นกัน กรณีไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีเมื่อชำระหนี้ครบถ้วน และสิทธิของผู้ร้องที่ต้องการสวมสิทธิบังคับคดี
จำเลยขอให้ถอนการบังคับคดีโดยชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีครบถ้วนแล้ว โจทก์รับว่าได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยแล้วทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งตามคำขอของจำเลยซึ่งเท่ากับโจทก์ก็ประสงค์ให้ถอนการบังคับคดีเช่นกัน กรณีย่อมไม่มีเหตุบังคับคดีจำเลยอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ที่จะเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิขอให้บังคับคดีต่อไปได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด ศาลฎีกาให้ถอนการบังคับคดีจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาไม่ครบตามกฎหมาย ทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7090/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลอนุญาตได้
การยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ไม่จำต้องขอเฉลี่ยต่อทรัพย์ที่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นโดยตรง สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบุคคลภายนอกถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบุคคลภายนอกจนต่อมาบุคคลภายนอกถูกบังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ดำเนินการต่อบุคคลภายนอกเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 3 แปลงของบุคคลภายนอกย่อมถือว่าบุคคลภายนอกมีสถานะเช่นเดียวกับจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ถูกโจทก์นำยึดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10693/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉลี่ยทรัพย์บังคับคดี: ระยะเวลาการยื่นคำร้องและการอายัดทรัพย์โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากบริษัท ส. และบริษัท ส. ได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2548 ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ โดยในคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลสั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดเงินชั่วคราวก่อนพิพากษาจึงยังคงมีผลให้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็น เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) เมื่อโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ จึงมีผลเท่ากับเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง และได้มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีนับตั้งแต่วันที่ศาลออกหมายบังคับคดีแล้ว ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานศาลหรือเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีดังที่ผู้ร้องอ้างในอุทธรณ์ ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ดังกล่าวเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลออกหมายบังคับคดี อันถือได้ว่าเป็นวันที่มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า หาใช่นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีหนังสือส่งเงินอันเป็นทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งล่วงพ้นระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ถือว่าบริษัท ส. ส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องยื่นภายใน 14 วันนับจากวันขายทอดตลาด แม้คดีเพิกถอนการขายทอดตลาดค้างพิจารณา
ปัญหาว่าผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง โจทก์ก็มีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ แล้ว แม้จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าวันขายทอดตลาดคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 มิใช่วันที่คดีเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉลี่ยทรัพย์จากเจ้าหนี้สามัญและการระงับสิทธิจำนำกรณีผู้จำนำใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินจำนำ
การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาตกลงให้ อ. ภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจโรงโม่หินของตนตลอดมา ซึ่งเครื่องจักรนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จำนำซื้อจากโจทก์เพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้ และนำเงินชำระคืนแก่ผู้ร้องซึ่งรับจำนำ แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์จะมีข้อตกลงว่าผู้จำนำได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย การที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามมาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร
เจ้าหนี้ที่จะมีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของ เจ้าหนี้นั้นจะต้องทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการก่อสร้างเพื่อให้มีผลบริบูรณ์เป็นบุริมสิทธิพิเศษใช้ยันเจ้าหนี้อื่นในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 286 โจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งบุริมสิทธิในมูลจ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายให้มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ทำการงานขึ้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของลูกหนี้ แต่ที่ดินซึ่งโจทก์ทำการก่อสร้างโรงโม่หินเป็นของกรมป่าไม้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 และมาตรา 275 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เมื่อโจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้สามัญด้วยกัน จึงชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 เพื่อเฉลี่ยทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉลี่ยทรัพย์: ผู้ร้องไม่ต้องพิสูจน์ราคาขายทอดตลาดแน่นอน เพียงแต่แสดงว่าทรัพย์สินลูกหนี้ไม่พอชำระหนี้
การขอเฉลี่ยทรัพย์ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ตนได้ยึดไว้หากนำออกขายทอดตลาดจะได้ราคาแน่นอนเท่าใด เหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระเป็นจำนวนที่แน่นอนอีกเพียงใด เพียงแต่ผู้ร้องนำสืบว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่พอชำระหนี้ของผู้ร้องโดยสิ้นเชิงก็ย่อมเพียงพอที่ผู้ร้องจะมาขอเฉลี่ยทรัพย์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์โดยไม่สุจริต ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ ศาลยกคำร้อง
ผู้ร้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อจะให้ผู้ร้องเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ เป็นการสมคบกับจำเลยเพื่อจะมิให้มีการนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับโอนที่ดินตามคำพิพากษาเหนือกว่าการยึดทรัพย์ของเจ้าหนี้รายอื่น
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาท ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิโอนที่ดินพิพาท แต่เมื่อได้ยึดมาแล้วต้องนำออกขายทอดตลาด หากมีผู้ซื้อได้ก็ต้องมีการโอนทางทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ จึงมิใช่เพียงแต่ยึดไว้เท่านั้น การที่ศาลในคดีอื่นได้พิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องแล้ว ที่ดินพิพาทจะต้องตกเป็นของผู้ร้องเท่านั้น ไม่มีเหตุที่จะให้ที่ดินพิพาทหลุดมือจากผู้ร้องตกไปเป็นของผู้อื่น จึงถือได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แม้โจทก์จะได้นำยึดที่ดินพิพาทไว้ก่อนที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง แต่ศาลก็ไม่อาจปล่อยให้มีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ เพราะผู้ที่ซื้อได้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับโอนเนื่องจากผู้ร้องเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับโอน ทั้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ก็มีบทบัญญัติไม่ให้การยึดทรัพย์มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้ร้อง
ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อบังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ
of 31